บทวิเคราะห์ : “โดนัลด์ ทรัมป์” กับกระแส “อิมพีชเมนต์” ขยายตัวมากขึ้น

ท่ามกลางเรื่องราวอื้อฉาวที่ยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ล่าสุดกระแสข่าวเรื่อง “อิมพีชเมนต์” หรือ “กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐ” ก็เริ่มร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง

จริงๆ แล้วการพูดถึงการ “ถอดถอน” ประธานาธิบดี “ทรัมป์” นั้นมีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2017 หลังทรัมป์เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น ในข้อหา “ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม” จากกรณีสั่งปลด “เจมส์ โคมีย์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ที่ทำหน้าที่สอบสวน “ไมเคิล ฟลินน์” อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงของทรัมป์ ในข้อหาต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวโยงกับรัสเซีย

ประเด็นดังกล่าวเวลานี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของ “โรเบิร์ต มุลเลอร์” ที่ปรึกษาพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้สอบสวนกรณี “รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016” และ “กรณีที่เกี่ยวข้อง”

แม้จะไม่มีการเริ่มต้น “กระบวนการถอดถอน” ในเวลานั้นส่วนหนึ่งเนื่องจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐยังคงตกเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากพรรครีพับลิกัน

ทว่าประเด็นดังกล่าวก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในปีนี้ และมีความเป็นไปได้มากขึ้นเมื่อสภาผู้แทนฯ นั้นครองเสียงข้างมากโดย “พรรคเดโมแครต” อีกครั้ง หลังการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ประเด็นนี้ร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ “ไมเคิล โคเฮน” อดีตที่ปรึกษากฎหมายของทรัมป์ ที่โดนคดีละเมิดกฎหมายด้านการเงินไปก่อนหน้านี้ ออกมา “แฉ” อดีตเจ้านายอย่างดุเดือดเมื่อสัปดาห์ก่อน

โดยโคเฮนซัดทอดทรัมป์ในหลายเรื่อง เช่น คำสั่งให้จ่ายเงินปิดปากหญิงที่เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับทรัมป์ก่อนการเลือกตั้ง การรับคำสั่งให้ตกแต่งงบการเงิน รวมถึงเปิดเผยด้วยว่าทรัมป์นั้นรู้ล่วงหน้าก่อนที่ “วิกิลีกส์” จะเปิดเผยข้อมูลที่ส่งผลกระทบกับ “ฮิลลารี คลินตัน” ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น ล่าสุด “คณะกรรมาธิการยุติธรรม” ของสภาคองเกรสสหรัฐได้เปิดให้มีการสืบสวนกรณี “ทรัมป์ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและใช้อำนาจในทางที่ผิดอีกครั้ง”

ข้อหาซึ่งอาจนำไปสู่การเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีได้

 

การเปิดการสอบสวนล่าสุด นับเป็นการสืบสวนครั้งใหญ่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่กระบวนการถอดถอนมากที่สุด

โดยคณะกรรมาธิการได้ส่งหนังสือเพื่อขอเอกสารหลักฐานต่างๆ จากบุคคลวงใน ทั้งครอบครัวและคนใกล้ชิด รวม 81 คน รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ของทรัมป์อีกจำนวนหนึ่ง

ในบรรดาบุคคลวงในใกล้ชิดทรัมป์นั้น รวมไปถึงลูกเขยอย่าง “จาเรด คุชเนอร์” สามีของ “อิวานกา ทรัมป์” ลูกสาว, “อัลเลน เวสเซลเบิร์ก” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของ “ทรัมป์ออร์แกไนเซชั่น”, “สตีฟ เบนนอน” และ “โฮป ฮิกส์” อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีประจำทำเนียบขาว, “เจย์ เซคูโลว์” ทนายความส่วนตัวของทรัมป์, “เจฟฟ์ เซสชั่น” อดีตรัฐมนตรียุติธรรม รวมไปถึงผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ อย่าง “จูเลียน อาสซานจ์”

แน่นอนว่า “ทรัมป์” ออกมาโจมตีการเปิดให้มีการสอบสวนดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยระบุว่าเป็น “เรื่องหลอกลวงทางการเมือง” อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เองก็ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับการสืบสวนดังกล่าว

ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตต่างมีท่าทีที่เป็นไปในทางเดียวกันว่า กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีนั้นเป็น “ทางเลือกที่เป็นไปได้” อย่างไรก็ตาม ส.ส.บางส่วนที่เตรียมลงเลือกตั้งในปี 2020 นั้นยังคงสงวนท่าทีเนื่องจากการเรียกร้องการถอดถอนก่อนหน้าการเปิดเผยผลการสืบสวนของที่ปรึกษาพิเศษของโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้นั้นอาจจะเป็นการขัดขวางกระบวนการ และเกรงว่าอาจกระทบกับคะแนนเสียงของตัวเองก็เป็นได้

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับ “กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐ” จัดทำโดยวอชิงตันโพสต์ ร่วมกับเอบีซีนิวส์ พบว่า ชาวอเมริกันราว 40 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าสภาคองเกรสควรเริ่มกระบวนการถอดถอนทรัมป์

ขณะที่การยอมรับผลงานของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีนั้นมีเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

สําหรับกระบวนการถอดถอนนั้นมีด้วยกัน 2 ขั้นตอนคือ

หนึ่ง เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติเชื่อว่าประธานาธิบดีกระทำผิดในข้อกล่าวหา เช่น การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หรือความผิดทางอาญาร้ายแรงอื่นๆ ฝ่ายนิติบัญญัติจะเริ่มต้นการฟ้องร้องประธานาธิบดี ซึ่งหากพิจารณาจากหลักฐานแล้วพบว่ามีความผิดจริง ฝ่ายนิติบัญญัติจะทำการร่างหนังสือถอดถอนไปยังสภาคองเกรส โดยสภาจะโหวตโดยใช้เสียงข้างมากตัดสิน

จากนั้นหากสมาชิกสภาลงคะแนนเสียงให้ประธานาธิบดีถูกถอดถอน กระบวนการพิจารณาจะเริ่มต้นขึ้น โดยฝ่ายนิติบัญญัติจะทำหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องร้องประธานาธิบดีจากหลักฐานที่มีอยู่ ขณะที่ประธานาธิบดีเองสามารถใช้ทนายสู้คดีได้ จากนั้นทางสมาชิกสภาคองเกรสเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมดแล้วจะมีการลงคะแนนเสียงรอบที่สอง หากเสียงโหวตมากกว่า 2 ใน 3 ประธานาธิบดีจะถูกถอดถอนโดยไม่มีการยื่นขออุทธรณ์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐคนใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยมีสองรายที่เคยถูกฟ้องร้อง แต่สุดท้ายพ้นผิดคือ แอนดรูว์ จอห์นสัน ในปี 1868 และบิล คลินตัน ในปี 1998

ขณะที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ชิงลาออกจากตำแหน่งไปในปี 1974 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกถอดถอนจากกรณี “วอเตอร์เกต” อันอื้อฉาว