จิตต์สุภา ฉิน : รู้ดีแค่ไหนว่าลูกดูอะไรบนอินเตอร์เน็ต

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีแต่ประเด็นเรื่องเด็ก เยาวชน กับเทคโนโลยี ให้ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันหลายต่อหลายเรื่อง

สัปดาห์นี้ก็เช่นเคยค่ะ มีข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นซึ่งสร้างความสะพรึงกลัวให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่พึ่งพายูทูบให้เป็นแหล่งความรู้ความบันเทิงของเด็กจนทำให้ต้องหันกลับมาทบทวนว่าทุกวันนี้ลูกของเราได้เห็นอะไรผ่านหูผ่านตาโดยที่เราไม่ล่วงรู้เลยบ้าง

เรื่องมีอยู่ว่า สำนักข่าวหลายแห่งทั่วโลกพากันรายงานข่าว 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือสิ่งที่เรียกว่า “โมโม่ ชาเลนจ์” ซึ่งเนื้อข่าวระบุว่านี่คือเทรนด์การท้าทายที่ส่งต่อกันบนยูทูบโดยใช้ภาพของงานศิลปะรูปลักษณ์ชวนขนลุกที่ท่อนบนเป็นผู้หญิงผมยาว ปากบิดเบี้ยว ตาปูดโปน เพิ่มความน่าสยองเข้าไปอีกด้วยการที่ท่อนล่างเป็นนก

คลิปนี้จะชักชวนให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงอันตราย อย่างเช่น ให้เดินเข้าไปในครัวเพื่อเปิดแก๊ส หรือให้หยิบมีดมาปาดคอตัวเอง พร้อมกับขู่ว่าห้ามบอกผู้ใหญ่ มิฉะนั้นจะเกิดอันตราย

คล้ายๆ เมล์ฟอร์เวิร์ดสมัยก่อนที่ขู่ว่าหากไม่ทำตามจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ชิด

หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดไม่นาน ยูทูบก็ออกโรงมาชี้แจงว่า “ในช่วงหลังๆ มานี้” ไม่มีการพบหลักฐานว่ามีคลิปวิดีโอโมโม่ ชาเลนจ์ อยู่จริง และวิดีโอประเภทที่ส่งเสริมการท้าทายที่นำไปสู่อันตรายได้นับเป็นวิดีโอที่ขัดต่อนโยบายของยูทูบ

ที่จำเป็นต้องใส่เครื่องหมายคำพูดเอาไว้ว่า “ในช่วงหลังๆ มานี้” เพราะสืบหาข้อมูลไปมาพบว่า โมโม่ ชาเลนจ์ ไม่ได้เป็นเทรนด์ที่ระบาดไปทั่วในช่วงนี้

แต่เมื่อปีที่แล้วได้มีการอัพโหลดคลิปนี้ขึ้นไปบนยูทูบจริง และทางยูทูบก็จัดการลบทิ้งไปแล้วเรียบร้อย ตั้งแต่นั้นก็ไม่พบคลิปโมโม่ ชาเลนจ์ อีก

แต่สื่อก็ยังหยิบยกเรื่องนี้มารายงานอย่างต่อเนื่อง

 

คราวนี้มาถึงประเด็นที่สอง กุมารแพทย์หญิงคนหนึ่งชื่อฟรี เฮส และเป็นเจ้าของบล๊อกที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก ลุกขึ้นมาประกาศเตือนภัยพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วโลก ด้วยการเล่าประสบการณ์ของตัวเธอเองให้ฟังว่า เธอเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและอันตรายสอดแทรกอยู่ในคลิปวิดีโอเกมสำหรับเด็กบนแพลตฟอร์ม ยูทูบ คิดส์ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นแยกที่เน้นวิดีโอเนื้อหาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

หมอเฮสเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า คลิปที่เธอพบนั้นเป็นคลิปที่บันทึกมาจากวิดีโอเกมสำหรับเด็ก ในระหว่างที่เกมกำลังดำเนินเนื้อเรื่องไป จู่ๆ ภาพก็ตัดไปที่ผู้ชายเอเชียสวมแว่นดำคนหนึ่งอยู่บนพื้นหลังสีสดใส ยกมือข้างหนึ่งขึ้นมาทำท่าเหมือนกำลังถือใบมีดโกน แล้วกรีดลงไปที่ข้อมืออีกข้าง พร้อมกับพูดว่า “จำไว้นะเด็กๆ กรีดแนวขวางเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ถ้าจะกรีดให้ได้ผลจริงๆ ต้องกรีดแนวตั้ง”

ซึ่งเธอก็ได้บันทึกวิดีโอด้วยการถ่ายหน้าจอเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

 

กรณีที่สองนี้ยูทูบยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง

มีคลิปวิดีโอผู้ชายสอนกรีดข้อมือถูกอัพโหลดขึ้นไปบนยูทูบ คิดส์ จริง แต่ก็ได้ลบทิ้งไปแล้วเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้นหมอเฮสก็เห็นฉากแบบเดียวกันนี้ไปโผล่อยู่ในวิดีโอสำหรับเด็กคลิปอื่นๆ อีกราวกับเป็นเชื้อโรคที่ฆ่าไม่ตาย

นอกจากวิดีโอผู้ชายที่มาทำท่าสอนการกรีดข้อมือฆ่าตัวตายแล้ว หมอเฮสก็ยังเจออีกหลายคลิปที่มีตัวละครที่แตกต่างกันออกไป

บางคลิปมีตัวละครเป็นหมีที่มีชื่อว่า “พีโดแบร์” หรือมาสค็อตที่ใช้แทนคนที่เป็นโรคใคร่เด็ก และวิดีโอที่มีภาพและเนื้อหารุนแรงจากเหตุการณ์กราดยิงตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งหมดนี้ถูกสอดไส้มาแบบเนียนๆ ในคลิปวิดีโอที่ดูเหมือนจะมีแต่เนื้อหาน่ารัก สดใส และออกแบบมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

