ปริศนาโบราณคดี : ‘ผาสุข อินทราวุธ’ อาวุธที่พระอินทร์ประทานให้แก่วงการโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 สมัย และอดีตศิษย์เก่า ดาวคณะโบราณคดีรุ่นที่ 9 ได้ลาลับจากโลกนี้อย่างสงบเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 และได้มีการพระราชทานเพลิงศพไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ

วงการโบราณคดีได้สูญเสียบุคลากรคนสำคัญยิ่ง เพราะท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุครอยต่อที่สุวรรณภูมิรับอิทธิพลด้านอารยธรรมมาจากเมโส-โรมัน อารยัน-เปอร์เซีย อินเดีย-จีน จนถึงยุคทวารวดีอันเข้มข้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการตีความถอดรหัส “ประติมาณวิทยา” ของเทวรูปฮินดู และพุทธปฏิมาทั้งโลกหินยาน-มหายาน และทั้งของไทย-เทศ อุษาคเนย์

หริภุญไชยศึกษา
งานค้นคว้าที่อย่ามองข้าม

นอกเหนือไปจากความโดดเด่นที่คนในวงการโบราณคดียอมรับท่านว่าได้สร้างผลงานดังกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น อาจารย์ผาสุขยังมีคุณูปการต่อวงการศึกษาโบราณคดีด้าน “หริภุญไชยศึกษา” อีกด้วย แต่ไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงท่านด้านนี้มากนัก

ในฐานะที่ดิฉันเป็น “ลูกศิษย์” คนหนึ่งของท่านตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีโอกาสได้เรียนวิชา Iconography หรือแปลเป็นไทยว่า ประติมาณวิทยา ซึ่งอันที่จริงวิชานี้เปิดสอนในภาควิชาโบราณคดี แต่ก็เป็นวิชาบังคับให้นักศึกษาทุกคนในภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะต้องเรียนด้วย (อาจารย์ผาสุขเองก็ยอมรับว่าทุกปีเด็กเอกประวัติศาสตร์ศิลป์มักมาแย่งกวาด A กันเรียบ เบียดเด็กเอกโบราณให้หล่นไปได้ B ได้ C กัน ทั้งนี้เพราะเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศิลป์สายตรงทีเดียว ซึ่งพวกเราก็ยังงงว่าทำไมวิชานี้จึงไม่เปิดสอนในภาคประวัติศาสตร์ศิลป์?)

แม้จะเรียนกับท่านเพียงวิชาเดียวเท่านั้น แต่ก็ได้สัมผัสกับความอ่อนโยน ลุ่มลึก วิสัยทัศน์กว้างไกล การเปิดใจยอมรับข้อมูลใหม่ๆ ของท่านอาจารย์ผาสุขมาตั้งแต่ปี 2525

กระทั่งได้มาทำงานที่กรมศิลปากร จังหวัดลำพูน ปี 2547 ดิฉันได้เชิญอาจารย์ผาสุขมาร่วมเป็นวิทยากรเปิดประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมทวารวดีกับหริภุญไชย ในทำนองตั้งคำถามต่อท่านว่า “หริภุญไชยคือรัฐเครือข่ายของทวารวดีทางภาคเหนือจริงหรือไม่?”

พร้อมกับได้พาท่านไปป่ายปีนซอกแซกลุยพื้นที่แหล่งโบราณคดี “อันซีน” หลายแห่งในลำพูน เพราะทราบมาก่อนแล้วว่า อาจารย์ผาสุขเป็นนักวิชาการเพียงไม่กี่คนที่เชื่อมั่นว่า

“เรื่องราวของพระนางจามเทวี ตำนานบอกว่านำเอาอารยธรรมทวารวดีจากภาคกลางมาสถาปนาในหริภุญไชยนครนั้น หาใช่แค่นิทานปรัมปราคติที่กล่าวอ้างกันลอยๆ ไม่ หากแต่มีหลักฐานด้านโบราณคดีรองรับจริงอยู่จำนวนหนึ่ง น่าเสียดายที่นักวิชาการทั่วไปมักมองข้าม เพราะไปยึดติดเพียงแค่ว่า ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหลักที่พบเก่าสุดในลำพูนมีอายุแค่ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ดังนั้น ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 16 ขึ้นไป จึงยังไม่นับว่าหริภุญไชยอยู่ในยุคที่ร่วมสมัยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กับยุคทวารวดี การสรุปแบบนี้ครูไม่เห็นด้วยเลย”

