ฉัตรสุมาลย์ : งานอุปสมบทภิกษุณีครั้งแรกที่พุทธคยา

เมื่อปลายปี 2559 ได้รับข่าวดีว่าท่านสิวลี ซึ่งเป็นเลขาธิการของสมาคมมหาโพธิแห่งอินเดียจะจัดงานอุปสมบทภิกษุณีที่อินเดีย และเป็นช่วงที่ท่านจะเดินทางมาประเทศไทย

ผู้เขียนตั้งตารอจะพบท่าน แต่ปรากฏว่าท่านไม่สบายเลยเดินทางกลับไปอินเดียก่อน ปกติท่านประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่โกลกัตตา

ทิ้งช่วงไปถึงกลางปี 2561 ท่านภิกษุณี ดร.หลิวฟับติดต่อมาอีกว่า ท่านสิวลียังมีความตั้งใจเรื่องการอุปสมบทภิกษุณีอยู่ นอกจากนั้นก็ยังได้รับเชิญให้ไปร่วมงานการประชุมนานาชาติเรื่องพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียนไปร่วมด้วย และได้ร่วมเสนอบทความเรื่องวัตรทรงธรรมกัลยาณีกับความพยายามที่จะเป็นวัตรที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากที่ประชุมเสร็จท่านเรียกเข้าไปเพื่อขอให้ช่วยเป็นกรรมการในการจัดงานครั้งต่อไป ผู้เขียนก็รับโดยดี

สักครู่หนึ่งท่านก็ให้คนมาตามอีก คราวนี้ท่านพูดเรื่องการอุปสมบทภิกษุณี ซึ่งคงเป็นเรื่องที่อยู่ในใจท่านนานแล้ว

ท่านวางแผนว่าจะมีการประชุมวันที่ 30-31 มกราคม เป็นงานประชุมประจำปี คราวนี้เป็นหัวข้อว่า การอุปสมบทภิกษุณี และจะปิดท้ายด้วยพิธีการอุปสมบทภิกษุณีจริงๆ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

เราติดต่อกันระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม เพราะสองประเทศนี้ยังมีอุปสรรคในการที่จะอุปสมบทภิกษุณีในประเทศของตนเอง ส่วนประเทศอื่นที่มีความเป็นไปได้ก็ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องผู้สมัครบวช ฯลฯ

ท่านหลิวฟับขอเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 29 เพราะจะต้องรีบกลับไปจัดงานตรุษจีน

เราตกลงกันตามนั้น

 

ผู้เขียนทำหนังสือแจ้งไปตามภิกษุณีอารามต่างๆ ในประเทศไทย ได้ผู้สมัครทั้งหมดจากไทย 8 รูป ทั้งจากนครปฐม หนองคาย และสงขลา

เราซื้อตั๋วล่วงหน้าหลายเดือน เพื่อให้แน่ใจว่านอกจากจะได้ตั๋วถูกแล้ว งานนี้เราพลาดไม่ได้

ญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่ก็ขอตามไปด้วย เพราะอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ไปสวดมนต์ที่ต้นโพธิ์ ท่านธัมมนันทาขู่เอาว่า ใครไปเจ็บตายที่นั่น ไม่เอาศพกลับนะ จะเผาที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา รวมทั้งตัวท่านด้วย ปรากฏว่าผู้เฒ่าทั้งหลายแข็งแรงดีทุกคน

คณะเราไปกัน 15 คน

อากาศที่พุทธคยาหนาวเย็น บางวัน 7 องศา ทั้งฝนตกพรำๆ ทั้งวัน ชวนเป็นหวัดอย่างยิ่ง

ท่านธัมมนันทาออกไปดูสถานที่ที่ท่านสิวลีกำหนดให้เป็นสีมาที่จะอุปสมบท เรานั่งรถแบตเตอรี่ โคลงไปโคลงมา กว่าจะซอกแซกเข้าไปถึงวัดเกาหลี ที่มีสีมาสมมุติตามแบบเถรวาท เมื่อเห็นสภาพแล้วไม่น่าใช่ เรากลับออกมาอีก

