เกษียร เตชะพีระ | ความทรงจำเกี่ยวกับอำนาจนำกับอำนาจนำของความทรงจำ : อุปมานิทัศน์อุทาหรณ์

เกษียร เตชะพีระ

ความทรงจำเกี่ยวกับอำนาจนำกับอำนาจนำของความทรงจำ : อุปมานิทัศน์อุทาหรณ์

ชื่อเรื่องข้างต้นถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษคงได้ความว่า : The memory of hegemony & the hegemony of memory : A cautionary allegory

ผมคิดถึงประเด็นนี้ขึ้นมาหลังจากนำสัมมนาหนังสือ การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง ให้นักศึกษาถึงเมืองประโยชน์นคร (Utilitaria) อันเป็นเมืองแห่งที่สองที่นิโคลาส การิทัต ศาสตราจารย์ปรัชญาตัวเอกของเรื่องเข้าไปผจญภัยหลังลี้ภัยออกจากเสนานคร (Militaria) ซึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมา

สตีเว่น ลุคส์ ผู้เขียนแนะนำประโยชน์นครด้วยข้อความหนึ่งย่อหน้าที่แน่นไปด้วยนัยแฝงชวนคิดว่า :

“ขณะเครื่องบินวิ่งไปบนลานเตรียมทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า นิโคลาสก็พลอยปลอดโปร่งโล่งใจขึ้น จากข้อมูลทุกแหล่งที่ทราบมา ประโยชน์นครเป็นดินแดนแห่งความหวัง เขากำลังมุ่งหน้าไปสู่ประเทศที่ทุ่มเทให้แก่การอยู่ดีมีสุข และพะวงสนใจแต่อนาคตถ่ายเดียว เขารู้มาว่าคำขวัญประจำชาติของประโยชน์นครซึ่งบัญญัติโดยเจเรมี เบนแธม นักปฏิวัติผู้ก่อตั้งประเทศนั้นคือ “ประโยชน์สุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด” ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เขาอาจกลายเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่สุดนั้นก็ได้…” (เน้นโดยผู้เขียน)

ทว่ามิทันจบบท ข้อความโฆษณาที่เน้นข้างต้นก็ค่อยๆ ถูกกร่อนทำลายคุณค่าความหมายและชี้ด้านกลับตาลปัตรให้เห็นโดยผู้เขียน ที่สำคัญก็คือ การดำรงอยู่ของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดน/กู้อิสรภาพของชนกลุ่มน้อยชาวมิจฉาคติ (Bigotarians) ทางตะวันตกของประโยชน์นคร ดังที่สตีเว่น ลุคส์บรรยายถึงพวกนี้ไว้ว่า :

“…พวกมิจฉาคติฝังหัวอยู่กับอดีต พวกนี้กระตือรือร้นสนใจคำประกาศโจมตีอย่างดุเดือดรุนแรงและการอภิปรายความหมายของการรบเมื่อสี่ร้อยปีก่อน มากกว่าการมานั่งคิดคำนวณว่าในบรรดาทางเลือกต่างๆ ในปัจจุบัน ทางไหนจะให้ยอดจำนวนอรรถประโยชน์สูงสุดในอนาคต พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการเกลียดชัง ด่าทอ และต่อสู้กับชาวประโยชน์นครผู้กดขี่

“…พวกมิจฉาคติยังชอบรณรงค์ก่อการร้ายสร้างความวุ่นวายในประโยชน์นครบ่อยครั้งด้วย การก่อการร้ายระลอกใหม่เพิ่งจะเปิดฉากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนมันจะมีเป้าประสงค์ใดนั้นดูเหมือนเธอจะไม่รู้และก็ไม่ใส่ใจ เห็นชัดว่าชาวประโยชน์นครพากันเมินเฉย ไม่นำพาปรารมภ์ต่อข้อวิตกกังวลของพวกที่ตนเรียกว่ามิจฉาคติเอาเลย ถือว่าวิธีการป่าเถื่อนรุนแรงของคนพวกนี้เกิดจากความหมกมุ่นฝังหัวอยู่กับอดีตซึ่งเหลือวิสัยจะเข้าใจ…” (เน้นโดยผู้เขียน)

