หนุ่มเมืองจันท์ : คาถา “ครอบครัว”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“การรักษาอำนาจ” ว่ากันว่ายากแล้ว

“สืบทอดอำนาจ” ยากกว่า

ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง “การเมือง”

เรื่อง “ธุรกิจ” ก็เช่นกัน

โดยเฉพาะ “ธุรกิจครอบครัว”

ยิ่งธุรกิจใหญ่ระดับพันล้านหมื่นล้าน

การส่งไม้ต่อจาก “พ่อ” สู่ “ลูก” ถือเป็นงานศิลปะชั้นสูง

เพราะ “ตำแหน่ง” ส่งต่อกันได้

แต่ “บารมี” ส่งต่อไม่ได้

บางครอบครัวใช้วิธีการส่ง “ทายาท” ไปบุกเบิกธุรกิจอื่นก่อน

ไม่ให้มายุ่งกับธุรกิจหลัก

ฝึกปรือฝีมือ สร้างผลงานและบารมีจนเป็นที่ยอมรับ

แล้วค่อยส่งมอบธุรกิจหลักให้ดูแล

เพราะถ้าให้ “ทายาท” เข้ามารับตำแหน่งใหญ่ในธุรกิจหลักตั้งแต่เริ่มต้น

องค์กรใหญ่ที่พ่อบุกเบิกมา เต็มไปด้วย “มืออาชีพ” ที่เก่ง

การปล่อยให้ลูกเข้ามารับตำแหน่งใหญ่เลย

ท่ามกลางคนเก่งที่ “รู้”

แต่เขา “ไม่รู้”

“ลูก” จะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในองค์กร

ถือเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม

แต่ถ้าให้ลูกไปบุกเบิกงานใหม่จนประสบความสำเร็จ

มีประสบการณ์ในการบริหารคนและองค์กร

และมี “บารมี”

การกลับมารับตำแหน่งใหญ่ในองค์กรหลักเดิมก็จะเจอแรงต้านน้อยลง

หรือบางครอบครัวก็ให้ลูกทำงานในองค์กรในตำแหน่งกลางๆ ก่อน

แล้วดึง “มืออาชีพ” มาจัดการเคลียร์พื้นที่ให้ลูก

“คนเก่า” ขยับออก หรือมอบหมายให้ไปบุกเบิกขยายงานใหม่

เปิดทางให้ “ลูก” ดึง “คนใหม่” ที่พูดภาษาเดียวกันเข้ามาเป็นทีม

เพราะ “แม่ทัพ” ต้องมี “ขุนพล” คู่ใจ

ถ้า “ลูก” เลือก “คนเดิม” ก็โชคดีไป

แต่ถ้า “ลูก” อยากได้ “คนใหม่” ก็ต้องให้สิทธิ์ลูกเลือก

นอกจากนั้นยังมีการแบ่งงานระหว่าง “พ่อ” กับ “ลูก”

งานไหนที่ต้องจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษหรือการโยกย้าย

“พ่อ” ต้องรับบท “ผู้ร้าย”

แต่ถ้าเป็นบท “พระเอก” เช่น การขึ้นเงินเดือน ให้รางวัล ฯลฯ

“ลูก” รับไป

จนถึงเวลาเหมาะสมจึงค่อยปล่อยมือ ให้อำนาจอย่างเต็มที่

ที่ผมเล่ามาทั้งหมด ไม่ได้คิดเองนะครับ

เรื่องนี้เป็นหลักสูตรที่เขาสอนกันเลย

แบงก์ที่มีลูกค้าเป็นธุรกิจครอบครัว

เขาจะมีหลักสูตรสอน “พ่อ-แม่” เรื่องนี้

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างนุ่มนวล

ปัญหาหนึ่งของ “ธุรกิจครอบครัว” คือ ความเห็นของพ่อกับลูกจะไม่ค่อยตรงกัน

“ลูก” มีแนวคิดอีกแบบหนึ่ง

แต่ “พ่อ” ไม่ยอมปล่อยมือ

ไม่ให้ตัดสินใจ

“ลูก” จะไม่พอใจ รู้สึกว่าถ้าจะให้ทำแบบเดิม

“พ่อ” ก็ทำเองสิ

ให้เขามาบริหารแล้วไม่ยอมให้อำนาจตัดสินใจ

ทำงานที่อื่นดีกว่า

ในมุมของ “พ่อ” ก็รู้สึกว่า “ลูก” เพิ่งเข้ามาเรียนรู้งาน ยังไม่รู้จักงานและคนดีพอ

ทำไมไม่ทำตาม “พ่อ” ไปก่อน

อย่ารีบเปลี่ยนแปลง

ความขัดแย้งแบบนี้เกิดขึ้นแทบทุกองค์กรที่เป็นธุรกิจครอบครัว

“เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเล่าว่า ตอนเข้ามาบริหาร “ไทยซัมมิท” หลังคุณพ่อเสียชีวิต

