ต่างประเทศ : ปฏิรูป รธน.ฉบับทหาร ก้าวที่ท้าทายของ รบ.ซูจี!

ตบเท้ากันออกมาส่งเสียงต้านกันเซ็งแซ่ของเหล่านายทหารระดับสูงในกองทัพเมียนมา หลังจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรครัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือนเมียนมา เสนอให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญปกครองประเทศฉบับปี ค.ศ.2008 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ทหารเป็นผู้ร่างและบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

กระแสเสียงต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกองทัพมีไล่เรื่อยมาตั้งแต่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ซึ่งออกมาประเดิมเป็นรายแรกๆ โดยการให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน

พลจัตวาหม่อง หม่อง แกนนำสมาชิกรัฐสภาเมียนมาในสัดส่วนของกองทัพ นายอู โซ เต็ง ส.ส.พรรคยูเอสดีพีที่ก็เป็นพรรคการเมืองตัวแทนของฝ่ายทหาร

ไปจนถึงอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่เป็นอดีตนายพลเกษียณอายุราชการแล้ว ต่างออกมาให้ความเห็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยการเน้นย้ำคล้ายๆ กันว่าจะเป็น “อันตราย” หากมีการไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็น “องค์ประกอบสำคัญ” ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008

แม้แต่ละคนที่ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านอย่างหนักดังกล่าว จะไม่ระบุเจาะจงว่าองค์ประกอบหรือสิ่งที่เป็นแก่นสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับทหารร่างนี้คือตรงจุดใดที่ไม่ควรจะไปแตะต้อง

แต่การดาหน้าออกมาท้วงติงไม่เห็นด้วยดังกล่าว พอจะบ่งบอกถึงอาการหวั่นกลัวที่มีอยู่ข้างในใจของคนในกองทัพอยู่ไม่น้อยว่าจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจที่ตนเองกุมไว้อยู่ในมือ

 

ตอนนี้พรรคเอ็นแอลดีเดินหน้าไปแล้วในย่างก้าวแรกด้วยการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เพื่อดูแนวทางดำเนินการในเรื่องนี้

ซึ่งข้อเสนอนี้ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมียนมาไปแล้วเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน

โดยคณะทำงานชุดนี้จะประกอบด้วยสมาชิกคณะทำงาน 45 คน ที่จะเป็นตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งตามรายงานระบุว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรคเอ็นแอลดีในฐานะพรรครัฐบาล 18 คน จากฝ่ายทหาร 8 คน และที่เหลือเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่นๆ

การผลักดันการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับทหารร่างของพรรคเอ็นแอลดีถูกมองว่าเป็นการเปิดฉากการท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของรัฐบาลซูจีต่อกองทัพที่แชร์อำนาจบริหารประเทศร่วมกันมานานถึง 3 ปี

ซึ่งก็เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับทหารร่างนี้เอง โดยการเคลื่อนไหวท้าชนครั้งนี้ของพรรคเอ็นแอลดีสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนที่จับตามองสถานการณ์การเมืองในเมียนมาอยู่พอควร

เพราะการทำงานในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลซูจีดูจะประนีประนอมกับกองทัพอยู่มาก ผิดจากช่วงก่อนหน้าที่นางซูจีจะนำพรรคเอ็นแอลดีชนะเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์จนได้จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากไม่เพียงรัฐบาลนางซูจีจะเผชิญข้อจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ขีดขั้นอำนาจในการบริหารประเทศของรัฐบาลซูจีเอาไว้ จนต้องยอมรอมชอมกับทหารเท่านั้น

แต่ทั้งรัฐบาลซูจีและกองทัพเมียนมาต่างยังตกอยู่ที่นั่งเดียวกันจากการเผชิญแรงกดดันจากประชาคมโลก โดยเฉพาะในปัญหาวิกฤตชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา

ประเด็นที่ถูกจับตาพูดถึงกันอย่างมากหากจะมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเมียนมา ซึ่งหลายฝ่ายรวมถึงพรรคเอ็นแอลดีชี้ว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

หนึ่งในนั้นคือมาตรา 14 ที่มีการบัญญัติให้สงวนที่นั่ง 25 เปอร์เซ็นต์ในรัฐสภาให้กับตัวแทนจากกองทัพที่จะได้รับการแต่งตั้งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาตราที่ 17 ที่เปิดทางให้กองทัพมีอำนาจควบคุมกระทรวงสำคัญด้านความมั่นคง เช่น กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย

หรือมาตรา 436 ที่บัญญัติไว้ว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราใด จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภามากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งถือเป็นการให้อำนาจวีโต้คัดค้านแก่กองทัพไปโดยปริยาย เพราะการจะได้เสียงสนับสนุนเกินกว่า 75 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถ้าปราศจากความเห็นชอบจากทหาร

อีกมาตราที่มีผลต่อนางซูจีโดยตรง และเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้นางซูจีได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จนต้องมีการรังสรรค์ตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ มาให้นางซูจีดำรงตำแหน่งขัดตาทัพไปก่อนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเอ็นแอลดี

นั่นก็คือมาตรา 59 ที่กำหนดห้ามบุคคลที่มีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ โดยนางซูจีนั้นอย่างที่ทราบว่าสามีผู้ล่วงลับเป็นชาวต่างชาติและลูกชายก็ยังถือสัญชาติอังกฤษด้วย

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ยังคงอยู่ในความอึมครึมว่าความพยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญของรัฐบาลซูจีจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ หรือจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นในมาตราใดที่ทุกฝ่ายจะบรรลุความเห็นพ้องร่วมกันได้ และจะเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศเมียนมาอย่างแท้จริง

แต่สิ่งหนึ่งที่มีการวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตกันก็คือ การผลักดันเรื่องนี้ของรัฐบาลซูจีมีขึ้นในขณะที่เมียนมากำลังจะเข้าใกล้ฤดูการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศอีกครั้งซึ่งจะมีขึ้นในปีหน้า

จึงไม่วายที่จะถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะเรียกเสียงสนับสนุนเพื่อหวังผลทางการเมือง

แต่หากโลกสวยหน่อยก็อาจมองว่าเป็นความมุ่งมั่นที่จะทำตามคำมั่นสัญญาที่พรรคเอ็นแอลดีให้ไว้ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งครั้งก่อนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับทหารร่าง

เพียงแต่ว่าที่ผ่านมายังทำไม่สำเร็จ!