โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/ภายในสิ่งหนึ่งย่อมมีสรรพสิ่งแฝงอยู่

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง[email protected]

ภายในสิ่งหนึ่งย่อมมีสรรพสิ่งแฝงอยู่

 

ไม่ว่าโลกนี้จะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเร็วแค่ไหน แต่สัจจะที่ว่ามนุษย์เราจะต้องตายนั้นไม่เคยเปลี่ยน

พระพุทธเจ้าทรงค้นหาคำตอบว่า ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะพ้นทุกข์และไม่กลับมาเกิดอีก

ในหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” ท่านติช นัท ฮันห์ ผู้นำศาสนาพุทธนิกายเซน ประพันธ์ประวัติพระพุทธเจ้าโดยร้อยเรียงดุจนิยาย มีตัวละครชื่อสวัสติเป็นตัวเดินเรื่อง สวัสติผู้นี้เป็นเด็กเลี้ยงควายที่เป็นจัณฑาล และได้เข้ามารู้จักกับเจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่ตอนที่ยังบำเพ็ญเพียรภาวนา เขาผู้นี้เองคือผู้ที่นำฟางแห้งมาปูลาดเป็นอาสนะให้พระองค์ประทับนั่งจนถึงวันที่ตรัสรู้

ผู้ถ่ายทอดหนังสือนี้เป็นภาคภาษาไทยที่งดงามคือ รสนา โตสิตระกูล และสันติสุข โสภณสิริ มีหนังสือเล่มนี้แสดงอยู่ที่งานนิทรรศการลายพู่กัน หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ซึ่งปิดไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธNที่ผ่านมา

ท่านติช นัท ฮันห์ พาเราเดินทางติดตามชีวิตและห้วงความคิดของพระพุทธเจ้าเมื่อเดินทางออกบวช และค้นพบสัจธรรม

 

ที่ผ่านมาเราท่องจำถึงวาระต่างๆ ของพระพุทธเจ้าดุจนกแก้วนกขุนทอง ท่านประสูติเมื่อนั่นเมื่อนี่ ท่านอภิเษกสมรส และมีพระราชโอรส แล้วก็ออกบวช และตรัสรู้ แล้วเดินทางสอนและเผยแผ่พุทธศาสนาเพื่อช่วยให้คนพ้นทุกข์

ท่านติช นัท ฮันห์ ใช้จินตนาการแห่งความเป็นนักประพันธ์ของท่าน เขียนพระพุทธประวัติได้ประหนึ่งนวนิยาย อ่านพุทธประวัตินี้เหมือนได้ทราบที่มาของความคิดที่ท่านติช นัท ฮันห์ นำมาใช้อบรมสั่งสอนเรื่องวิธีเจริญสติ ในดินแดนต่างๆ ในโลกนี้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร รู้แจ้งอะไร เราพอเข้าใจได้จากหนังสือเล่มนี้

 

พระพุทธเจ้าใช้ทักษะในการถ่ายทอดเรื่องยากโดยผูกกับเรื่องที่เห็นได้ชัดง่ายแล้วสอนกับเด็กๆ เช้าวันรุ่งขึ้นจากค่ำคืนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ท่านได้พบกับเด็กๆ ที่เข้ามาวนเวียนอยู่กับชีวิตของท่านคือสวัสติและสุชาดา สวัสติในฐานะผู้ปูอาสนะ และสุชาดาในฐานะผู้ถวายอาหาร หลังจากทักทายกันแล้วสุชาดาได้ขอให้พระองค์แสดงธรรม

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “พวกเธอทุกคนเป็นเด็กฉลาด และตถาคตมั่นใจว่าพวกเธอจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติสิ่งที่ตถาคตจะแบ่งปันแก่พวกเธอ อริยมรรคที่พวกเราได้ค้นพบนั้นเป็นของลึกซึ้ง แต่ถ้าผู้ใดต้องการปรับเปลี่ยนความคิดและจิตใจของตนแล้ว พวกเขาก็จะสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้”