เขาไม่เคยประชุมงานกับคุณพ่อมาก่อนเลย

ไม่รู้ว่าคุณพ่อวางแผนงานอย่างไร

การเริ่มต้นจึงยากมาก

แต่ใน “ข้อเสีย” ก็มี “ข้อดี”

คือ เขามีอำนาจเต็ม ไม่ต้องรอการตัดสินใจจากคุณพ่อ

แตกต่างจากเพื่อนของเขาที่เข้าไปทำงานกับ “พ่อ”

จะบ่นว่าทำอะไรใหม่ๆ ก็ไม่ได้ เพราะ “พ่อ” ไม่ยอม

ปัญหานี้เป็นปัญหาคลาสสิคของธุรกิจครอบครัว

คุณบุญคลี ปลั่งศิริ เคยแนะนำคุณพ่อทั้งหลายว่าต้องกล้าปล่อยมือ

ปล่อยให้ลูกตัดสินใจเองบ้าง

ไม่เช่นนั้นลูกจะไม่ได้เรียนรู้

และบอกลูกๆ ว่าต่อหน้าลูก พ่อมักจะขี้บ่น เหมือนลูกไม่มีฝีมือ

แต่พ่อทุกคนรักลูก

และความภูมิใจสูงสุดคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคู่ค้ามาบอกว่าลูกคุณเก่งมาก

เขาจะยิ้มแก้มปริเลย

นอนหลับฝันดี

คุณอนันต์ อัศวโภคิน ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็เป็นคนหนึ่งที่มีคนมาปรึกษาเป็นประจำ

เรื่อง “พ่อ” กับ “ลูก”

ส่วนใหญ่คนที่ปรึกษาจะเป็นกลุ่มลูก

ทุกคนจะมีปัญหาความคิดกับ “พ่อ”

ทะเลาะกันเป็นประจำ

คุณอนันต์จะบอกกลุ่มลูกว่าอย่าเถียงพ่อหรือแม่เป็นอันขาด

ฟังแวบแรก เหล่าลูกๆ ก็คงรู้สึกว่ามาปรึกษาผิดคน

คุณอนันต์ต้องเข้าข้าง “พ่อ” ของเขา

“คุณไม่มีทางเถียงชนะพ่อแม่”

เพราะธุรกิจนี้พ่อแม่สร้างมากับมือ

ที่สำคัญเป็นของเขา

คุณอนันต์บอกว่าเวลาพ่อสั่งอะไรมา ไม่เห็นด้วยก็อย่าเถียง

“ครับอย่างเดียว”

แต่…

“เวลาทำ ให้เราก็ทำอย่างที่เราคิด”

กลุ่มลูกเริ่มอึ้งกับยุทธศาสตร์นี้

พอทำเสร็จ “พ่อ” โวยว่าทำไมไม่ทำตามที่เขาบอก

“ให้เราทำหน้างงๆ แล้วบอกว่าครั้งก่อนพ่อสั่งแบบนี้”

แม้ “พ่อ” จะเถียงว่า “ไม่ใช่”

เราก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่า “พ่อ” จำผิด

“พ่อ” สั่งแบบนี้จริงๆ

ถ้ามีพี่น้องให้เตี๊ยมกันก่อนเลย

พอ “พ่อ” หันไปถาม “น้อง”

“น้อง” ก็ยืนยันว่า “พ่อ” สั่งแบบนี้

รับรองว่า “พ่อ” จะงงๆ กลับไป

เมื่อเราได้ทำตามที่เราคิด

ถ้าตัดสินใจถูกต้อง

“พ่อ” จะเริ่มยอมรับ

ผมถามว่าแผนนี้ใช้ได้ผลไหม

คุณอนันต์บอกว่า ลูกบางคนเอาไปใช้แล้ว กลับมาขอบคุณว่าได้ผล

“ผมถามเขาว่าแล้วคุณพ่อเป็นไงบ้าง”

เขาตอบว่าคุณพ่อแอบไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล

เพราะเริ่มไม่แน่ใจใน “ความจำ” ของตัวเอง

ตกลงเราสั่งหรือไม่ได้สั่งกันแน่