คนมองหนัง | ชีวิตจริงของ “The Favorite”

คนมองหนัง

หนึ่งในภาพยนตร์ชิงรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากก็คือ “The Favourite” ผลงานของผู้กำกับฯ ชาวกรีก “ยอร์กอส ลันธิมอส” ซึ่งเล่าเรื่องราวของราชสำนักอังกฤษต้นศตวรรษที่ 18 ในรัชสมัย “ควีนแอนน์”

หนังย้อนยุคเรื่องนี้มุ่งเน้นเนื้อหาไปยังกลอุบายทางการเมืองและเงื่อนปมความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งก่อตัวขึ้นในรัฐที่ศูนย์กลางอำนาจผูกติดอยู่ในมือของสตรีสามราย

นอกจากตัวละคร “ควีนแอนน์” ซึ่งส่งให้ “โอลิเวีย โคลแมน” คว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้แล้ว

อีกสองตัวละครหลักของ “The Favourite” ก็ได้แก่ “ซาราห์ เชอร์ชิล” ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ (ราเชล ไวซ์) และ “อบิเกล มาแชม” (เอ็มม่า สโตน) ซึ่งล้วนเป็น “คนโปรด” ที่ต่างแย่งชิงอำนาจในการครอบงำควีน

อย่างไรก็ดี “เอมี่ ฟรัวเดอ” ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ บัลติมอร์ เคาน์ตี้ ซึ่งสนใจศึกษาชีวประวัติและบทบาทของสตรีในสหราชอาณาจักรยุคต้นสมัยใหม่ ผู้เคยเขียนถึง “ซาราห์ เชอร์ชิล” ไว้ในหนังสือ “Silent Partners : Women as Public Investors during England”s Financial Revolution, 1680-1750” ได้ท้วงติงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า

แม้หนังจะประสบความสำเร็จพอสมควรในการถ่ายทอดชีวิตของสตรีอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองเมื่อต้นศตวรรษ 18 แต่ลันธิมอสก็ยังฉายภาพอำนาจอันไพศาลของสตรีเหล่านั้นได้ไม่ครบถ้วนนัก

โดยเฉพาะในกรณีของ “ซาราห์ เชอร์ชิล”

ณช่วงเวลาหนึ่ง “เลดี้ซาราห์” คือผู้มีอำนาจตัวจริงเบื้องหลัง “ควีนแอนน์” โดยมีส่วนกำหนดนโยบายด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และการทหารของประเทศ ดังเช่นที่ภาพยนตร์เรื่อง “The Favourite” นำเสนอเอาไว้

ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระยังเคยได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลพระคลังข้างที่ นอกจากนี้ ขณะที่สามีของเธอคือ “นายพลจอห์น เชอร์ชิล” ดยุคแห่งมาร์ลบะระ มีภาระต้องนำกองทัพแห่งสมเด็จพระราชินีไปออกรบ “เลดี้ซาราห์” ก็เลยต้องทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัวด้วยในอีกด้านหนึ่ง

บรรดาปรปักษ์ทางการเมืองมักกล่าวโทษว่าคู่สามี-ภรรยาแห่งตระกูลเชอร์ชิลมีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง และใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองไปเสาะแสวงหาความร่ำรวยส่วนตัวในทางที่ผิด

แต่นักวิชาการอย่างฟรัวเดอเปิดเผยข้อมูลอีกมุมว่า “ซาราห์ เชอร์ชิล” มีคุณสมบัติประการหนึ่ง ที่หลายๆ คนมักประเมินเธอต่ำกว่าความเป็นจริงมาโดยตลอด นั่นคือ การรู้จักเลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ

เมื่อย้อนพิจารณาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่รุ่นบุกเบิกของตลาดหุ้นอังกฤษ โดยเธอนำเงินของครอบครัวไปร่วมลงทุนในกิจการธนาคารชาติและบริษัทเอกชนหลายแห่ง

กระทั่งเมื่อ ค.ศ.1704 “เลดี้ซาราห์” มีสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์รวมกันเป็นมูลค่ามากกว่า 1.9 หมื่นปอนด์ หรือตีเป็นค่าเงินปัจจุบันได้เกิน 1 แสนล้านบาท!

