จัตวา กลิ่นสุนทร : ช่วยกัน “เลือก” ฝ่าย “ประชาธิปไตย” ให้ถล่มทลายเสียทีเถอะ?

จําได้ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 มีการ “เลือกตั้ง” ทั่วไปหลังจากที่พรรค “ไทยรักไทย” ซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ได้เป็นรัฐบาลบริหารบ้านเมืองจนครบเทอม 4 ปี เป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่มาจากการ “เลือกตั้ง” โดยมี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็น “นายกรัฐมนตรี”

บังเอิญยังจำได้ต่อไปอีกว่า ออกจากบ้านไปใช้สิทธิ์พร้อมกันกับหุ้นส่วนชีวิต ตอนสายของต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ 14 ปีก่อน ยังหน่วยเลือกตั้งไม่ห่างจากบ้านพัก เป็นหน่วยซึ่งอาศัยอาคารของโรงเรียนในซอยนั้น

หลังเข้าไปตรวจดูรายชื่อกันเสร็จเรียบร้อย รับบัตรจากเจ้าหน้าที่จะเดินเข้าไปในคูหาเพื่อกาบัตรลงคะแนนก็ต้องตกใจ เพราะคูหาซึ่งเคยตั้งหันหน้าออก ได้เปลี่ยนเป็นหันหน้าเข้าผนัง

เมื่อหันหน้าเข้าผนัง การมองจากนอกคูหาก็จะสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ที่กำลังกาบัตรเลือกเบอร์อะไรซึ่งมองเห็นไม่ยากนักว่าเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองไหน?

แปลกันไม่ยากว่าเป็นด้วยเหตุผลกลใด “พรรคการเมืองใหญ่” จึงต้องทำอย่างนั้น

ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้ปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์เมื่อช่างภาพใช้เลนส์ซูมออกมาพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ใคร เลือกคนของพรรคไหน”?

คิดว่ายังพอจำกันได้

 

ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ไปตามประสาคนที่มีจิตวิญญาณของอาชีพผู้สื่อข่าว เป็นสื่อมวลชนมาถึงค่อนชีวิต ว่า “ทำไมจึงได้หันหน้าเข้าผนัง หันหลังออกมาข้างนอก” เจ้าหน้าที่ซึ่งดูท่าทางว่าน่าจะเป็นระดับหัวหน้าของหน่วยที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งแห่งนั้นกลับตอบแบบส่งเดชไม่รับผิดชอบว่า “เป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่” ซึ่งเขาคงคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องอะไร

อาจเป็นวันโชคไม่ดีของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งนายนั้น เพราะบังเอิญคนที่เขาตอบคำถามได้เคยได้รับการเลือกตั้งมาจากจังหวัดบ้านเกิดเพื่อมาให้รัฐสภาเลือกเป็น “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) ปี พ.ศ.2539 เพื่อจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับปี พ.ศ.2540 จึงได้ย้อนถามเจ้าหน้าที่นายนั้นว่า “รัฐธรรมนูญฉบับไหนกันล่ะ?” เขายังพยายามยืนยันดันต่อไปอีกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”?

ผมทนต่อไปไม่ไหวบอกกับเขาไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คุณว่านั้นเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540” ไม่น่าจะมีฉบับไหนใหม่กว่าอีกแล้วนะ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มาจากประชาชน ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งได้มีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (2539-2540) เรียกว่ามีส่วนร่วมในการช่วยกันออกแบบจนกระทั่งได้ประกาศใช้กับประเทศนี้มาจนถึงวันที่ถูก “ฉีกทิ้ง” โดยคณะทหารด้วยการ “รัฐประหาร” เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549

ไม่ได้ออกตัวแรงมากนัก เพราะจะกลายเป็นการรุกเร้าจนเกินเหตุไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา เพียงแต่เมื่อออกจากคูหาเลือกตั้งได้โทรศัพท์ไปยังกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “มติชน” แจ้งว่ามันมีเหตุการณ์อย่างที่กล่าวนี้เกิดขึ้น

ปรากฏว่ากองบรรณาธิการได้ทราบเรื่องก่อนตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วยเลือกตั้งแล้ว เพราะมันเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นจนทั่วประเทศ

เรื่องราวดำเนินต่อมาจนกระทั่งในที่สุด “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดที่ 2 (ระหว่างปี พ.ศ.2544-2549) ต้องประสบเคราะห์กรรม มีอันเป็นไปในที่สุด เนื่องจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2548 มีปัญหารัฐบาลอยู่ได้ไม่กี่เดือน (อดีต) นายกรัฐมนตรี (คนที่ 23) ทักษิณ ชินวัตร ต้อง “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งกันใหม่ (2549)

จึงเกิดเหตุการณ์ พรรค “ประชาธิปัตย์” และฝ่ายค้านอื่นๆ ทำการ “บอยคอต” (Boycott) ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง…?

 

เอาเรื่องเก่ามาเล่าขานเพื่อเตือนท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การเข้าสู่สภาอันทรงเกียรติเป็นผู้แทนของประชาชน รวมทั้ง “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นผู้แทนราษฎร ประชาชนไม่ต้องเลือก ถ้าพรรคการเมืองเสนอชื่อของท่านผู้นั้น ให้เป็น “แคนดิเดต” (Candidate) “นายกรัฐมนตรี”

เช่น พรรค “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อจะเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ให้ได้เป็นต่อ ซึ่งพรรคการเมือง ประชาชนทั่วไปเรียกว่าเป็นการวางแผน “สืบทอดอำนาจ” มาล่วงหน้าหลายปี

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นคณะที่ 5 ที่กำลังรับหน้าที่จัดการเลือกตั้งขณะนี้ท่ามกลางสายตาของพรรคการเมืองที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต่างจับจ้องการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่?

จะเกิดการเอนเอียงไปเข้าฝ่ายไหน หรือไม่ อย่างไร?

เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ 6 ได้รับการสรรหามาโดยรัฐบาลปัจจุบัน ที่มาจากการปฏิวัติ ใช้อำนาจพิเศษ ยุบ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ชุดก่อนหน้านี้ คือชุดที่ 4 และสรรหาชุดปัจจุบันมาแทน

 

สายตาของประชาชน นักการเมือง นักกฎหมายต่างๆ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลย่อมจับตาบทบาทของ กกต.ชุดนี้อย่างตาไม่กะพริบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการส่งเรื่องของพรรค “ไทยรักษาชาติ” (ทษช.) สู่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้ทำการยุบพรรคอย่างเร่งรีบ พยายามเตือนเนื่องด้วยไม่ต้องการเห็นจุดจบของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบบไม่ค่อยดีเหมือนอย่าง กกต.รุ่นก่อน (รุ่นที่ 2)…ได้แต่เตือนๆ มาด้วยความเป็นห่วงเป็นใยเนื่องจากว่าประชาชนทุกวันนี้มีความรู้สึกไว มีการตรวจสอบอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม หูตามากมายเกินกว่าตาสับปะรดทีเดียว

การ “เลือกตั้ง” ที่จะถึงนี้ (24 มีนาคม 2562) มีกฎกติกาอันพิลึกๆ แปลกๆ แตกต่างไปกับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในอดีต หรือจากประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สืบเนื่องมากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 มีรายละเอียดเยอะแยะเพื่อปิดกั้น “เผด็จการรัฐสภา” ขณะเดียวกันเหมือนเป็นการทำลายพรรคใหญ่ บางคนเรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ป้องกันคนโกงมาเป็นรัฐบาล เหมือนหยิบคะแนนของคนชนะมาให้คนแพ้ ซึ่งฟังดูดีมากทีเดียว

ในทางกลับกันได้กลายเป็นการดีไซน์รัฐธรรมนูญคล้ายเป็นการวางรากฐานให้กับ “ผู้นำรัฐบาล” ปัจจุบันซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชน เป็นรัฐบาลที่ทำการ “ยึดอำนาจ” มา เรียกกันแรงๆ ตรงๆ จากฝ่ายประชาธิปไตย ว่า “ปล้นอำนาจ” ของประชาชนมา

รัฐบาล “ประชาธิปไตย” ในโลกนี้ย่อมต้องมาจากประชาชนไม่ใช่มาจากการ “แต่งตั้ง” คนที่เสนอตัวโดลงสนามเพื่อให้ประชาชนเลือกกลับไม่มีอำนาจมากเท่าเทียมกับผู้ที่ได้รับการ “แต่งตั้ง” คือสมาชิก “วุฒิสมา” ซึ่งมีจำนวนถึง 250 คน เท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนทั้งประเทศ เพียง 500 คน

เมื่อวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คนลงคะแนนเสียงเลือกใครเป็นเบอร์ 1 ท่านผู้นั้นย่อมต้องได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” มากกว่าคนอื่นๆ

สำคัญที่สุดคือ “สมาชิกวุฒิสภา” ดำรงตำแหน่งถึง 5 ปี หาก “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปของรัฐบาลชุดข้างหน้าเป็นไปตามที่ได้วางแผนร่างกฎกติกาแบบไม่ค่อยมีมารยาท คือ เอาเปรียบผู้เสนอตัวแข่งขันท่านอื่นๆ อย่างมากมายไร้ความละอายเกิดขึ้นได้จริงๆ

แปลว่าเขาจะต้องได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” เป็นหัวหน้า “รัฐบาล” ต่อไปอีก 1 สมัย รวมแล้ว 8 ปี ด้วยมือของสมาชิกวุฒิสภาชุดที่เขาจิ้มเลือกมานี้แหละ

 

ก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วันจึงมีเรื่องแปลกให้ได้บันทึกได้จดจำกันเอาไว้บ้าง อย่างเช่น การหาเสียงโจมตีกันไปมา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในระบอบนี้ การยื่นหยิบข้อกฎหมายต่างๆ มาร้องเรียนเพื่อทำลายพรรคคู่แข่ง

ขณะที่รัฐบาลยังทำงานอย่างขะมักเขม้นไม่ได้รักษาการแต่อย่างใด

“คณะรัฐมนตรี” ยังอนุมัติโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

“นายกรัฐมนตรี” ยังอยู่ในตำแหน่ง แถมเป็น “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) อีกด้วย

ยังออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างที่ไม่ได้ทำมาเลยเมื่อ 4 ปีก่อน จะแปลกันว่าอย่างไรถ้าไม่ใช่การหาเสียง? ด้าน สนช.ก็ขยันออกกฎหมายกันจัง

พรรคการเมืองชวนให้ไปพูดจาดีเบต (Debate) กับผู้เสนอตัวเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนอื่นๆ ท่านก็บอกว่าโจมตีกัน ไม่มีสาระ ต้องบอกกับประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนว่า “ประชาธิปไตยอยู่ในมือของท่านแล้ว” (อีกครั้ง)

24 มีนาคม 2562 ช่วยกันเลือกข้าง “ประชาธิปไตย” ให้ถล่มทลายเสียทีเถอะ