คราวนี้รถพาอ้อมออกมาทางเก่า ผ่านมาตรงทางถนนแคบๆ ที่ไปวัดป่า แล้วสุดท้ายก็ไปที่วัดเกาหลีเดิมที่เราว่าไม่ใช่

คนขับรถยืนยันว่าถามคนอื่นแล้ว วัดนี้ละ เราก็เลยตากฝนพรำลงไป มีพระชาวอินเดียเป็นเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่ามีสีมาจริงๆ

กรำฝนออกไปดู มีสีมาจริงๆ นั่นแหละ แต่เป็นแค่ยกพื้นเทคอนกรีต มีสีมาให้เห็น กลับออกมาถามพระที่เฝ้าอยู่ว่า ทราบไหมว่าเราจะมาบวชกันที่นั่น วันนั้นเป็นวันที่ 26 วันบวชที่เรากำหนดไว้เป็นวันที่ 29 ท่านไม่รู้เลย แต่บอกว่า พระอาจารย์ของท่านจะเข้ามาวันรุ่งขึ้น

เราต้องเปลี่ยนแผนทันที อากาศหนาวเย็นอีกทั้งมีฝนเช่นนั้น เราจัดการอุปสมบทที่นั่นไม่ได้แน่ๆ นอกจากนั้น แทนที่จะเป็นงานอุปสมบทวันเดียว ต้องขยายออกไป 2 วัน เพราะมีคนขอบวชมาก ในจำนวน 24 คนนั้น ต้องแบ่งออกเป็นบวชครั้งละ 3 รูป และต้องกระทำพิธีในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ แล้วจึงอุปสมบทในภิกษุสงฆ์

ท่านธัมมนันทาอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในที่โล่งอย่างนั้นคงไม่รอด แม้ว่าจะนัดให้มาติดตั้งเต็นท์ทันก็ตาม

 

เย็นวันนั้นท่านออกไปติดต่อที่วัดลาวอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทราบจากภิกษุณีที่อยู่ที่นั่นว่าเคยเกริ่นไว้ และท่านเจ้าอาวาสยินดีต้อนรับ

ท่ามกลางสายฝนปรอยและอากาศที่หนาวเย็น นั่งรถตุ๊กตุ๊กที่นั่นเขาเรียกรถแบตเตอรี่ เสียไป 50 รูปี บอกให้รอด้วยเพราะจะไม่มีรถกลับออกมา วัดลาวอยู่ทางทิศที่เราไปวัดหลวงพ่อใหญ่ของญี่ปุ่นนั่นแหละค่ะ แต่เลยเข้าไปท่ามกลางท้องนา ถนนที่บุกเบิกเข้าไปนั้นยังเป็นถนนดิน หากหน้าฝนคงลำบากกันพิลึก

เปิดประตูเข้าไปวัดเล็กๆ ไม่มีคนให้ทักทายเลย ถือโอกาสเปิดประตูเข้าไปในอาคารที่มาทราบภายหลังว่าเป็นหอฉัน พระหนุ่มๆ นั่งดูทีวีอยู่สองรูป ท่านธัมมนันทาทักทายด้วยเป็นภาษาอังกฤษ ท่านทำหน้างง ท่านธัมมนันทาเลยนึกขึ้นได้ว่าต้องพูดภาษาไทย ปรากฏว่าท่านเป็นรองเจ้าอาวาส และเป็นน้องชายโดยสายเลือดของท่านเจ้าอาวาส ท่านว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ให้เบอร์โทร.ติดต่อกับท่านเจ้าอาวาส ซึ่งบังเอิญขณะนั้นอยู่ที่เวสาลี

ท่านเจ้าอาวาสชื่อพระมหา ดร.ชัยชนะ ภาษาอังกฤษของคนลาวสะกดแปลกค่ะ สะกดว่า Xaixana

ตอนค่ำเราลองโทร.ไปที่เบอร์ดังกล่าว เสียงแขกตะโกนเป็นภาษาฮินดี เราก็คิดว่าต้องโทร.ผิดเบอร์แน่ๆ จนกระทั่งครั้งที่สาม ท่านชัยชนะท่านรับสายเอง เสียงแขกนั่นเป็นเสียงคนขับรถของท่าน

