“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ชูธง “ประชาชาติ” ตั้งลูกแก้รัฐธรรมนูญฉบับทหาร “ประชาชนจะสั่งสอนผู้มีอำนาจ”

พรรคประชาชาติ (ปช.) ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการก่อร่าง-ขึ้นรูปเป็นพรรคการเมือง นับตั้งแต่จดจัดตั้งพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561

แม้ข้อกฎหมาย-เงื่อนเวลาจะเป็นข้อจำกัด ทว่า ปช.สามารถส่งผู้เล่นลงสนามเลือกตั้งปี 2562 ทั้งผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต จำนวน 212 คน จากทั้งหมด 350 เขต ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวน 58 คน จาก 150 รายชื่อ

“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรค ปช. ยอมรับว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือก ส.ส. มีรายละเอียดจำนวนมากและมีงานธุรการที่ทำให้พรรคต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิม

ยุทธศาสตร์พรรคเกิดใหม่-ยุทธวิธี “เผด็จศึก” พรรคใหญ่ของ ปช. คือ การส่งผู้สมัคร-ตัวทีเด็ดลงในพื้นที่หวังผล-ได้รับชัยชนะ 100% และผู้สมัคร ส.ส.ที่มีจำนวน “คะแนนตกน้ำ” มากพอที่จะสะสมแต้ม-เติมเต็มเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

20-30 ที่นั่ง หรือ 1.5-2 ล้านเสียงจากประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 51.4 ล้านคน คือ จำนวน ส.ส.ที่ ปช.หมายมั่นปั้นมือ โดยเฉพาะการ “ปักธง” พื้นที่ภาคใต้-ฐานเสียงของพรรคเก่าแก่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 10-12 ที่นั่ง จาก 50 เขต

“ผมเล่นการเมืองมา 40 ปี เป็นหัวหน้าพรรคที่มีพื้นเพเป็นคนใต้ ทำให้คนใต้เลือกเราเยอะ เปิดตัวพรรคครั้งแรกที่ จ.ปัตตานี เพราะประเทศไทยไม่ใช่เพียงแค่กรุงเทพฯ”

“เราไม่ได้ทิ้งภาคอื่นนะ อย่างกรุงเทพฯ ส่งครบ 30 เขต ภาคอีสานส่ง 87 เขต เกินครึ่ง ภาคเหนือส่ง 28 เขต ภาคกลางส่ง 18 คน” อดีตนักการเมืองรุ่นลายคราม-หัวหน้า “กลุ่มวาดะห์” ผู้ทรงอิทธิพลกล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความหวัง

ทีเด็ดทีขาดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ปช.เตรียมเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ 4 ภาค ตั้งแต่วันที่ 2-21 มีนาคม ด้วย “จุดเด่น” ของนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง-ราคาสินค้าเกษตร การกระจายอำนาจ-คืนอำนาจประชาชนและการสร้างความสามัคคี

ขณะที่ “จุดขาย” คือการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ได้แก่ การขุดคลองไทย-คลองคอดกระ ระบบชลประทานเพื่อการเกษตรและระบบคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ

“การขุดคลองคอดกระเพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนและอ่าวไทย โครงการนี้พูดกันตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ พูดกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 พูดมาตลอดหลายร้อยปี ไม่เกิด ไม่ใช่เราไม่มีทุน แต่เราขาดผู้นำทางการเมือง”

กุญแจแห่งความสำเร็จ 3 ดอกของ ปช.ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ดอกที่ 1 แนวทาง-นโยบายสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาราคายางพารา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนปักษ์ใต้

ดอกที่ 2 เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคเดียวที่เป็นคนภาคใต้โดยกำเนิดและเคยเป็นถึงประธานรัฐสภา อดีตรองนายกฯ-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ดอกที่ 3 คือ ผู้สมัคร ส.ส.เกรด A โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผลการออกเสียงประชามติ 60-70% ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นผลโพลสนับสนุน

ทว่าทันทีที่ข่าวการตั้งพรรค ปช.สะพัดขึ้น ข้อสังเกตว่า เป็น “พรรคลูก” เครือข่ายพรรคเพื่อไทย (พท.) ตามยุทธศาสตร์แยกกันเดิน รวมกันตี-แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ตามมาทันควัน เขาปฏิเสธเสียงหนักแน่น