คำพูดของอาจารย์ผาสุข ช่วยจุดประกายไฟให้ดิฉันลุกขึ้นมาฮึดสู้สืบค้นหาความจริง มุ่งมั่นที่จะพิสูจน์หลักฐานหน้าต้นๆ ของอาณาจักรหริภุญไชยอีกครั้ง หลังจากที่เคยรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง และเกือบยอมจำนนต่อคำตัดสินของนักวิชาการหลายๆ คนที่สรุปว่า

อาณาจักรหริภุญไชยนั้น “เก่าแค่ในกระดาษ” คือด้านนามธรรม (จับต้องด้านวัตถุไม่ได้เลย) แต่ในด้านรูปธรรมแล้ว “เก่าไม่ถึงตามที่ตำนานสมอ้าง”

อะไรเป็นเหตุปัจจัยทำให้อาจารย์ผาสุขเชื่อว่าหริภุญไชยเป็นอาณาจักรที่มีความเก่าแก่ถึงยุคทวารวดีตอนต้นจริง สอดคล้องกับเรื่องราวในตำนาน

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%87

ในบารายวัดพระธาตุฯ พบหม้อมีสัน
วัดประตูลี้มีธรรมจักร-กวางหมอบ

ในปี 2536 อาจารย์ผาสุข อินทราวุธ พร้อมด้วย อาจารย์สินชัย กระบวนแสง จากภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในจังหวัดลำพูน โดยเลือกศึกษา 2 แห่งคือ วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดประตูลี้

ในวัดพระธาตุหริภุญชัย อาจารย์ทั้งสองท่านเลือกวิจัยในเขตบ่อน้ำศิลาแลงศักดิ์สิทธิ์ ที่ตั้งอยู่ประชิดหน้ารั้ววัด หรือทิศตะวันออกของอุโบสถพระเจ้าทองทิพย์

ชาวบ้านเรียกบ่อน้ำนั้นว่า “สระล้างแกง” หรือ “สระล้างครัว” เชื่อกันว่า เป็นสระที่ขุดขึ้นในสมัยพระญาอาทิตยราช ผู้สร้างพระบรมธาตุหริภุญไชย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 โดยมีกลุ่มอุบาสิกา แม่ครัว มาช่วยทำอาหาร เป็นกองเสบียงหนุนสล่าฝ่ายชายที่เผาอิฐปั้นปูน

ใครจะเรียกว่าอย่างไรก็สุดแท้แต่ สำหรับนักวิชาการโบราณคดีย่อมเรียกสระน้ำนั้นว่า “บาราย” ตามอย่างศัพท์ขอมโบราณ หมายถึงสระน้ำที่สร้างเป็นสัญลักษณ์ของสระอโนดาตหรือนทีสีทันดร

ในสระล้างแกงหรือบารายนั้น ทีมวิจัยของอาจารย์ผาสุขได้ค้นพบหลักฐานในระดับที่ลึกมากถึง 4-5 เมตร เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อมีสัน ลูกปัดหิน ในรูปแบบเดียวกันกับยุครอยต่อจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่ยุคทวารวดี พบประติมากรรมดินเผาขนาดเล็กสมัยทวารวดี พบแม่พิมพ์ทำด้วยโลหะสำหรับหล่อพระพิมพ์ดินเผารุ่นพระลือหน้ายักษ์

ส่วนวัดประตูลี้นั้น พบกะโหลกศีรษะมนุษย์ที่มีอายุประมาณ 1,400-1,500 ปีที่ผ่านมา สอดรับกับยุคที่พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นมาลำพูน พร้อมกับยังได้พบ “ธรรมจักรกับกวางหมอบ” ทำด้วยดินเผาและหินแกะสลัก ร่วมสมัยกับทวารวดี

หลักฐานทั้งหมด ปรากฏในงานวิจัยของท่านอาจารย์ทั้งสอง แต่ความที่นักวิชาการมีจรรยาบรรณที่เคารพความเป็นท้องถิ่น จึงมิมีความคิดที่จะยึดครองหรือโยกย้ายเอาหลักฐานที่ขุดพบในวัดนั้นๆ ออกจากพื้นที่ไปเก็บที่คณะโบราณคดี หรือยกมอบให้กรมศิลปากรได้ จึงได้มอบให้วัดต่างๆ เก็บรักษาไว้

ราว 15 ปีก่อน เมื่อดิฉันไปถามหากะโหลกและธรรมจักรกวางหมอบชิ้นสำคัญดังกล่าวจากวัดประตูลี้ ปรากฏว่าทั้งหมดได้อันตรธานไปจากวัดนี้นานหลายปีดีดักแล้ว

