พิศณุ นิลกลัด : 2 : คำตอบจาก เอรียา จุฑานุกาล (จบ)

พิศณุ นิลกลัด
Thailand's Ariya Jutanugarn poses with the trophy after winning the 2016 Women's British Open Golf Championships at Woburn Golf Club in central England, on July 31, 2016. / AFP PHOTO / GLYN KIRK

เอรียา จุฑานุกาล ร้อนแรงจริงๆ ครับ…

สัปดาห์นี้ตั้งใจจะเขียนถึงเธอในฐานะที่ได้แชมป์กอล์ฟพีจีเอ ทัวร์ ครั้งแรกในชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้แชมป์กอล์ฟรายการระดับสูงสุดของโลก

ปรากฏว่าเวลาผ่านไปแค่ 2 สัปดาห์…

เธอได้แชมป์อีกแล้ว

เป็นนักกอล์ฟคนที่ 4 ของทัวร์ที่ได้แชมป์ 2 รายการในปีนี้ – ซึ่งยังไม่มีใครได้มากกว่า 2 แชมป์

และเป็นนักกอล์ฟเพียง 2 คน เท่านั้นที่ได้แชมป์ 2 รายการติดต่อกัน

อีกคนหนึ่งคือ ลิเดีย โค นักกอล์ฟหมายเลข 1 ของโลก ชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายเกาหลีใต้

ฟังข่าวว่าเอรียาได้แชมป์อีกแล้ว ถ้าไม่ได้ติดตามชมการแข่งขันในสนามหรือทางทีวี คิดว่าได้มาอย่างง่ายๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเปรียบเทียบความยากของ 2 ช็อตสุดท้ายในวันสุดท้ายของรายการที่เธอได้แชมป์

รายการที่สองยากกว่าเยอะ

ถ้าให้คะแนนความยากอย่างเดียวโดยไม่นับความเครียดความกดดันของคนเล่น คะแนนเต็ม 10 รายการที่ 2 ยากระดับ 10 คะแนนเต็ม

ส่วนรายการแรกที่ได้แชมป์ ผมให้คะแนนความยาก 8

ที่หลุมสุดท้ายพาร์ 4 ซึ่งมีคะแนนความยากเป็นอันดับที่ 2 ของสนาม วันสุดท้ายมีนักกอล์ฟได้เบอร์ดี้เพียงคนเดียว ทำโบกี้เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนคนที่ทำพาร์ สกอร์เฉลี่ย 4.3

เอรียาเล่นเป็นกลุ่มสุดท้ายมาถึงหลุมนี้คะแนนนำ โอห์ ซู-ยุน นักกอล์ฟออสเตรเลียเชื้อสายเกาหลีเพียง 1 คะแนน โดยโอห์ จบหลุมสุดท้ายด้วยการพัตต์นอกกรีนลงหลุมได้เบอร์ดี้ !

เอรียาต้องทำพาร์หรือดีกว่าพาร์เท่านั้นจึงจะได้แชมป์

ทำโบกี้ต้องสู้กับโอห์แบบตัวต่อตัวเพื่อตัดสินหาแชมป์เพียงคนเดียว

แต่ถ้าทำดับเบิ้ลโบกี้คือตี 6 ทีลงหลุม แชมป์เป็นของโอห์ซึ่งอายุ 20 ปีเท่ากันทันที

หลุมพาร์ 4 ยากมากหลุมนี้เอรียาตี 2 ทีไม่ออน

ลูกไปหยุดที่ขอบกรีนด้านขวาส่วนหน้าของกรีน

แต่ธงอยู่ปลายกรีนทางด้านซ้าย !

ลูกห่างธงประมาณ 35 หลา

ความยากก็คือไม่ว่าจะพิตช์ ชิพ หรือพัตต์…

ยากทั้งนั้น เพราะก่อนถึงหลุม 5 หลาสุดท้ายเป็นสโลพลงเนิน

หลังหลุม ยิ่งลงเนินชันมากขึ้น

นักกอล์ฟหลายคนที่เล่นกลุ่มหน้าเอรียาตีลูกมาอยู่บริเวณนี้ซึ่งผู้บรรยายฝรั่งบอกว่าเป็น “บริเวณยอดนิยม” (เพราะทุกคนต้องตีหนีน้ำที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของกรีน) ทุกคนเลือกใช้พัตเตอร์ ปรากฏว่าลูกวิ่งเลยหลุมทุกคน

บางคนเลยหลุมตั้ง 8 ฟุต !