“ไม่สามารถพูดอย่างนั้นได้ การตั้งพรรคนี้เกิดขึ้นมาจากประชาชนส่วนหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาคิดจะมีพรรคการเมืองของคนใน 4 จังหวัดภาคใต้ เหมือนกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล”

“ปช.มาจากหลายพรรค มาจาก พท. มาจากมาตุภูมิ มาจาก ชทพ. มาจากภูมิใจไทย อดีต ส.ว.ก็มี เป็นการรวมของนักการเมืองในท้องถิ่น ของจังหวัดภาคใต้ และเวลามาจัดตั้งพรรคเราก็เอาคนจากทั่วประเทศมา”

“พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคเป็นคนอ่างทอง คุณณหทัย ทิวไผ่งาม รองหัวหน้าพรรคเป็นคนกรุงเทพฯ ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ เป็นคนจันทบุรี และที่ไม่เหมือนพรรคอื่นคือ กก.บห. และผู้สมัคร ส.ส.เป็นคนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเขา ชาวม้ง ไทยใหญ่ จีนฮ่อ มาลงเลือกตั้ง”

แม้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” จะไม่ยอมรับข้อผูกมัดว่าเป็นพรรคเครือข่ายเพื่อไทย แต่เขาพูดชัดๆ ดังๆ ว่า ปช.เป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและไม่ร่วมธุรกรรมทางการเมืองกับพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล-คสช.

“พรรคที่รวมคนที่มีอุดมการณ์ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ พรรคคงจะไม่ไปร่วมกับพรรคการเมืองใด หรือคนใดที่จะมาเป็นนายกฯ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

“อำนาจต้องเป็นของประชาชน ไม่ใช่คิดแต่จะขยายอำนาจของกลุ่มตัวเองออกไป เราชัดเจนว่าเป็นพรรคสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

“ทันทีที่มีโอกาส เราจะเสนอหนทางของการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะแก้ไขยากก็ตาม เราไม่รู้ว่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไร แต่ต้องแก้ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย”

เขาตั้งลูก-ตั้งคณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ-ล้างมรดกของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 1.ที่มาของ ส.ว. 250 คน 2.กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม-ปิดกั้นประชาชน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กฎหมายผูกขาด 3.ยกเลิก (กีโยติน) กฎหมายธุรกิจ

“ผู้นำประเทศควรจะเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน กฎหมายใดที่ปิดโอกาสประชาชนส่วนใหญ่ เปิดโอกาสให้นายทุนทำอะไรได้มากกว่าประชาชนต้องแก้ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศต้องแก้”

เขาอ่านเกมหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคมว่า โมเดลการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง คือ 1.รัฐบาลเสียงข้างน้อย ส.ส. 126 เสียง บวก ส.ว. 250 เสียง มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ 2.รัฐบาลเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ส.ส. 251 เสียง เป็นไปได้ยาก

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้เขาเป็นรัฐบาลต่อ เมื่อเป็นรัฐบาลไปสักระยะหนึ่งอาจจะซื้อเสียงจากพรรคอื่นๆ มารวมเป็นพรรครัฐบาล ถ้าเขากล้ารวมได้ 376 เสียง บวกเสียง ส.ว. เขาอาจจะกล้าเป็นก็ได้”

ส่วนอุบัติเหตุ-ปัจจัยระหว่างทางที่จะทำให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยแพ้เลือกตั้งคือ 1.การซื้อเสียง และ 2.การใช้อำนาจรัฐ แต่เขาเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พลิกประวัติศาสตร์ ฝ่ายค้านชนะเป็นรัฐบาล เฉกเช่นเมียนมาและมาเลเซีย

“อย่าไปดูถูกคนไทย ประชาชนอาจจะสั่งสอนผู้มีอำนาจด้วยการเลือกตามใจที่เขาคิดว่าเป็นประชาธิปไตย อย่าคิดว่าแจกเงินแจกทองแล้วเขาจะเลือก เหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 วัน อาจจะมีเหตุการณ์การหาเสียงที่จะชี้ให้เห็นอะไรอีกมากมาย” เขาทิ้งทาย-ท้าทายก่อนที่จะไปพิสูจน์ความคิด-ความเชื่อประชาชนในคูหาเลือกตั้ง