ศัลยา ประชาชาติ : แล้งนี้แล้งนาน และร้อนขึ้น 1-2 องศา อีสานวิกฤต เขื่อนใหญ่น้ำแห้งขอด

สถานการณ์ภัยแล้งกำลังหวนกลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทยประจำปี 2562 เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะ “ลากยาว” ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างน้อย

โดยฤดูร้อนปีนี้มีการคาดหมายว่าจะร้อนมากกว่าปี 2561 และร้อนมากขึ้นกว่าปรกติ 1-2 องศาเซลเซียส

และที่สำคัญก็คือ ฤดูร้อนมาเร็วและจะนานกว่าทุกปีเพราะได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนิโญ

ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งดูแลอ่างเก็บน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทราบว่า มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำ “ต่ำกว่า” เกณฑ์ปรกติ LRC จำนวน 3 แห่ง

ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร และเขื่อนจุฬาภรณ์

 

สอดคล้องกับข้อมูลจากฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ชี้ชัดในขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำจำนวน 3 อ่างที่มีปริมาตรน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่

เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่แค่ 99 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 5 เขื่อนทับเสลา 23 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 16 และเขื่อนกระเสียว 27 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10

ในขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 45 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36

ส่วนเขื่อนสิรินธรก็น่าเป็นห่วงมากเพราะเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้แค่ 128 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 11 เท่านั้น

โดยปริมาณน้ำทั้งหมดนี้จะถูกใช้ไปอีก 2 เดือนครึ่ง และยังจะต้อง “ลุ้น” ต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่าจะสิ้นสุดฤดูร้อนนั้นจะมีฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งจะมีผลต่อกรุงเทพมหานครโดยตรงนั้น ปรากฏว่า เขื่อนหลัก 4 แห่งได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทั้ง 4 อ่างรวมกันมีน้ำใช้การได้ 7,656 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42

เฉพาะเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 6,903 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42

โดยปริมาณน้ำของทั้ง 4 เขื่อนนี้หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 จะน้อยกว่าประมาณร้อยละ 12 (9,879 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 54)

แต่ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำปี 2560 ที่มีน้ำใช้การได้อยู่ที่ 6,573 ล้าน ลบ.ม.

 

ในภาพรวม กรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) ณ ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้รวม 39,570 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561) โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศไว้ที่ 23,100 ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม. การรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,440 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 303 ล้าน ลบ.ม. ในขณะนี้ใช้น้ำไปแล้ว 15,026 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนการจัดสรรน้ำ

เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งไว้ที่ 8,000 ล้าน ลบ.ม.

แยกเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่อการเกษตร 5,410 ล้าน ลบ.ม.

จนกระทั่งถึงวันนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,334 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของแผน

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า แผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งในภาพรวมและเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ถูกใช้ไปแล้ว “เกินกว่า” ครึ่งของแผน (ภาพรวมใช้น้ำไปแล้ว 65% ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใกล้กับ 80%) ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นฤดูแล้งมาได้ไม่กี่วัน ประกอบกับแผนการจัดสรรน้ำถูกออกแบบไว้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง 30 เมษายน 2562 หรือยังเหลือระยะเวลาอีก 2 เดือน ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฤดูร้อนจะยาวนานไปถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างน้อย

นั่นหมายความว่า จะยังไม่เข้าสู่ช่วงฤดูฝนก่อนกลางเดือนพฤษภาคมแน่นอน ดังนั้น จึงกลายเป็นความ “เสี่ยง” ที่จะต้องบริหารจัดการกรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่เหลืออยู่จะไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค สถานการณ์ดังกล่าวได้เริ่มเห็นผลชัดเจนเมื่อมีการปลูกพืชเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว

ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เริ่มต้นรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และที่สำคัญก็คือ ขอให้งดการปลูกข้าวนาปรังรอบ 3 โดยเด็ดขาดเพราะไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรมให้ได้อีก

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้จะมีการจัดสรรน้ำเกินกว่าครึ่งหนึ่งของแผนไปแล้ว แต่ยังสามารถประคับประคองปริมาณน้ำที่เหลือเพียงพอที่จะผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งปีนี้ไปได้ หากไม่เกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง

แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณเขื่อนหลักอย่างเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร และเขื่อนจุฬาภรณ์ ครอบคลุมจังหวัดอุบลราชธานี-ขอนแก่น-ชัยภูมิ และจังหวัดข้างเคียง นับว่าเข้าใกล้ขั้น “วิกฤต”

เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 3 เหลือน้อยมาก และที่ผ่านมาไม่มีน้ำไหลลงอ่าง มีแต่ต้องระบายออกไปเฉลี่ยวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. นั้นหมายถึงต้องกันน้ำไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรได้อีก ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ดูแลเขื่อนสิรินธรและเขื่อนปากมูลแจ้งเตือนออกมาแล้วว่า จำเป็นต้องรักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูลไว้ที่ 107.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง-รทก.เพื่อรักษาน้ำปริมาณนี้ไว้ใช้อุปโภค-บริโภคจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งปีนี้ไปให้ได้

ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่เหลือน้ำใช้การได้แค่ 99 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 ได้ออกมารณรงค์ให้ประหยัดการใช้น้ำอย่างหนัก น้ำที่เหลืออยู่จะใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น และได้ติดต่อไปที่กองบินฝนหลวงเพื่อขอทำฝนเทียมบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว

แม้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จะออกมายืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ถือว่าสถานการณ์น้ำวิกฤต แต่ก็ยอมรับว่า “ในภาคอีสานเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนแล้ว” โดยเร่งให้ประปาสาขาหาแหล่งน้ำดิบสำรองไว้และเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีกิจกรรมการใช้น้ำมาก

นับจากนี้ไปสถานการณ์น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่งจะเริ่มวิกฤตไม่เพียงแต่ในเขตชลประทานใหญ่ๆ แต่รวมไปถึงพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีหมู่บ้านเป็นจำนวนมากเริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคแล้ว โดยจะต้องรอฝนตามฤดูกาลเท่านั้น