ในคำสอนง่ายๆ ดังว่านั้น พระพุทธองค์กล่าวแก่เด็กๆ ว่า “เมื่อพวกเธอปอกเปลือกผลส้ม เธออาจจะกินผลส้มอย่างมีสติหรือขาดสติก็ได้ การกินผลส้มอย่างมีสตินั้นหมายความว่า เมื่อเธอกำลังกินผลส้มเธอพึงรู้ว่าเธอกำลังกินผลส้มอยู่ เธอควรสัมผัสกลิ่นหอมและลิ้มรสหวานของผลส้มอย่างเต็มที่ ขณะปอกผลส้มเธอพึงรู้ว่าเธอกำลังปอกผลส้มอยู่ เมื่อเธอหยิบกลีบส้มใส่ปาก เธอพึงรู้ว่าเธอกำลังหยิบกลีบส้มใส่ปาก เมื่อเธอได้สัมผัสกลิ่นหอมและรสหวานของส้ม เธอพึงรู้ว่าเธอกำลังสัมผัสกลิ่นหอมและรสหวานของส้มอยู่ ผลส้มที่นันทพาลาถวายแก่อาตมานั้นมี 9 กลีบ ตถาคตกินส้มแต่ละกลีบอย่างมีสติและได้เห็นคุณค่าความมหัศจรรย์ของส้ม ตถาคตไม่หลงลืมผลส้ม ดังนั้น ผลส้มจึงเป็นสิ่งจริงยิ่งสำหรับตถาคต เมื่อผลส้มเป็นสิ่งจริง บุคคลผู้กำลังกินส้มก็เป็นบุคคลจริงด้วย นั่นแหละคือความหมายของการกินส้มอย่างมีสติ”

พระพุทธเจ้ายังกล่าวต่อว่า “หากเธอไม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าและความมหัศจรรย์ของผลส้ม ไม่รู้ว่าเธอกำลังกินผลส้ม ส้มใบนั้นก็ไม่มีอยู่จริงด้วย ถ้าส้มใบนั้นไม่มีอยู่จริง บุคคลผู้กินส้มก็ไม่มีอยู่จริงด้วย”

 

ในวิถีของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ในเวลาปฏิบัติธรรมท่านจะจูงเด็กๆ เดินไปด้วยเสมอในเวลาเดินจงกรมตอนเช้า ก็เพราะเด็กๆ คือลูกศิษย์กลุ่มแรกของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ท่านจะบอกให้เรากินอาหารอย่างช้าๆ เพื่อให้รับรู้ถึงอาหารที่ถูกบดเคี้ยว กลืนผ่านลำคอเข้าไป นี่คือสติ

ในหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้า;เก่าแก่” ท่านติช นัท ฮันห์ ได้เลือกที่จะนำเสนอที่มาของคำว่า “พระพุทธเจ้า” ว่า

“สุชาดาพนมมือขออนุญาตกล่าวขึ้นว่า “ท่านคือผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ซึ่งแสดงวิถuการดำรงชีวิตอย่างมีสติ เราจะสามารถให้สมญานามแก่ท่านว่า “ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” จะได้ไหม

พระสิทธัตถะทรงพยักพระพักตร์และบอกว่าชอบชื่อนี้ ดังนั้นสุชาดาจึงกล่าวต่อไปว่า คำว่า “ตื่น” ในภาษามคธออกเสียงว่า “พุทธ” และดังนั้น จึงขอเรียกเจ้าชายสิทธัตถะว่า “พระพุทธเจ้า” ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ตอบตกลง

 

ถ้าหากใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติธรรมตามวิถีของท่านอาจารย์ติช นัท ฮันห์ และได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็จะรู้ว่าวิถีของพระพุทธองค์ในหนังสือเล่มนี้และวิถีปฏิบัติของท่านติช นัท ฮันห์ คืออย่างเดียวกัน เรารู้สึกเบิกบานใจเมื่อได้รับรู้ถึงความเชื่อมโยง

พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการประพันธ์

ท่านทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งกับคำว่า “ความสุข” เมื่อบรรยายถึงตัวละครต่างๆ ที่ได้พบกับมรรคาแห่งความสุขเหมือนพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าบอกเราถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสรรพสิ่ง เมื่อเรากินข้าว เรารู้ว่าข้าวนี้เกิดจากดินและแสงแดด ในข้าวจึงมีทั้งดินและแสงแดด พระองค์ทรงอธิบายว่าสิ่งทั้งปวงพึ่งพาอาศัยกันเพื่อการเกิดขึ้น พัฒนา และเสื่อมสลายไป ปราศจากการอาศัยกันย่อมไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ได้

เหตุแห่งทุกข์คืออวิชชา คือการมองความจริงในวิธีที่ผิด อวิชชาก่อให้เกิดความโลภ ความกลัว ความริษยา และความทุกข์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน …เมื่อชนะอวิชชาได้ความทุกข์ก็จะหมดสิ้นไป

ขอขอบคุณผู้แปลทั้งสองท่านที่แปลหนังสือที่ยากและลึกซึ้งให้เราได้อ่านและเข้าใจและเข้าถึงแก่นแท้คำสอนของพระพุทธเจ้า