‘งาขี้ม้อน’ ธัญพืชจากยอดดอย โอเมก้าสูงเทียบปลาทะเล!

งาขี้ม้อนเป็นพืชน้ำมัน นิยมปลูกทางภาคเหนือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า perilla seed

บางท้องที่เรียกเพี้ยนเป็นงาขี้ม่อน ตามสำเนียงท้องถิ่น

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Perillafrutescens (L.) Britton อยู่ในวงศ์กะเพรา Labiatae (Lamiaceae)

ลักษณะนิสัยเป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว สูง 0.3-1 เมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ ขอบหยักฟันเลื่อย ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีขนปกคลุม ดอกสีขาว ผลรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม ผิวมีลายร่างแห

ฉะนั้น ที่เรียกกันว่าเม็ดหรือเมล็ดงาขี้ม้อนแท้จริงแล้วเป็นผล ไม่ใช่เมล็ด

ต้นงาขี้ม้อนออกดอกช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน และติดผลในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม โดย 1 ดอกจะติดผล 4 ผลหรือ 4 เม็ด

เหตุที่เรียกว่างาขี้ม้อนนั้น มาจากรูปร่างหน้าตาของผลงาขี้ม้อนที่มีความคล้ายคลึงกับมูลหรือขี้ของตัวหม่อนหรือม้อนที่ให้เส้นใยของไหม ขี้ของมันมีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ สีน้ำตาล ขนาดเท่าๆ กันทุกเม็ด

คนโบราณจึงเรียกงาชนิดนี้ว่า “งาขี้ม้อน” ไม่ใช่ “งาม้อน” แบบที่มีคนสมัยนี้พยายามเปลี่ยนชื่อให้ แถมใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า mon seed ด้วย ทั้งๆ ที่งาชนิดนี้มีชื่อเฉพาะเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว

หากใครอยากเรียก “งาขี้ม้อน” ว่า “งาม้อน” ก็คงจะต้องเรียก “พริกขี้หนู” ว่า “พริกหนู” ด้วยใช่หรือไม่

สําหรับงาขี้ม้อน คนทางภาคเหนือนำเม็ดหรือผลของงาขี้ม้อนไปคั่วให้หอม แล้วนำไปตำกับข้าวเหนียวใหม่ที่มีกลิ่นหอม นึ่งสุกใหม่ๆ ปรุงรสด้วยเกลือ เมื่อกินจะได้รสชาติมันๆ เค็มๆ และได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของงาขี้ม้อนคั่ว เรียกว่า “ข้าวหนุกงา” หรือ “ข้าวหนึกงา”

บางท้องที่นิยมนำไปตำกับน้ำอ้อย เป็น “งาตำอ้อย” กินกับข้าวเหนียว หรือกินเป็นข้าวบ่ายงาตำอ้อยก็ได้ (ข้าวเหนียวยัดไส้งาตำอ้อย) ถือว่าเป็นอาหาร ของกินเล่นที่เหมาะกับฤดูหนาวอย่างยิ่ง เนื่องจากงาขี้ม้อนมีปริมาณน้ำมันมากรวม 43.10-55.82% จึงให้พลังงานสูง ช่วยให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี

คุณค่าทางโภชนาการ : งาขี้ม้อนมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมาก ได้แก่ โอเมก้า 3 มี 21.13-34.12% ซึ่งมีปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับโอเมก้า 3 จากปลาทะเล ที่มีอยู่ประมาณ 2.35% และมีโอเมก้า 6 ปริมาณ 21.2-24.1%

โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันจำเป็น ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างไขมันที่สำคัญในสมองและจอประสาทตา มีประโยชน์ต่อระบบประสาท ช่วยเรื่องความจำ และป้องกันความจำเสื่อมในวัยชรา ช่วยลดคอเลสเตอรอล หรือลดไขมันชนิดเลว LDL ที่สะสมในหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุของหัวใจและหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือดได้

ส่วนโอเมก้า 6 ช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ช่วยลดอาการปวดข้อและอาการอักเสบต่างๆ ช่วยความชุ่มชื้นให้เซลล์ผิวแห้ง ลดอาการแห้งกร้าน ริ้วรอยต่างๆ บนผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูงกว่าพืชผักทั่วไปประมาณ 40 และ 20 เท่า ตามลำดับ ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน มีวิตามินอี 6.7-7.6 mg ต่องาขี้ม้อน 100 กรัม

และมีสารเซซามอลที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและชะลอความแก่ด้วย

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มีรายงานฤทธิ์ต้านการติดเชื้อแบคทีเรียได้ดี ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระฤทธิ์ต้านการแพ้

ปัจจุบันมีการนำเม็ดงาขี้ม้อนใส่ในอาหารและขนมต่างๆ

เช่น คุกกี้ ขนมปัง เค้ก ข้าวหลาม โรยหน้าโยเกิร์ต คลุกน้ำสลัด เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ขนมและอาหารจานนั้นๆ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องสำอางบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากงาขี้ม้อนเพื่อช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอย และน้ำมันหอมจากใบแต่งกลิ่นในอาหารและยา