อะไรคือ “อาวุธลับ” ของ “อาลีบาบา” ?

“มดการเงิน”

ช่วงที่ผ่านมาวงการ “สตาร์ตอัพ” บ้านเรา

อาจจะมีข่าวคราวน้อยลงไปบ้าง

ปกติก็คงจะตามกระแสรัฐบาล

ช่วงที่โปรโมตมากๆ ก็จะคึกคักเป็นพิเศษ

ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง เรื่อง “การเมือง” ก็จะเด่นเป็นพิเศษ

สตาร์ตอัพทุกบริษัทที่ก่อตั้งขึ้น

ก็มุ่งหวังที่จะเป็น “ยูนิคอร์น” ด้วยกันทั้งสิ้น

ยูนิคอร์นคือ “ม้ามีเขา” ในตำนาน

สื่อถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ถ้าเป็นแนวสตาร์ตอัพ ก็จะหมายถึงสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงถึง “หนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ” นั่นเอง

แน่นอนว่าสตาร์ตอัพเมืองไทยก็คงจะท้าทายอยู่ไม่น้อย

ถ้าจะพูดถึงสตาร์ตอัพที่เป็น “ยูนิคอร์น” ตัวเป้งๆ ที่เรารู้จักกันดี

ก็คงจะไม่พ้นสิ่งที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน

อูเบอร์ (Uber) แกร็บ (Grab) แอร์บีแอนด์บี (Airbnb)

มูลค่าบริษัทที่สูงปรี๊ด เล็งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้

แต่ทราบมั้ยครับว่า “ยูนิคอร์นตัวพ่อ” ใหญ่ที่สุดนั้น

หลายๆ ท่านน่าจะรู้จักบริษัท “ลาซาด้า (Lazada)”

บริษัทอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ในไทย

ที่เชื่อว่าหลายคนคงจะเสียเงินให้อยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะช่วงวันช้อปปิ้ง 11-11 ที่ผ่านมา

ลดราคากันถล่มทลาย 50% บ้าง 70% บ้าง

ปี 2016 ลาซาด้านั้นถูกซื้อหุ้นใหญ่ไปโดยบริษัท “อาลีบาบา”

อีคอมเมิร์ซระดับโลก ที่ก่อตั้งโดย “แจ๊ก หม่า”

วันก่อนผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อว่า “สมาร์ต บิสซิเนส (Smart Business)”

บอกเล่าเรื่องราวแนวทางการสร้างธุรกิจของอาลีบาบา

เขียนโดย “หมิง เจิ้ง (Ming Zeng)” มือขวาของแจ๊ก หม่า

REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ผู้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดด้านกลยุทธ์องค์กร หรือ Chief Strategy Officer ของอาลีบาบานั่นเอง

ถ้าเป็นในสามก๊ก ก็คงจะเปรียบเป็น “ขงเบ้ง” หรือ “สุมาอี้” อะไรประมาณนี้

หมิงเขียนหลายเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ

เรื่องแรก เขาบอกว่า คนมักจะเข้าใจผิด

เรียกอาลีบาบาว่าเป็นหมือนกับ “อเมซอนของเมืองจีน”

หลายๆ ท่านน่าจะรู้จักบริษัท “อเมซอน” อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของประเทศอเมริกา

ที่เจ้าของนามว่า “เจฟฟ์ เบซอส” ก่อตั้ง และกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกไปแล้ว

ดูผิวเผิน อาลีบาบาก็เหมือนกับตลาดนัดออนไลน์ให้คนมาซื้อขายของกัน

คล้ายกับอเมซอนดอตคอมในประเทศอเมริกา

แต่หมิงบอกว่า เป็นความเข้าใจที่ผิดมาก

เพราะอาลีบาบานั้น มีความสามารถไม่ใช่แค่ตลาดนัด คนซื้อ คนขาย

แต่เป็นการช่วยคนขายของ ให้สามารถผลิตของและส่งของได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

อาลีบาบา นอกจากที่มีเว็บไซต์ตลาดนัดออนไลน์เกือบสิบเว็บไซต์แล้ว

เขายังมีสิ่งเหล่านี้ที่เป็นอาวุธหลัก ที่จะนำอาลีบาบาขึ้นแท่นเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ของโลก

ได้แก่ บริษัท แอนต์ ไฟแนนเชียล ที่ทำเรื่องระบบการจ่ายเงินที่เรียกว่า “อาลีเพย์ (Alipay)”

และสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 นาที

อาลีบาบามี “ไคเนียว เน็ตเวิร์ก (Cainiao Network)” ที่เหมือนระบบข้อมูลโลจิสติกส์

ไม่ต่างจากบริษัทส่งของระดับโลกอย่าง FedEx หรือ UPS

และที่สำคัญที่สุดคือ มี “อาลีบาบา คลาวด์ (Alibaba Cloud)”

ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางไอที ที่ทำให้การเก็บและประมวลผลของข้อมูลมีประสิทธิภาพมาก

ไม่ต้องพึ่งพาคลาวด์ของบริษัทกูเกิล หรืออเมซอน เจ้าใหญ่ของโลก

นอกจากนั้น อาลีบาบายังเป็นเจ้าของยูทูบ (Youtube สัญชาติจีน ที่เรียกว่า “ยูคู (YouKu)” อีกด้วย

เรียกได้ว่ามีเทคโนโลยีและสื่ออยู่ในมือครบครัน

พร้อมที่จะ “สนับสนุน” ผู้ประกอบการให้สร้างธุรกิจได้อย่างง่ายดาย

ถ้าเปรียบ “อเมซอน” เหมือนกับ “ตลาดนัด” ให้เช่าพื้นที่

“อาลีบาบา” ก็คงเหมือน “ตลาดนัดติดแอร์ที่มีรถบรรทุกช่วยส่งของ มีช่องทีวีช่วยโปรโมตสินค้า”

“มีระบบจ่ายเงินที่คล่องตัว แถมมีเงินก้อนให้ยืมเอาไปซื้อของมาทำสินค้าก่อนด้วย”

ที่อาลีบาบาทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด

นอกจากมี “เงินแล้ว”

ก็มีหลักการทำงานสองข้อที่เป็นหัวใจ

ข้อแรก “สร้างเครือข่ายพันธมิตร”

อาลีบาบาไม่เชื่อในการควบรวมทำทุกอย่างเอง

แต่เชื่อการสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” ให้ทุกคนเข้ามาอยู่และทำงานกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ

เหมือนสร้างเมือง ตัดถนน ไว้ให้ ปล่อยสัญญาณมือถือ อินเตอร์เน็ต ให้คนสื่อสารกันได้

แต่การปลูกบ้าน ซื้อรถยนต์ มาวิ่งบนถนน และการย้ายเข้ามาในเมือง ใช้ชีวิตนั้น

ก็แล้วแต่ว่าใครอยากจะมีบทบาทแบบไหน

ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย

แล้วแต่กำลังของแต่ละคน

พันธมิตรทางการค้าของ “อาลีบาบา” มีตั้งแต่

คนขาย คนซื้อ คนผลิต คนโฆษณา คนส่งของ คนเก็บเงิน ฯลฯ

คนเหล่านี้เข้ามาช่วยกันทำให้มี “ของ” เกิดขึ้นบนโลก

ที่ราคาที่ดีที่สุด มีคุณภาพมากที่สุด และถึงมือผู้บริโภคเร็วที่สุด

แต่ละคนก็ได้ส่วนแบ่งไปตามงานที่ตัวเองทำ

ข้อสอง เป็นเรื่องของ “การใช้ข้อมูลตัดสินใจตั้งแต่ต้นจนจบ”

อาลีบาบาเชื่อในเรื่องของการทำให้ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในรูปแบบ “ดิจิตอล” ทั้งหมด

ไม่มีระบบ “กระดาษ” ใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อมูลรวมเป็นถังหนึ่งถัง ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และตัดสินใจได้

โดยที่ “ไม่ใช้มนุษย์” ในการตัดสินใจ

เพราะข้อมูลมหาศาลที่ “อาลีบาบา” มีนั้น

มีมากเกินกว่าศักยภาพของมนุษย์จะวิเคราะห์ได้อย่างครบถ้วน

แถมวิเคราะห์ถูกบ้าง ผิดบ้าง มาตรฐานควบคุมยาก

การที่ใช้ “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยประมวลผล

จะทำให้การตัดสินใจมีการใช้ข้อมูลที่ซับซ้อนได้มากขึ้น

มีความรวดเร็วมากขึ้น และที่สำคัญ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้รวดเร็วกว่ามนุษย์

การจะทำให้ความสามารถนี้เกิดขึ้นได้นั้น

ต้องใช้ “มนุษย์” ตัดสินใจให้น้อยที่สุด

ถ้าจะมีสักแห่งที่ทำให้เราเริ่มเห็นทางว่ามนุษย์ในอนาคตจะโดนแย่งงานไปทำแค่ไหน

ที่ “อาลีบาบา” น่าจะเป็นแห่งแรกๆ ที่ทำให้เห็นเป็น “รูปธรรม” ได้ชัดเจน

ตามที่เขาได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น

นี่แหละครับ “อาลีบาบา”

ไม่ใช่ “อเมซอนของเมืองจีน”

แต่คือบริษัทจีนระดับโลก

ที่อเมซอนก็ยังหนาว

สตาร์ตอัพที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

ก็คือ “แอนต์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial)”

มีมูลค่าสูงถึง “หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ”

แต่ก็เป็นเพียงบริษัทลูกแห่งหนึ่งของอาณาจักรอาลีบาบา ของแจ๊ก หม่า แค่นั้น

หนาวมั้ยครับ หนาวมั้ย