สำหรับเป้าหมายบั้นปลายทางการเมืองของขบวนการมิจฉาคติ สตีเว่น ลุคส์ ให้เจ้าตา หัวหน้าทีมลักพาตัวการิทัตอธิบายในอีกตอนหนึ่งว่า :

“ปลดแอกจากอดีต เราไม่ชอบเรื่องแบบนั้น เราไม่ชอบให้คุณมาส่งเสริมความหลงผิดแบบประโยชน์นครพรรค์นั้น จะให้เราไปอยู่ที่ไหนได้นอกจากในอดีต? เป้าหมายของเราคือปลดแอกจากอนาคต – อนาคตที่ชาวประโยชน์นครพยายามยัดเยียดให้เรา มิจฉาคตินคร (Bigotaria) …จะสร้างขึ้นได้ก็แต่บนซากปรักหักพังของประโยชน์นครเท่านั้น”

ปฏิกิริยาอึกทึกครึกโครมบางอย่างต่อเหตุวุ่นวายผันผวนสับสนทางการเมืองที่ผมได้สดับตรับฟังเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้ผมเอะใจขึ้นว่ามันช่างเหมือนกระจกด้านกลับของสภาพการณ์ในประโยชน์นครของนิยาย การิทัตผจญภัย ชั่วแต่เราลองคิดกลับตาลปัตรสภาพการณ์ดังกล่าวเสียแล้วให้ชาวมิจฉาคติขึ้นมาเป็นผู้ปกครองที่นั่นแทนดู ก็จะได้ความว่า :

“ขณะเครื่องบินวิ่งไปบนลานเตรียมทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า นิโคลาสก็พลอยวิตกกังวลขึ้น จากข้อมูลทุกแหล่งที่ทราบมา มิจฉาคตินครเป็นดินแดนแห่งความทรงจำ เขากำลังมุ่งหน้าไปสู่ประเทศที่ทุ่มเทให้แก่การอยู่กับความหลัง และพะวงสนใจแต่อดีตถ่ายเดียว เขารู้มาว่าคำขวัญประจำชาติของมิจฉาคตินครซึ่งบัญญัติโดยเจ้าตา นักปฏิวัติผู้ก่อตั้งประเทศนั้นคือ “ความทรงจำมากที่สุดของคนจำนวนน้อยที่สุด” ถ้าทุกอย่างเป็นไปในทางร้าย เขาคงไม่มีทางกลายเป็นหนึ่งในคนจำนวนน้อยที่สุดนั้นได้…

“…พวกมิจฉาคติฝังหัวอยู่กับอดีต พวกนี้กระตือรือร้นสนใจคำประกาศโจมตีอย่างดุเดือดรุนแรงและการอภิปรายความหมายของการรบเมื่อสี่ร้อยปีก่อน มากกว่าการมานั่งคิดคำนวณว่าในบรรดาทางเลือกต่างๆ ในปัจจุบัน ทางไหนจะให้ยอดจำนวนอรรถประโยชน์สูงสุดในอนาคต พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการเกลียดชัง ด่าทอ และต่อสู้กับชาวประโยชน์นครใต้การกดขี่

“…พวกประโยชน์นครยังชอบรณรงค์สร้างความวุ่นวายในมิจฉาคตินครบ่อยครั้งด้วย การเคลื่อนไหวระลอกใหม่เพิ่งจะเปิดฉากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนมันจะมีเป้าประสงค์ใดนั้นดูเหมือนเจ้าตาจะไม่รู้และก็ไม่ใส่ใจ เห็นชัดว่าชาวมิจฉาคตินครพากันเมินเฉย ไม่นำพาปรารมภ์ต่อข้อวิตกกังวลของพวกที่ตนเรียกว่าประโยชน์นครเอาเลย ถือว่าวิธีการก่อความวุ่นวายของคนพวกนี้เกิดจากความหมกมุ่นฝังหัวอยู่กับอนาคตซึ่งเหลือวิสัยจะเข้าใจ…