??? สุดท้าย “พุทธพาณิชย์” ก็พิชิตหลักฐานโบราณคดีด้วยอำนาจเงินอีกเช่นเคย

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%b9

นาคทวารวดีที่อู่ทอง-นาคหริภุญไชย
ที่เวียงเกาะกลาง

หลังจากที่อาจารย์ผาสุขเคยศึกษาร่องรอยศิลปกรรมยุคทวารวดีในหริภุญไชยมาตั้งแต่ปี 2536 แล้วนั้น อีก 11 ปีถัดมา ดิฉันได้เรียนเชิญท่านมาร่วมสำรวจแหล่งโบราณสถานร้างบริเวณเวียงเกาะกลาง บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

เพื่อให้ท่านช่วยพิสูจน์ซากประติมากรรมปูนปั้นที่ชาวบ้านขุดได้มาจากโบราณสถานละแวกนั้น ว่าพอจะมีสายใยสัมพันธ์อันใดที่พอจะเชื่อมต่อกับศิลปกรรมยุคทวารวดีภาคกลางได้บ้างหรือไม่

อาจารย์ผาสุขพินิจพิเคราะห์ปูนปั้นนาคสามเศียรชิ้นหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ ณ ฐานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ที่เนินบ้านเศรษฐีอินตา นาคมีลักษณะหัวโล้น อ้าปากออกมาเห็นริมฝีปากล่างเป็นแผ่นสามเหลี่ยมงอ จะงอยปากบนยกสูงเบียดจมูกวางอยู่กึ่งกลางโหนกคิ้ว ล้อมรอบด้วยเม็ดประคำไข่ปลา และใต้แผงอกนั้นมีรอยขีดเป็นเส้นๆ

“ลักษณะเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึงร่องรอยของอิทธิพลสมัยทวารวดีที่มีต่อหริภุญไชยอย่างชัดเจน เปรียบเทียบได้กับนาคสามเศียรปูนปั้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวคือ นาคที่เวียงเกาะกลางเป็นนาคโบราณ ยังไม่ได้พัฒนาไปเป็นนาคจะงอยปากยาวสวมกระบังศีรษะสูงเหมือนกับนาคล้านนาในยุคหลังที่มีอิทธิพลผสมระหว่างขอมกับพุกาม”

ผลการศึกษาของอาจารย์ผาสุขคราวนั้นได้เกิดพลวัตครั้งใหญ่ต่อเมืองลำพูน เมื่อดิฉันได้นำข้อมูลนี้เสนอต่อที่ประชุม ทั้งสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย พร้อมด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน หน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณด้านการดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ให้มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่เวียงเกาะกลาง

ถิ่นที่ชาวมอญเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระนางจามเทวี ซึ่งแต่เดิมเรามองไม่เห็นเค้าลางใดๆ ทั้งสิ้น ว่าบริเวณนี้จะมีความเก่าแก่ไปถึงยุคทวารวดีได้เลย

หากแต่นาคสามเศียรชิ้นนั้น ชิ้นที่อาจารย์ผาสุขตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีอย่างละเอียด อาจพบร่องรอยบางอย่างที่สะท้อนถึงสายสัมพันธ์จากทวารวดีสู่หริภุญไชยเชิงรูปธรรมอย่างแน่นอน

คำพูดที่ให้ความหวัง นำมาซึ่งโครงการศึกษาและขุดค้นโบราณสถานเวียงเกาะกลาง Mega Project ระหว่างปี 2548-2551 ใช้งบประมาณมากกว่า 13 ล้านบาท พบร่องรอยประติมากรรมปูนปั้นจำนวนมากกว่า 2,000 ชิ้น และพบฐานโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายเขาพระสุเมรุจมน้ำอยู่ (เรื่องราวดังกล่าวจะได้หาโอกาสนำเสนอต่อไปในอนาคต)

ยังไม่รู้ชะตากรรมเหมือนกันว่า หากครั้งนั้นปราศจากคำยืนยันที่มีน้ำหนักของอาจารย์ผาสุข เกี่ยวกับร่องรอยของทวารวดีที่เวียงเกาะกลางแล้วไซร้ โครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อตามหาร่องรอยแหล่งชาตสถานของพระนางจามเทวี จะมีขึ้นได้หรือไม่

จึงขอกราบคารวาลัยแด่ดวงวิญญาณของท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ นักโบราณคดีในดวงใจ ผู้เปิดโลกทัศน์ใหม่อันกว้างไกล อาจารย์ผู้เป็นที่รักของศิษย์ตลอดกาล ขอจงสถิตสราญ ณ สัมปรายภพนั้นเทอญ