เจ้าน้อยศุขเกษม

ล้านนา-คำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

oiurdhrsehs

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เจ้าน้อยศุขเกษม”

เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่ เกิดปีมะเส็ง พ.ศ.2423 เป็นบุตรชายคนโตใน เจ้าแก้วนวรัฐ กับ แม่เจ้าจามรีมหาเทวี มีน้องสาว 1 คน และน้องชาย 1 คนคือ เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ และ เจ้าวงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่

เมื่ออายุได้ 15 ปี เจ้าน้อยศุขเกษม เข้าศึกษาที่ St. Patrick”s School ซึ่งอยู่ในเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า วันหนึ่ง เจ้าน้อยศุขเกษม ไปเดินเที่ยวตลาด และพบเข้ากับมะเมียะ สาวน้อยแม่ค้าขายบุหรี่ ด้วยความสวยงามอ่อนหวานของสาวน้อยชาวพม่า คนทั้งสองบังเกิดจิตปฏิพัทธ์ และได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา

ครั้งหนึ่งในวันพระ คู่รักทั้งสองไปทำบุญไหว้พระด้วยกันตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพม่า ทั้งคู่ได้กล่าวคำสาบานต่อหน้าพระธาตุไจ้ตะหลั่นว่า จะรักกันเรื่อยไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน

หากผู้ใดทรยศต่อความรัก ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น

แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขของเจ้าน้อยและมะเมียะนั้นแสนสั้น เพราะไม่นานเจ้าน้อยศุขเกษมก็ต้องเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่

เจ้าน้อยจึงได้ตัดสินใจให้มะเมียะปลอมตัวเป็นชายติดตามขบวนมายังเมืองเชียงใหม่ในฐานะเพื่อนหนุ่มชาวพม่า

 

ฝ่ายเจ้าแก้วนวรัฐผู้บิดาหมั้นหมายเจ้าหญิงบัวนวล สิโรรส ธิดาคนโตของเจ้าสุริยวงษ์ ให้เจ้าน้อยศุขเกษมก่อนแล้ว เจ้าน้อยจึงเปิดเผยเรื่องของตนกับมะเมียะ

แต่ทางครอบครัวไม่สามารถรับมะเมียะเป็นสะใภ้ได้

เพราะในขณะนั้นเจ้าน้อยเป็นที่อุปราช จะเป็นเจ้าหลวงองค์ต่อไป ย่อมไม่ควรมีภรรยาเป็นหญิงต่างชาติ

อีกทั้งสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น อังกฤษกำลังแผ่อำนาจอยู่ในดินแดนใกล้เคียง มะเมียะซึ่งเป็นคนในชนชาติภายใต้การปกครองของอังกฤษ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองที่ใหญ่โตจนเกิดความเดือดร้อนได้ในภายหลัง

มีเรื่องเล่าว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีผู้มีอิทธิพลต่อเจ้าเชียงใหม่ทั้งมวล ได้ขอให้เจ้าพ่อและเจ้าแม่ยื่นคำขาดต่อเจ้าน้อยให้ส่งตัวมะเมียะกลับเมืองมะละแหม่ง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ในวันเดินทางกลับเมืองมะละแหม่งของมะเมียะ เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษม พูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ เธอก็ร้องไห้คร่ำครวญอย่างคนหัวใจแตกสลาย

เจ้าน้อยศุขเกษมได้รับปากกับมะเมียะว่าตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระธาตุไจ้ตะหลั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่

และได้ยืนยันกับมะเมียะว่าภายใน 3 เดือน จะกลับไปหาเธอ

ท้ายที่สุดมะเมียะจึงได้คุกเข่าลงกับพื้นก้มหน้าสยายผมออกเช็ดเท้าของเจ้าน้อยศุขเกษมด้วยความอาลัยก่อนที่จะตัดใจขึ้นไปบนกูบหลังช้างเพื่อเดินทางกลับ

 

หลังจากวันนั้น เธอก็เฝ้าแต่รอคอยเจ้าน้อยจนครบกำหนด 3 เดือนที่เจ้าน้อยศุขเกษมรับปากไว้ แต่ก็ไร้วี่แวว

ราวต้นปี พ.ศ.2448 เจ้าน้อยศุขเกษมได้รับตำแหน่ง ร้อยตรีทหารบก มีบรรดาศักดิ์ เป็น “เจ้าอุตรการโกศล” และได้เข้าพิธีสมรสกับเจ้าหญิงบัวชุม โดยมีเจ้าดารารัศมีและเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์เป็นผู้จัดงานมงคลสมรสให้

มะเมียะเมื่อทราบข่าวการสมรสก็เสียใมาก จนกระทั่งตัดสินใจบวชเป็นแม่ชีที่เมืองมะละแหม่ง

ในปลายปีเดียวกันนั้นเจ้าน้อยศุขเกษม ได้เดินทางกลับขึ้นมาปฏิบัติราชการที่เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะ จึงตัดสินใจเดินทางมาขอเข้าพบเจ้าน้อยศุขเกษม เป็นครั้งสุดท้าย

แต่เจ้าน้อยกลับกลายเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก และไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้อง เพียงแต่มอบหมายให้พี่เลี้ยงคนสนิท นำเงินจำนวน 800 บาท ไปมอบให้แก่แม่ชีเพื่อทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นที่ระลึก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อยศุขเกษมต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด

มะเมียะได้ครองชีวิตเป็นแม่ชีที่มะละแหม่งตามความตั้งใจ จนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ.2505 รวมอายุได้ 75 ปี ส่วนเจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่ ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2456 รวมชันษาเพียง 33 ปี

กล่าวกันว่า ความรักที่ไม่สมหวังมักจะเป็นที่สะเทือนใจ

เรื่องราวความรักอันลึกซึ้งระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษม และมะเมียะ จึงกลายเป็นตำนานกล่าวขานมาจนทุกวันนี้