อธิบายให้ท่านฟังว่า เราติดต่อมาในนามสมาคมมหาโพธิ์ จะมาขอใช้สถานที่ที่วัดของท่านเพื่อจัดการอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติ ท่านว่า มาได้เลย ไม่มีปัญหา

โอ๊ะ ทำไมท่านตอบอย่างไม่ลังเล

กราบขอบคุณท่านอย่างยิ่ง

 

วันรุ่งขึ้นเราย้อนกลับไปอีกเพื่อจัดการเรื่องอาหาร เพราะวันนั้นเราจะต้องการอาหารเลี้ยงผู้คนอย่างน้อย 60 คน/รูป ปรากฏว่า ชุน พี่สาวของเจ้าอาวาสเป็นแม่ครัวเอง รับปากจัดอาหารให้เราอย่างดี หัวละ 100 รูปี สองวัน เรามอบหมายการเงินด้วยดี

ท่านรองเจ้าอาวาสนำเข้าไปตรวจสอบพระอุโบสถ ว่าฝังลูกนิมิตตรงนี้ แนวสีมาที่นั่น เป็นพื้นกระเบื้องสีขาว แนวสีมาเป็นกระเบื้องสีน้ำตาลเห็นชัดเจน ท่านเล่าว่า ตอนที่สมมุติสีมานั้น ประธานสงฆ์ของลาวมาเป็นประธาน เราก็แน่ใจได้ว่าถูกต้องตามพระวินัยของฝ่ายเถรวาท ท่านยังยืนยันว่า พระภิกษุไทยที่อยู่ในอินเดียก็มาใช้สถานที่ทำพิธีอุปสมบทเหมือนกัน

ที่พุทธคยาก็มีวัดไทยที่มีสีมาหลายแห่ง หากเราจะถือว่าคำสั่งของมหาเถรสมาคมห้ามไม่ให้มีการอุปสมบทในประเทศไทย เราก็น่าจะจัดการอุปสมบทที่พุทธคยาได้ แต่ไม่อยากเสี่ยง ขนาดที่เราจัดที่วัดลาว พระภิกษุไทยที่เป็นแขกไปพักที่นั่นก็ยังตำหนิพระลาวที่ให้จัดมีการอุปสมบทภิกษุณีที่นั่น

เราต้องมอบหมายกันว่า สำหรับการอุปสมบทภิกษุณีไทย ท่านธัมมนันทาจะเป็นปวัตตินี โดยท่านหลิวฟับ (เวียดนาม) และท่านวิจิตนันทา (ศรีลังกา) จะเป็นคู่สวด และกลับกัน เมื่อท่านหลิวฟับเป็นปวัตตินีให้ผู้ขอบวชชาวเวียดนาม ท่านธัมมนันทาและท่านวิจิตนันทาก็จะเป็นพระคู่สวดให้ มีผู้ขอบวชชาวจีน 3 คนที่เป็นลูกศิษย์ของท่านวิจิตนันทา ท่านวิจิตนันทาจะเป็นปวัตตินี โดยมีท่านธัมมนันทาและท่านหลิวฟับเป็นคู่สวดให้

ทางฝั่งคู่สวดของพระภิกษุนั้น ท่าน ดร.กลูปหานะ และท่านสุธรรมะจะทำหน้าที่โดยตลอด โดยมีท่านสิวลี เลขาธิการสมาคมมหาโพธิเป็นอุปัชฌาย์

ผู้ขอบวชทุกคนกลับไปใส่ชุดขาวและรับการบรรพชาร่วมกันที่วิหารของวัดศรีลังกาตั้งแต่ 05.30 น.ของวันที่ 28 โดยมีพระอาจารย์สิวลีเป็นอุปัชฌาย์

ตรงนี้มีการถ่ายทำวิดีโอ และสามารถหาชมได้ในยูทูบค่ะ การสื่อสารสมัยใหม่เป็นเช่นนี้

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรี รีบกระวีกระวาดไปฉันอาหารร่วมกันที่หอฉันของวัดศรีลังกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคมมหาโพธิด้วย

หลังจากฉันเสร็จก็รีบไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ที่มารับไปอุปสมบทที่วัดลาวค่ะ

ขอต่ออีกอาทิตย์หน้านะคะ