เอรียาเลือกเล่นช็อต 3 ด้วยการพิตช์ให้ลูกพุ่งต่ำแต่ใส่แบ็กสปินเยอะ

เธอคิดเก่ง และเล่นเก่งมาก

เธอเลือกที่จะพิตช์เพราะสามารถคุมระยะได้แม่นยำกว่าพัตต์ในสภาพที่ปลายทางเป็นไลน์ลงเนิน

เธอเล่นได้ดีในระดับ 9.5 จากคะแนนเต็ม 10

แต่ลูกก็ยังวิ่งเลยหลุมไป 5 ฟุต แถมต้องพัตต์ไลน์ซ้ายในที่คนถนัดขวาไม่ค่อยชอบ

ถ้ายังจำกันได้ แชมป์แรกที่อะลาบาม่าเธอพัตต์เพื่อเป็นแชมป์จากระยะ 4 ฟุตไลน์ขวาใน

เธอบอกมือสั่น ใจสั่น หน้าพัตเตอร์สั่นขณะพัตต์ด้วยความกลัว ความประหม่า

แต่พัตต์เพื่อเป็นแชมป์ครั้งที่ 2 ระยะไกลกว่า ไลน์ยากกว่า เธอให้สัมภาษณ์ฝรั่งหลังการแข่งขันว่าไม่รู้สึกกลัวเลย

ไม่กลัวเพราะได้แชมป์แรกในชีวิตที่อยากได้มาแล้ว คุ้นเคยกับความกดดันแล้ว

ดูเธอเล่น ฟังเธอพูด พิจารณาจากฝีมือ ผมว่าชั่วโมงนี้น่าติดตามผลงานเอรียาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรายการปกติในทัวร์ รายการเมเจอร์ 3 รายการในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม และการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคมนี้

ส่วนที่เล่าค้างไว้ในฉบับที่แล้ว เรื่องพบเอรียาครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ

เรื่องมีอยู่ว่า…

ถอยหลังไปช่วงปี 2535-2550 ผมจัดแข่งขันกอล์ฟให้สินค้าที่จับตลาดระดับกลางขึ้นไปค่อนข้างบ่อย

ตอนหลังๆ มีสินค้าเด็กอายุ 10-18 ปี สนใจกอล์ฟเพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร มีทั้งของทานเล่น ของรับประทานจริงๆ และอาหารเพื่อสุขภาพ

จัดกอล์ฟเด็กสนุกและมีความสุข ได้เห็นพัฒนาการของเด็กหลายสิบคนที่เคยแข่งกะเราตั้งแต่ตัวยังจิ๋ว ผ่านไป 5 ปี กลายเป็นทีมชาติไปแล้ว

หลายคนเป็นนักกอล์ฟอาชีพที่ประสบความสำเร็จ

ช่วงแรกที่เริ่มจัดกอล์ฟเด็ก รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นไฟลต์จิ๋วสุดมีปัญหากว่ารุ่นอื่น เพราะพ่อแม่ที่ให้ลูกเล่นกอล์ฟอยากเห็นและอยากให้ลูกลงแข่งทั้งๆ ที่ยังตีไม่ค่อยเป็น กติกายังไม่ทราบ อายุ 7 ขวบก็มี 8 ขวบก็มาก

พ่อแม่ของเด็ก 10 ขวบที่เล่นก๊วนเดียวกันพากันร้องเรียนว่าเด็กเล็กเหล่านี้ตีแล้วก็วิ่งเล่น ชักช้า ไม่รู้กติกา ไม่รู้คิวตี

บางคนมีพี่เลี้ยงป้อนข้าวป้อนนม ตลอดการแข่งขัน ทำให้ลูกเขาเสียสมาธิ หงุดหงิด เสียจังหวะ ทำผลงานไม่ดี

ผลเลยต้องแก้กติกาใหม่ เป็นรุ่นต่ำสุดอายุไม่เกิน 11 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 9 ปีบริบูรณ์

ปรากฏว่าวันหนึ่งเลขาฯ บอกว่าผู้ปกครองท่านหนึ่งโทร.มาขอร้องให้รับลูกสาวเข้าแข่งขัน อายุ 8 ขวบ เราไม่รับ แต่พ่อเด็กขอร้อง รับประกันว่าไม่สร้างปัญหา เพราะลูกรู้กติกากอล์ฟทุกอย่าง แถมตีเก่งมาก ได้แชมป์มาเยอะแล้ว

“หนูไม่รับเพราะอายุไม่ถึงเกณฑ์ พ่ออยากคุยด้วยค่ะ จะรับสายมั้ยคะ” เลขาฯ ถาม

ผมรับสาย

คุณพ่อเว้าวอน

สุดท้ายผมรับเพราะเห็นใจคุณพ่อ และอยากเห็นฝีมือเด็กที่พ่อบอกว่าเก่งมาก

วันแข่งขันผมเดินตามดู เธอสวมกระโปรงลายสก็อตสีแดง เสื้อแขนยาวสีแดง รูปร่างอ้วนกลมน่ารัก แข็งแรง ทะมัดทะแมง เล่นไม่ชักช้า

และเก่งมากกกก !

แล้วเธอก็ได้แชมป์โดยที่อายุน้อยที่สุดในสนาม

หลังจากนั้นเธอก็ได้แชมป์ทุกครั้งที่ลงแข่งกะเรา

จากวันแรกที่พบตอนอายุ 8 ขวบ อีก 3 ปีเศษๆ เธอก็เป็นนักกอล์ฟหญิงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่แข่งขันแอลพีจีเอ ทัวร์ ขณะอายุ 11 ปี 11 เดือน ในรายการ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2007 ที่พัทยา

สถิตินี้ยังไม่มีใครทำลาย