คุณหมอจึงร่วมมือกับชุมชนออนไลน์ช่วยกันรณรงค์ให้พ่อแม่ตระหนักถึงปัญหา และกดดันให้ยูทูบเร่งรับมือกับปัญหาการสอดไส้เนื้อหาไม่เหมาะสมเข้าไปในวิดีโอ

ซึ่งตามปกติแล้วขั้นตอนการจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจะเริ่มจากการที่ผู้ใช้งานช่วยกันปักธง หรือรายงานวิดีโอที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้ทีมงานเข้ามาตรวจสอบ ทีมงานเหล่านี้จะคอยสแตนด์บายตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อตรวจสอบเนื้อหาและหากพบว่าขัดต่อกฎระเบียบของเว็บไซต์ก็จะลบทิ้งไปโดยเร็วที่สุด

มาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังอ่านอยู่ก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วจะยังไงต่อดีล่ะ

เราจะยังให้ลูกดูยูทูบต่อไปได้อีกไหม

นี่เป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์จริงหรือเปล่า

 

หลังจากนี้ไปยูทูบก็จะยังคงต้องเดินหน้าสู้รบปรบมือกับคอนเทนต์ไม่เหมาะสมที่มาจากคนป่วยๆ ทางความคิดแบบนี้ต่อไป

และจะต้องพัฒนาแนวทางและเทคโนโลยีออกมาให้นำหน้าคนเหล่านี้ให้ได้เร็วที่สุด

เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่านี่คือแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยสำหรับเด็กหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เนื่องจากนี่คือแพลตฟอร์มเปิดที่ปล่อยให้ผู้ใช้งานอัพโหลดวิดีโอขึ้นไปก่อน และตรวจสอบภายหลัง

ดังนั้น สำหรับคำถามว่ามันปลอดภัยอย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่ คำตอบก็คือไม่

ความน่ากลัวก็คือ ทุกวันนี้หันไปทางไหนเราก็แทบจะไม่เจอพ่อแม่ที่ไม่เปิดยูทูบให้ลูกดูเลย

นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะยูทูบเป็นบริการฟรีที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดและเต็มไปด้วยเนื้อหาหลากหลาย ไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่ความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กก็มีให้ดูเยอะแยะ

แต่ตอนนี้เราจำเป็นต้องปรับความเข้าใจใหม่ว่า ทุกวินาทีที่สายตาของลูกจดจ่ออยู่ที่คลิปวิดีโอยูทูบและลูกสามารถไล่กดเนื้อหาดูไปได้เรื่อยๆ แบบไม่มีวันจบนั้นก็มีความเสี่ยงที่ลูกจะได้เห็นเนื้อหาไม่เหมาะสมเมื่อไหร่ก็ได้

ทางแก้ไม่ใช่การห้ามไม่ให้ดูยูทูบอีกต่อไป

แต่มีหลากหลายวิธีที่พ่อแม่สามารถรับมือได้ เริ่มจากพ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ถ่องแท้ด้วยตัวเองก่อน อย่าลืมว่าวัยผู้ใหญ่คือวัยที่เขาเรียกว่าดิจิตอล อิมมิแกรนต์ หรือกลุ่มคนที่มาเรียนรู้เทคโนโลยีภายหลัง แตกต่างจากเด็กที่เป็น ดิจิตอล เนทีฟ ซึ่งเกิดมาแล้วได้จับต้องเทคโนโลยีและเรียนรู้มันอย่างเป็นธรรมชาติทันที สิ่งแรกที่ต้องทำจึงเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้และวิธีใช้งานแพลตฟอร์มให้ได้อย่างรอบด้านที่สุด

ขั้นตอนต่อไปคือการรู้เท่าทันสิ่งที่ลูกดู พ่อแม่บางคนใช้วิธีการสตรีมให้หน้าจอยูทูบบนมือถือขึ้นไปปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์ใหญ่ๆ เพื่อที่พ่อแม่จะได้เห็นไปด้วยได้ว่าลูกกำลังดูอะไรอยู่ หรืออาจจะจัดเพลย์ลิสต์วิดีโอด้วยตัวเอง

วิดีโอใดก็ตามที่จะเพิ่มใส่เข้าไปในเพลย์ลิสต์ได้จะต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาจากพ่อแม่อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกวินาทีก่อนเท่านั้นลูกถึงจะได้รับอนุญาตให้ดูได้

 

สุดท้ายคือการทำความเข้าใจว่า แม้ว่าเราจะตรวจสอบอย่างละเอียดแค่ไหน ก็จะยังมีโอกาสที่ลูกจะได้เห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเข้าสักวัน ดังนั้น จึงควรพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกไว้ก่อนว่า วันไหนที่ลูกได้เห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เหล่านี้ สิ่งที่ควรทำคือการหันมาคุยกันเพื่อที่พ่อแม่จะได้อธิบายให้ฟังได้ว่าสิ่งที่ลูกได้เห็นไปคืออะไร และลูกจะรับมือกับมันได้อย่างไรบ้าง

จากเดิมที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกนั่งดูคลิปวิดีโออย่างบันเทิงเริงใจได้คนเดียวนานๆ ตอนนี้ก็จะต้องปรับตัวใหม่ทั้งหมด ยอมเหนื่อยมากขึ้น ยอมเสียเวลาขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงต่อเนื้อหาไม่เหมาะสมบนอินเตอร์เน็ต

ที่ไม่ช้าหรือเร็วก็จะต้องเห็นเข้าสักวันแน่นอน