เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ดาบเล่มนี้มีประวัติ

ขุดเหล็กที่กลางเขา มาเคี่ยวเข้าจนเป็นยาง

ซัดยาอยู่คว้างคว้าง ก็เอาขึ้นประโคมตี

เป็นดาบอันคมเขียว แลเนื้อเหนียวกระเด็นดี

ชุบอาบจนปลาบปรี- ดิเพราะได้ดุจดังใจ

เอาไม้ตะเคียนมา ให้เป็นด้ามก็ดูไกร

ผมพรายประจุไป ก็ประสาทแก่ศิษย์หา ฯ

นี้คือดาบของนายจันทร์ ที่ต่อมาได้เป็นพระยาพล ต้นตระกูล “พลจันทร” ซึ่งเป็นตระกูลของอัศนี พลจันทร หรือนามปากกา “นายผี”

กาพย์บทนี้ นายผีแต่งอยู่ในเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นดั่งปูมประวัติบรรพบุรุษของนายผี หรืออัศนี พลจันทร นั่นเอง

จะเห็นลีลากาพย์เชิงฉันท์ที่ให้รู้สึกขรึมขลังและฮึกเหิม มีชีวิตชีวายิ่งนัก

ใช้คำไม่มาก แต่ทุกคำมีค่าราวเพชรพลอยอันเจียระไนมาจากผลึกของความคิด

แค่ว่า “ขุดเหล็กที่กลางเขา” นี่ก็ให้ภาพยิ่งใหญ่มหาศาลแล้ว ด้วยคำทำให้นึกถึงภาพความแกร่งของเหล็กกับความมหึมาของขุนเขาตระหง่านฟ้า ยิ่งกว่านั้นคือการ “ขุด” จะต้องใช้กำลังมหาศาลสักปานใดเล่า จึงจะนำสิ่งยิ่งใหญ่ฉไกรฉกรรจ์นี้ออกมาได้

คำว่า เหล็ก คำว่า เขา และคำว่า ขุด นี่แหละสำคัญนัก

วรรคต่อมาคือ “มาเคี่ยวเข้าจนเป็นยาง”

นี่ก็อีก เอาเหล็กจากภูเขาด้วยการขุด แล้วยังนำมา “เคี่ยว” เคี่ยวเหล็กอย่างเคี่ยวกวนแป้งทำขนมอย่างนั้นหรือ ต้องใช้เตาและถ่านซึ่งใช้ความร้อนสักเท่าไรจึงจะทำให้ “เหล็กกล้า” กร้านแกร่งนี้ละลายลงได้

ละลายจนเป็น “ยาง” เลยนะ

อย่างยางมะตอยราดถนนนั่นเลย

จะต้องใช้ไฟ ใช้ความร้อนและเวลาสักเท่าไรที่เคี่ยวเหล็กแกร่งจนกลายเป็นยางเหนียวหนับได้

สองวรรคกวีที่ให้ภาพมหาศาลได้ถึงปานนี้

น่าสังเกตคือคำทุกคำในกวีสองวรรคนี้เป็นคำไทยโดดๆ ล้วนๆ ไม่ใช้คำเทศ คือบาลีสันสกฤตเลย

การเรียงคำก็เป็นคำพูดเหมือนจะธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาตรงที่มีจังหวะจะโคนตามแผนผังบังคับของกาพย์ยานี 11 ซึ่งพิเศษ

และวิเศษคือ ลักษณะ “กาพย์เชิงฉันท์” ที่นายผีเป็นผู้ริใช้เป็นคนแรกๆ ก็ว่าได้

กาพย์เชิงฉันท์ก็คือ กาพย์ที่ใช้จังหวะลีลาดังฉันท์อินทรวิเชียร ซึ่งสองวรรคนี้ถ้าจะแต่งเป็นฉันท์อินทรวิเชียรก็อาจได้ดังนี้

ขุดเหล็ก ณ กลางเขา ระอุเคี่ยวลุเป็นยาว

ประมาณนี้ โดยเน้นมีคำลหุ คือ “ณ” “ระอุ” และ “ลุ” นอกนั้นเป็นคำครุหมด อ่านไปก็ได้จังหวะแบบฉันท์ครบถ้วน แต่ภาพและคำกวีสู้แบบกาพย์เชิงฉันท์ไม่ได้เลย

