บทวิเคราะห์ : ประเทศไทยเดินต่อไปทางไหน ในสงคราม 5 จี ของ 2 ชาติมหาอำนาจ

ประสันท์ ปรเมศวารัน แห่ง “เดอะ ดิพโพลแมต” เป็นคนตั้งข้อสังเกตเรื่องสงคราม 5 จี ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่มีอาเซียนเป็น “สมรภูมิ” เอาไว้ในข้อเขียนของตนเองเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลไทยเปิดศูนย์ทดสอบ หรือ “เทสต์เบด” สำหรับเทคโนโลยี 5 จี ขึ้นภายในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้ความร่วมมือของหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีนี้ รวมทั้งหัวเว่ย เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารจากจีน

ผู้เขียนชี้ว่า การเปิดศูนย์ทดสอบดังกล่าว ทำให้ไทยและอาเซียนโดยรวมถูกจับตามองว่าจะกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในสงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมด้านไอทีที่กำลังดำเนินอยู่ในวงกว้างในเวลานี้ หลังจากที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่า การทำงานร่วมกับบริษัทจากจีนในการพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคต่อไปนั้นเป็น “ความเสี่ยงด้านความมั่นคง”

แล้วให้ภาพรวมเอาไว้ว่า สงครามในเชิง “ยุทธศาสตร์” ระหว่างรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กับจีน ว่าด้วยเทคโนโลยี 5 จีครั้งนี้นั้นกำลังขยายวงออกไปเรื่อยๆ แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรและหุ้นส่วนหลายประเทศจะมีความกังวลร่วมกันอยู่ก็ตาม ความเห็นต่างก็ยังมีอยู่ทั้งในแง่ของการคุกคามและการตอบสนองต่อการคุกคามดังกล่าว

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็คือ ในขณะที่ประเทศอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ประกาศห้าม แต่อังกฤษยังคงลังเลและชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ อยู่ต่อไป

 

การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปอย่างที่เคยเป็น คือขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในฟิลิปปินส์ โกลบ เทเลคอม ผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำของประเทศ ยืนยันว่าจะยังคงทำงานกับหัวเว่ยตามแผนพัฒนา 5 จีต่อไป แม้จะมีความกังวลต่อปัญหาความมั่นคงเพิ่มขึ้นก็ตาม

ในขณะที่รัฐบาลนายกฯ มหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย บอกเพียงว่าจะขอดูรายละเอียดของประเด็นนี้ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอย่างไร

ในส่วนของไทยนั้น ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพิ่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยศูนย์ทดสอบ 5 จีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยประกอบด้วยสมาชิก 29 ราย ซึ่งรวมถึงตัวแทนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้ทั้งหลาย อาทิ หัวเว่ย, ควอลคอมม์, โนเกีย และผู้ให้บริการเครือข่ายในท้องถิ่นทั้งหมด

ลักษณะการดำเนินการของไทยจึงมีแนวโน้มไปในทางเพื่อให้เกิดการจัดตั้ง “พันธมิตร” ขึ้นเพื่อทำศูนย์ทดสอบดังกล่าว รวมทั้งความพยายามในการ “ลดต้นทุน” ซึ่งอาจยังผลให้เกิดรูปแบบของ “อินฟราสตรักเจอร์ แชริ่ง” หรือร่วมกันใช้โครงสร้างของเครือข่ายในอนาคต

แต่ “การที่ยังคงรวมเอาหัวเว่ยเข้าไว้ด้วย ก็ส่งผลให้ถูกจับตาเป็นพิเศษอีกครั้ง ทั้งจากกรณีเรื่องความกังวลด้านความมั่นคง ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในหลายๆ ส่วนของโลก และในส่วนของข้อเท็จจริงที่ว่า ศูนย์ทดสอบดังกล่าวนี้ถือเป็นศูนย์ทดสอบแห่งแรกของบริษัทหัวเว่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

 

เมื่อรวมเรื่องนี้เข้ากับความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐต่อรัฐของไทยกับจีนที่ผ่านมา ภายใต้สภาวะ “ตึงเครียด” ระหว่างทางการวอชิงตันกับทางการปักกิ่ง ทำให้ “แม้ว่าหัวเว่ยยังไม่ได้ประกาศและลงนามในสัญญาเชิงพาณิชย์กับไทย หัวเว่ยก็จับจ้องตลาดไทยมานานและเพิ่มระดับการลงทุนในประเทศนี้มากขึ้น ด้วยหวังว่าจะทำให้สถานะของตนเองแข็งแกร่งขึ้น”

ทั้งๆ ที่การเข้ามาเกี่ยวข้องของหัวเว่ยในแผนการพัฒนา 5 จีของทางการไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าหัวเว่ยจะมีบทบาทอย่างไร และโครงการนี้จะพัฒนาไปอย่างไร

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีดีอีเองก็ยืนยันว่า หัวเว่ยยังคงเป็นเพียงแค่มาลงทุนในศูนย์ทดสอบและโครงการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ในไทยเท่านั้น

แต่การที่ 5 จีกลายเป็นจุดโฟกัสของความขัดแย้งและหัวเว่ยเองก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่นี้ พร้อมๆ กับที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มี “นัยสำคัญ” อย่างยิ่งในการแข่งขันช่วงชิงระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และไทยเองก็เป็นตลาดโทรคมนาคมสื่อสารไร้สายที่สำคัญตลาดหนึ่ง

สงคราม 5 จีในไทยก็จะยังคงถูกจับตามองอยู่ต่อไปว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหนกันในอนาคต