หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’ภาพข้างนอก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยูงไทย - นอกจากวัวแดง ถึงวันนี้ นกยูงไทยก็เป็นสัตว์ป่าที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น พบเห็นได้ง่ายเช่นกัน

หลังเลนส์ในดงลึก/ ปริญญากร วรวรรณ

‘ภาพข้างนอก’

 

หน่วยพิทักษ์ป่าแห่งนี้ อยู่ห่างจากสำนักงานเขตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในระยะที่ดูในแผนที่ 9 ช่อง

ความหมายของแผนที่นั้น 1 ช่องมีระยะทางหนึ่งกิโลเมตร

ในความเป็นจริง ช่องนี้วัดระยะทางตรง เมื่อเดินทางไปจุดหมายนี้จริงจะพบว่า ทางไม่ได้เป็นเส้นตรงตลอด มีไต่ขึ้นเขา ลงหุบ

ข้อดีของการเดินทางไปที่หน่วยนี้คือ รถยนต์สามารถไปถึงได้ตลอดปี แม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูฝน

หากเป็นหน้าแล้ง ระยะทางราว 12 กิโลเมตรนี้ มอเตอร์ไซค์ใช้เวลาไม่นาน จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยจะเข้า-ออกหน่วย มาสำนักงานเขต หรือเข้าเมือง และเลยไปบ้านบ่อยๆ อย่างไม่ลำบากอะไรนัก

 

ออกจากสำนักงานเขตมาราวๆ 2 กิโลเมตร เส้นทางราบเรียบ มีหล่มยาวๆ อยู่หนึ่งหล่ม หน้าแล้งไม่มีปัญหา แต่ครั้งหนึ่งในช่วงฝน ผมติดอยู่ในหล่มนี้หลายชั่วโมง กว่าจะผ่านพ้นมาได้

หล่มหรือร่อง ซึ่งดูว่าน่าจะผ่านไปได้ง่ายๆ นี่แหละ ที่ผมมักลงไปติดเสมอ

บริเวณนี้เป็นป่าไผ่ นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่ง ไผ่เป็นอาหารหลักของช้าง พวกมันใช้แถวนี้เป็นที่กินประจำ บางครั้งพวกมันดึงไผ่เกือบทั้งกอล้มบนเส้นทาง

เราผ่านไปไม่ได้หรอก จนกว่าจะตัดและลากไผ่ที่ขวางออกไปหมด

ในช่วงฝน มีต้นไม้ล้มบ้าง และน่าแปลก ต้นไม้ที่สายลมฝนกระหน่ำจนล้มนั้น มักมีกอหนามเกาะเกี่ยวอย่างเหนียวแน่น กว่าจะเคลียร์เส้นทางให้รถผ่านได้ ต้องใช้เวลานาน พร้อมกับมือซึ่งมีเลือดไหลซิบๆ

 

จากป่าไผ่ เป็นทางขึ้นเนิน มีเนินชันๆ อยู่สี่ช่วง คนในป่านี้เรียกว่า “สี่กั๊ก” ผมเข้าใจว่า คงหมายถึงว่า หมดเหล้าไปสี่กั๊ก จึงผ่านไปได้

“ไม่ใช่หรอกครับ สี่กั๊ก คือ มันมีช่วงชันๆ สี่ช่วงน่ะ” คนในหน่วยนี้ออกตัว

เนินชัน แต่ลักษณะของพื้นที่เป็นดินลูกรังไม่ลื่นไถล หรือร่องลึก การเดินทางไปหน่วยนี้ หากไม่พบกับต้นไผ่ หรือต้นไม้ล้มขวาง ก็เรียกได้ว่า ไม่มีปัญหาอะไร

“ทางที่นั่นน่ะ ซูเปอร์ไฮเวย์ชัดๆ” คนในป่าข้างเคียง ที่เส้นทางทุรกันดาร พูดขำๆ เวลาเพื่อนๆ ในป่านี้บ่นเรื่องเส้นทาง

ไม่มีใครเถียงหรอก เพราะในป่าที่คนพูด อยู่เส้นทางในช่วงฝนนั้น ชวนใครขึ้นรถ จะได้คำตอบว่า “กำลังรีบ” เพราะรู้ว่า ถ้าขึ้นรถไปด้วย จะต้องช่วยเอารถขึ้นจากหล่ม เสียเวลามาก เดินไปเร็วกว่า

 

นอกจากบ้านพักที่มีลักษณะเป็นห้องแถว มีสี่ห้อง ที่พวกเขาเรียกว่า บ้านสี่ครอบครัว ซึ่งอยู่ด้านล่าง และเพิงเล็กๆ ที่ ใช้ทำครัวติดชายป่า มีบ้านอีกหลังอยู่ด้านบนเป็นบ้านไม้สูงราว 1 เมตร บันได 3 ขั้น ด้านหน้าเป็นระเบียงยาว ฝาไม้กระดานสีเขียวอ่อน ทาทับไว้ สีทาไว้นานแล้ว สีซีดไปตามกาลเวลา