แม้กาพย์เชิงฉันท์จะไม่ใช้กำหนดคำลหุตรงๆ แต่ขอให้สังเกตว่า ในที่กำหนดคำลหุนั้น ก็ใช้คำที่ให้จังหวะเบาได้ด้วยเช่นกัน

ขุดเหล็กที่กลางเขา มาเคี่ยวเข้าจนเป็นยาง

คำ “ที่” คำ “มาเคี่ยว” และคำ “จน” นี่แหละมีลักษณะเป็นคำเบาไปโดยปริยาย อ่านแล้วได้ลีลาจังหวะจะโคนอย่างฉันท์ไม่แพ้กัน กลับได้ภาพได้ความ ไม่ต้องมัวห่วงความถูกต้องตามแบบฉันท์ด้วยซ้ำไป

เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายเลย ด้วยแม้จะไม่ใช้กำหนดครุ-ลหุ แต่กาพย์เชิงฉันท์ต้องใช้ “โวหารกวี” เต็มที่

เหมือนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดานี่แหละ

นี่แหละคือ กวี

ทุกวรรคของมหากาพย์แห่งปูมประวัติตระกูลวงศ์เรื่องความเปลี่ยนแปลง ล้วนเป็นวรรคกวีที่มีพลังคำอันโอฬารและอลังการ

วรรคต่อจากบทข้างต้นคือ

นายจันทรก็เอาใย แมงมุมนั้นโยนมา

หงายคมจะให้คา ก็กลับขาดไปกลางคม

คืนแรมสิบสี่ค่ำ แลมืดทั่วบุรีรมย์

ควงวงเป็นกงกลม ก็สว่างดั่งกลางวัน ฯ

นี่มีทั้งคำกวีและโวหารกวี ที่วิเศษ คำทุกคำทรงพลัง ให้ทั้งเสียงและความหมาย รวมทั้งจังหวะจะโคนที่กระชับฉับไว ทุกคำเป็นคำเพชรคำพลอยจริงๆ

อย่างวรรคว่า “ก็กลับขาดไปกลางคม” นี่เด็ดนัก

ไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่าการใช้คำ “ขาดไป” นั้นให้ภาพพิเศษยิ่ง คือภาพคมดาบที่คมสุดคม

ลองนึกดูเถิดว่า หากเปลี่ยนเป็นคำอื่น เช่น “ก็กลับขาดลงกลางคม” คำลงกับไปนี่ให้ภาพเป็นตรงข้ามกันเลย

“ขาดลง” ย่อมแสดงถึงความมีน้ำหนักของใยแมงมุมที่เจอคมดาบแล้วขาดลง คือน้ำหนักของใยแมงมุมที่ร่วงลงกลางคมดาบ

ต่างกับ “ขาดไป” ที่แสดงถึงความคมของดาบที่แค่ใยแมงมุมสัมผัสก็ขาดหวิวลอยไปเลย

นี่คือการเลือกใช้คำที่ให้ภาพ ให้ความรู้สึกอันเป็นคำกวีของกวีผู้รู้จริง ผู้เป็นกวีแท้

ดาบเล่มนี้ของต้นตระกูลพลจันทร ว่าเวลานี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานราชบุรี จริงเท็จประการใดไม่รู้

แต่นายผีได้เขียนกลอนถึงดาบเล่มนี้อย่างสำคัญเป็นต่างหากอีกบทว่า

ดาบเล่มนี้มีประวัติแจ่มชัดอยู่

เป็นของปู่ให้พ่อต่อถึงข้า

เป็นความแค้นของปู่ผู้เสียนา

ซ้ำพ่อมาเสียงัวอีกตัวไป

มีแต่ดาบเล่มเดียวเคี้ยวความแค้น

ถ้าถึงแสนเล่มข้าหากลัวไม่

จงล้างเหล่าเจ้าที่ดินให้สิ้นไทย

เพื่อชิงชัยเอาที่นาของข้าคืน

นาของปู่งัวของพ่อและดาบของข้า

พรรคการเมืองใดตอบได้ว่าคืออะไรและอยู่ที่ไหน

ผมจะไปเลือกพรรคนั้นครับ