“ปลดแอกจากอดีต เราไม่ชอบเรื่องแบบนั้น เราไม่ชอบให้คุณมาส่งเสริมความหลงผิดแบบประโยชน์นครพรรค์นั้น จะให้เราไปอยู่ที่ไหนได้นอกจากในอดีต? เป้าหมายของเราคือปลดแอกจากอนาคต – อนาคตที่ชาวประโยชน์นครพยายามยัดเยียดให้เรา มิจฉาคตินคร (Bigotaria) …จะสร้างขึ้นได้ก็แต่บนซากปรักหักพังของประโยชน์นครเท่านั้น”

ในแง่นี้ ส่วนของความทรงจำที่ครองอำนาจนำ (the hegemony of memory) ซึ่งเข้าเกาะกุมความคิดจิตใจของชาวมิจฉาคตินครไว้จนดิ้นไม่หลุดถึงแก่พากันละเมอเพ้อพกเรื่องสงครามกลางเมืองบ้าง ผลกรรมบ้าง เหลวไหลเลอะเทอะกันใหญ่บ้าง ก็คือความทรงจำเกี่ยวกับอำนาจนำ (the memory of hegemony) ในอดีตที่เอาเข้าจริงจบสิ้นไปแล้วนั่นเอง

ข้อสรุปดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ของผมกับครอบครัวเมื่อสิบกว่าปีก่อน ครั้งนั้นผมพาภรรยาและลูกสาวที่ยังเล็กไปดูหนังดังเรื่อง “คนเห็นผี” (The Eye ตอนแรกสุดลงโรงปี พ.ศ.2545) ของสองพี่น้องตระกูลแปงผู้กำกับฯ และเขียนบทชาวฮ่องกงชื่อดัง

เขาทำหนังได้สนุกตื่นเต้นน่ากลัวดี กล่าวคือ ทุกครั้งก่อนที่ “ผี” จะปรากฏตัวออกมาให้นางเอกในเรื่องที่มีตาพิเศษ “เห็น” ก็จะมีเสียงเพลงประกอบหนังกระหึ่มเร้าชวนขนลุกสยองใจบอกกล่าวเป็นสัญญาณนำมาล่วงหน้า ให้ผู้ชมกลัวผีทั้งหลายพอได้ตั้งตัวเตรียมใจ

วิธีที่ลูกสาวของผมเตรียมตัว “เห็นผี” บนจอก็คือ ทันทีที่ทำนองเพลงสัญญาณเปิดตัวผีดังขึ้น เธอก็จะเอามือปิดหน้า แต่ความที่ใจหนึ่งกลัว แต่อีกใจก็อยากดู จึงแง้มนิ้วออกเป็นช่องเล็กๆ พอให้ตามองลอดออกมาเหลือบชำเลืองดูผีบนจอได้รางๆ โดยพร้อมที่จะขยับนิ้วงับปิดทันทีที่ผีโผล่

พลางถามผมที่นั่งเก้าอี้ตัวติดกันเบาๆ เป็นระยะว่า :

“ป่าป๊า ผีมายัง?” “ป่าป๊า ผีไปยัง?”

ซึ่งผมก็จะตอบลูกประสาซื่อว่า :

“ป่าป๊าก็ไม่รู้เหมือนกัน ป่าป๊าถอดแว่นดูหนังอยู่”

ทำไงได้ละครับ ก็ผมกลัวผีเหมือนกันกับลูกน่ะ แหะๆ

ต่างจากภรรยาผม เพราะขณะที่ผมกับลูกต่างปิดหน้าปิดตามั่ง ถอดแว่นมั่งแอบดูผีโผล่บนจอด้วยใจระทึกอยู่นั้น เธอมองไม่เห็นผีเอาเลย เพราะม่อยหลับตลอดเรื่อง เมื่อตื่นมาตอนหนังจบ เธออธิบายว่าที่หลับเพราะแอร์ในโรงมันเย็นดี

ขณะที่ผมกับลูกสาวยังติดนิสัย “เห็นผี” แบบชาวมิจฉาคติอยู่ ภรรยาของผมนับเป็นชาวประโยชน์นครเต็มตัวทีเดียว!