ที่นี่คือสำนักงาน เป็นห้องวิทยุสื่อสาร และหัวหน้าหน่วยใช้เป็นที่พัก

เดินขึ้นบันได ที่ฝามีภาพวัวแดงตัวผู้สีจางๆ เป็นโปสเตอร์ ที่พิมพ์มานานหลายปี เหนือภาพวัวแดงมีตัวหนังสือหนาๆ เขียนว่า

“ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” ซ้ายมือ คือประตู เข้าห้องวิทยุ ติดผนัง มีแผนที่แสดงอาณาเขตและพื้นที่ 1,609,150 ไร่ รวมทั้งตำแหน่งหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ  ผนังเหนือ เครื่องส่ง วิทยุ มีพระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 เหนือขึ้นไปนิด มีพระรูปรัชกาลที่ 5

ฝั่งตรงข้ามท้ายห้อง ใกล้ประตู มีโปสเตอร์ขนาดใหญ่ รูปผู้ชาย ร่างสูง สวมแว่นตา เสื้อกันหนาวทรงทหารสีเขียว มือซ้ายถือกล้องยาสูบ ไหล่ขวาสะพายย่ามสีขาวมอๆ

ใต้ภาพ ตัวหนังสือใหญ่ เขียนว่า “25 ปีสืบ”

25 ปี คือระยะเวลาที่ผู้ชายในภาพที่เคยทำงานเป็นหัวหน้าเขตที่นี่ “จงใจ” จากไป

ความตั้งใจของเขา ทำให้ปัญหาที่ป่าแห่งนี้เผชิญ ได้รับการคลี่คลาย

 

“เมื่อก่อนสัตว์มันไม่ได้เยอะ หรือเจอง่ายแบบเดี๋ยวนี้หรอกครับ”

เรานั่งกินข้าวตรงเฉลียงใต้รูปวัวแดง และข้อความว่า “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง”

ข้างวงข้าวมีขวดเหล้าขาว 35 ดีกรี พร่องแล้วครึ่งขวด

ผู้ชายผิวคล้ำ ร่างแกร่ง ที่นั่งตรงหน้า ผมเรียกเขาว่าโก๊ะ เรารู้จักกันมาเนิ่นนาน

กว่า 20 ปีแล้ว เขาเดินมาสมัครทำงานในป่านี้

“เขาประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์แล้วแหละครับ แต่ยังมีการล่าเยอะมาก เสียงปืนดังทุกวัน” โก๊ะเล่าถึงตอนที่เขาทำงานแรกๆ

การล่าสัตว์ บุกรุกพื้นที่ ตัดไม้ กระทำอย่างต่อเนื่อง

ผู้ชายร่างสูงในโปสเตอร์ เชื่อว่าการจากไปของเขาจะทำให้คนสนใจปัญหาที่ป่าแห่งนี้เผชิญอย่างจริงจัง

และมันได้ผล

“มีสิ่งที่เรียกว่า สรรพกำลังมากมาย ทุ่มเทเข้ามา เรามีการทำงานป้องกันอย่างเป็นระบบจริงจัง ถึงวันนี้ ได้ผลแล้ว เราเห็นง่ายๆ จากสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ทั้งชนิดและจำนวนประชากร นกยูงเดินริมถนน วัวแดงวิ่งตัดหน้ารถ แม้แต่เสือเดินข้างทาง”

สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เคยทำงานที่นี่ พูดให้ฟัง

 

หน่วยพิทักษ์ป่า เงียบสงบ เก้งสองตัวเดินกระดิกหางเข้ามา ชะนีโหนกิ่งไม้ไหวยวบยาบ พญากระรอกดำกระโจนข้ามกิ่งไม้ และหยุดเอาหัวห้อย ใช้หางยาวของมันเกี่ยวกิ่งไม้ไว้

ด้านล่างมีแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และห้องควบคุม

ในเพิงเล็กที่ใช้เป็นครัว ที่นั่นมีเปลสีเขียวผูกกับเสาสองต้น ในเปล ผู้ชายร่างผอมนอนหลับสนิท ข้างเตามีขวดเหล้าขาวกองสุม

ว่าตามจริง นี่คือสภาพหน่วยพิทักษ์ป่า และคนทำงานในป่าที่หลายคนพบเห็น เป็นเวลาที่พวกเขาพักผ่อนคลาย หลายคนเมื่อเข้าใกล้ ก็ได้กลิ่นแอลกอฮอล์คละคลุ้ง

แต่นี่คือการทำงานในป่าที่ได้รับการฝึกฝนอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาแล้วอย่างเข้มข้น คนละหลายๆ ครั้ง

ในหมู่บ้าน บางคนคือคนขี้เมา

เป็น “ภาพ” ข้างนอกที่คนเห็น

ขณะทำงานในชุดลายพรางป่าไม้ ผ้าสีดำโพกหัว พวกเขาจะมีอีกสภาพหนึ่ง

 

ภาพวัวแดง พร้อมคำอธิบายว่า “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง”

และในทุกวันนี้ ในความเป็นจริง ที่วัวแดงในป่าแห่งนี้ เป็นสัตว์ป่าที่มีประชากรเพิ่มขึ้นพบเห็นได้ง่าย

บางทีนี่คงบอกได้ว่า

“ภาพข้างนอก” ก็ไม่ใช่เป็น “ภาพ” ที่หลายคนเห็น