ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2562 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]
เหรียญระฆัง-วีรชน
หลวงพ่อเกษม เขมโก
รุ่นสิริมงคลเสาร์ 5
“หลวงพ่อเกษม เขมโก” สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง พระเถระและเกจิอาจารย์ ที่ชาวเมืองลำปางและชาวไทยเคารพนับถือ เป็นพระเถราจารย์ปูชนียบุคคลรูปหนึ่งของประเทศไทย และมีผู้มีความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งท่านยังเป็นเจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ออกผนวชอีกด้วย
สำหรับวัตถุมงคลต่างๆ ที่หลวงพ่อเกษม สร้างและปลุกเสก ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหา ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
หนึ่งในนั้นคือ “เหรียญสิริมงคลเสาร์ 5”
จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกสมทบทุนสร้างศาลาเจ้าแม่สุชาดา เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2516 โดยหลังจากการปลุกเสกของหลวงพ่อเกษม ที่สุสานไตรลักษณ์ เป็นที่เรียบร้อย ท่านปรารภกับบรรดาลูกศิษย์ที่มาร่วมพิธีว่า “ถ้าเอาไปใช้แล้ว ไม่ดี ให้เอามาคืนเฮา”
เหรียญดังกล่าว มีประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะเมื่อคราวเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนได้รับการเรียกขานว่า “เหรียญวีรชน” และด้วยรูปทรงของเหรียญเป็นรูประฆังคว่ำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เหรียญระฆัง”
เหรียญสิริมงคลเสาร์ 5 หรือ เหรียญวีรชน ปี 2516 มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง
ลักษณะเป็นเหรียญรูประฆัง มีหู ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนเต็มองค์หลวงพ่อเกษม นั่งขัดสมาธิ ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “เกษม เขมโก”
ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ ขอบเหรียญจากด้านซ้ายไปขวา เขียนคำว่า “ที่ระลึกสมทบทุนสร้างศาลาจ้าวแม่สุชาดา เหรียญศิริมงคล สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง” ด้านล่าง เขียนคำว่า “๑๕ เม.ย.๒๕๑๖”
รุ่นนี้ มีการแบ่งเป็นบล๊อก (พิมพ์) ต่างๆ ตามการเล่นหาของชาวลำปางได้ 5 บล๊อก คือ บล๊อกเสาอากาศ (พิมพ์นิยม), บล๊อกเขี้ยว, บล๊อกสิบโท, บล๊อกสิบโทมีเขี้ยว และบล๊อกสายฝน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันของจุดตำหนิแม่พิมพ์ในแต่ละบล๊อก
จัดเป็นอีกเหรียญที่หายากในปัจจุบัน

มีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ.131 เป็นบุตรในเจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) รับราชการเป็นปลัดอำเภอ กับเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย
สมัยตอนเด็ก มีคนเล่าว่าท่านซนมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านปีนต้นบ่ามั่น (ต้นฝรั่ง) เกิดผลัดตกจนมีแผลเป็นที่ศีรษะ
เมื่อท่านอายุ 13 ปี บรรพชา ซึ่งเป็นการบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว 7 วัน ได้ลาสิกขาและบรรพชาอีกครั้ง เมื่ออายุ 15 ปี อยู่ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง ท่านได้ศึกษาด้านพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ.2474 เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีถัดมา มีพระธรรมจินดานายก เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า เขมโก แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม
โดยพระภิกษุเจ้าเกษม ศึกษาภาษาบาลีที่สำนักวัดศรีล้อม ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาแผนกนักธรรมที่สำนักวัดเชียงราย
พ.ศ.2479 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก เรียนรู้ภาษาบาลีจนสามารถเขียนและแปลได้ แต่ไม่ยอมสอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างเข้าใจว่าพระภิกษุเจ้าเกษม ไม่ต้องการมีสมณศักดิ์สูง เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น
หลังสำเร็จทางด้านพระปริยัติธรรมแล้ว เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา จนกระทั่งทราบข่าวว่ามีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือ ครูบาแก่น สุมโน จึงฝากตัวเป็นศิษย์
ตามครูบาแก่นออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึก จนถึงช่วงเข้าพรรษาจึงต้องแยกทางกับพระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออกธุดงค์ ก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา
ต่อมา เจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน มรณภาพลง คณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่ และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่า พระภิกษุเจ้าเกษม มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส
ครั้นเมื่อได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัด เพราะเคยจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ เห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนา ต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่
หลังจากนั้น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้ง เนื่องจากต้องการจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น ท่านจึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทาน พร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย
หลวงพ่อเกษมเป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ ตลอดชีพ เป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในจังหวัดลำปางและทั่วประเทศ ท่านปฏิบัติศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ติดยึดในกิเลสทั้งปวง
วิธีสอนของท่าน ไม่ชอบตรงไปตรงมา เน้นอุปมาอุปไมยให้ไปขบคิด เรื่องที่เทศนา มุ่งเอาพุทธวจนะเป็นที่ตั้ง
ครั้งหนึ่ง ในการเทศน์งานศพ มีคนมิตั้งใจฟัง นั่งคุยกันจนหนวกหู หลวงพ่อเกษมจึงใช้กระป๋องเนยเปล่า เป็นอุปกรณ์ช่วยขยายเสียงด้วยการสะท้อนเสียงเข้าไปในกระป๋อง เท่านั้นเสียงท่านก็ดังกังวานคล้ายวิทยุ
เป็นกุศโลบายแบบหนึ่งที่ใช้จูงใจญาติโยม
เวลา 19:40 น. วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2539 มรณภาพลงอย่างสงบ ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลลำปาง จ.ลำปาง
สิริอายุ 84 ปี พรรษา 64