ในฐานะนักลงทุน “ซาราห์ เชอร์ชิล” มีชื่อเสียงอย่างมาก จากกรณีที่เธอรอดพ้นการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมหาศาลในวิกฤต “ฟองสบู่แตกเซาธ์ซี” เมื่อปี 1720

ก่อนหน้านั้น บรรดาเศรษฐีเมืองผู้ดีต่างพร้อมใจกันร่วมลงทุนในบริษัท “เซาธ์ซี” ซึ่งได้สัมปทานค้าขายผูกขาด (รวมถึงค้าทาส) ในอาณานิคมอเมริกาใต้ของสเปน

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนก่อนวิกฤตฟองสบู่แตก ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระได้เทขายหุ้นเซาธ์ซีทิ้ง เพราะรู้สึกว่ากำลังมีการ “ปั่นหุ้น” ของบริษัทดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์

การคาดการณ์อันแม่นยำเช่นนั้น ส่งผลให้เธอได้รับเงินตอบแทนมาแบบสบายๆ 1 แสนปอนด์ สวนทางกับเพื่อนนักลงทุนส่วนใหญ่ที่พากัน “เจ๊งระนาว” โดยถ้วนหน้า

ศาสตราจารย์ฟรัวเดอบรรยายต่อว่า “เลดี้ซาราห์” ไม่เหมือนบรรดาตัวละครชนชั้นนำชายในหนัง “The Favourite” ที่มัวโง่เง่าสาละวนอยู่กับการเล่นพนันวิ่งแข่งเป็ด เพราะนายหญิงแห่งครอบครัวเชอร์ชิลไม่ชอบเดิมพันอะไรโดยไม่จำเป็น

ทว่าดัชเชสแห่งมาร์ลบะระคือนักลงทุนผู้ฉลาดหลักแหลม ซึ่งการกระทำและการตัดสินใจของเธอแค่คนเดียว สามารถส่งอิทธิพลครอบงำตลาดได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ต่างกับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ในยุคนี้

ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจอีกประการหนึ่งของ “ซาราห์ เชอร์ชิล” ยืนยันได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า เธอสามารถปล่อยเงินกู้จำนวนถึง 2 แสนปอนด์ให้แก่รัฐบาลสหราชอาณาจักร ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “โรเบิร์ต วอลโพล”

กลับเป็นอีกหนึ่ง “คนโปรด” ของ “ควีนแอนน์” และ “ผู้ชนะ” ในหนัง “The Favourite” อย่าง “อบิเกล มาแชม” เสียอีก ที่ไม่มีบทบาทโดดเด่นนักในประวัติศาสตร์ทางยาว

เพราะแม้ “เลดี้อบิเกล” จะกระตือรือร้นในทางการเมือง โดยเอียงข้างพรรคทอรี่ส์ (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพรรคอนุรักษนิยม) แต่เธอก็ถอนตัวจากวงจรอำนาจไปแบบดื้อๆ หลังสิ้นสุดรัชสมัย “ควีนแอนน์”

ผิดกับ “เลดี้ซาราห์” ที่โปรพรรควิก ซึ่งไม่ยินยอมยุติบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจของตนเอง แม้เมื่อเธอและครอบครัวจะตกอับจนหลุดจากวงจรอำนาจในราชสำนัก “ควีนแอนน์” ไปแล้ว (ก่อนที่ตระกูลเชอร์ชิลจะได้รับความไว้วางใจในรัชสมัยถัดมา)

ศาสตราจารย์เอมี่ ฟรัวเดอ สรุปความเห็นเกี่ยวกับนักการเมืองชื่อ “ซาราห์ เชอร์ชิล” เอาไว้ว่า แม้เลดี้ผู้นี้จะใช้อำนาจอย่างสนุกมือสมัยเป็น “คนโปรด” ของพระราชินี แม้เธอจะไม่ใช่ “คนดี” มากมาย รวมทั้งอาจฉวยใช้สถานภาพสูงส่งไปกอบโกยผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและครอบครัว

แต่สิ่งที่ “เลดี้ซาราห์” ปฏิบัติ ก็มิได้แตกต่างจากพฤติกรรมของชนชั้นนำชายส่วนใหญ่ในตลอดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์

หากเทียบเคียงกับชายเหล่านั้น นับว่าดัชเชสแห่งมาร์ลบะระไม่ได้กระทำอะไรที่แปลกใหม่หรือก่อเหตุผิดแหวกแหกกฎอยู่เพียงผู้เดียว

เธอแค่ประพฤติตนเหมือนที่ลูกผู้ชายรายอื่นเขาทำกัน ในฐานะลูกผู้หญิงคนหนึ่ง

เก็บความจาก “The real women of “The Favourite” included an 18th-century Warren Buffett” โดย Amy Froide เว็บไซต์ https://theconversation.com/the-real-women-of-the-favourite-included-an-18th-century-warren-buffett-110345