การศึกษา / วธ.จัดพิมพ์หนังสือ 4 เล่ม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การศึกษา

 

วธ.จัดพิมพ์หนังสือ 4 เล่ม

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แถลงข่าวหนังสือที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 เล่ม จัดพิมพ์โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

นายวิษณุระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 โดยวันที่ 4 พฤษภาคม ถือเป็นวันสำคัญที่สุด เพราะต่อไปวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี จะถือเป็นวันฉัตรมงคล หมายถึงการรำลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตร

“แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ได้มีแค่เพียงการสวมมงกุฎ หรือสวมเครื่องราชกกุธภัณฑ์เท่านั้น ยังมีอย่างอื่นอีก เช่น การสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ การเสด็จออกมหาสมาคม พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร การเฉลิมพระปรมาภิไธย หรือการสมโภชพระนามที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ การเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค (เสด็จพระราชดำเนินทางบก) ชมบ้านเมือง และให้ประชาชนสองข้างทางได้เข้าเฝ้าฯ การเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร เพื่อให้พสกนิกรทั่วไปได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพร ทั้งนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้ความสำคัญกับการรดน้ำ โดยนำน้ำมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งให้พระเจ้าแผ่นดินอาบ หรือที่เรียกว่า สรงพระมุรธาภิเษก น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

นายวิษณุระบุ

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศ มีกำหนดการพระราชพิธี 3 ช่วง คือ

1.พระราชพิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร ระหว่างวันที่ 6-23 เมษายน 2562

2.พระราชพิธีเบื้องกลาง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กำหนดวันที่ 2-6 พฤษภาคม 2562

และ 3.พระราชพิธีเบื้องปลาย คือพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวราราม ในปลายเดือนตุลาคม 2562

สำหรับพิธีทำน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน 107 แห่งตามโบราณราชประเพณี และทำพิธีพร้อมกันในวันที่ 6 เมษายน 2562

ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด 76 แห่งในวันที่ 8 เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ 9 เมษายน

จากนั้นทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดมาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์ รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร (จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง) ในวันที่ 18 เมษายน

และแห่เชิญน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งน้ำเบญจสุทธคงคา (แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี) และน้ำจากสระ 4 สระ (สระแก้ว สระเกษ สระคงคา สระยมนา ใน จ.สุพรรณบุรี) จากวัดสุทัศนเทพวราราม ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 เมษายนเพื่อพราหมณ์ประกอบพิธี

 

โอกาสนี้ วธ.จัดพิมพ์หนังสือ 4 เล่มเพื่อสร้างความเข้าใจในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย

หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ฉบับภาษาไทย และฉบับภาษาอังกฤษ อธิบายถึงความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

หนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อธิบายถึงรายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธี รวบรวมองค์ความรู้ความหมายของศัพท์แต่ละคำ

และหนังสือประมวลบทความเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำขึ้นใหม่เพื่อรวบรวมผลงานนักปราชญ์และเผยแพร่เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น โดยปกติพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลหนึ่งๆ จะจัดพระราชพิธี 1 ครั้ง แต่อาจจะมีบ้างที่จัด 2 ครั้ง เนื่องจากปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเครื่องมือในพระราชพิธีไม่ครบ หรือพระชนมพรรษายังน้อย เป็นต้น

สำหรับหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตอนหนึ่งได้พูดถึงความเป็นมาว่าเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์

ส่วนลำดับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฏขั้นตอนลำดับการพระราชพิธีชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย

โดยขั้นตอนและรายละเอียดของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามกาลสมัยมาจนถึงปัจจุบัน

โดยในขั้นตอนการเตรียมพระราชพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร เตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษกและเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี

ขณะที่การเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษกนั้น ขั้นตอนการเตรียมพิธีจะต้องมีการตักน้ำจากแหล่งสำคัญๆ เพื่อนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามตำราโบราณของพราหมณ์

น้ำอภิเษกจะต้องเป็นน้ำจาก “ปัญจมหานที” คือ แม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 สายในชมพูทวีป หรือในประเทศอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายนี้ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น น้ำสรงพระมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก และน้ำพระพุทธมนต์

อย่างไรก็ตาม ในสมัยสุโขทัย-อยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการนำน้ำปัญจมหานทีมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปรากฏหลักฐานว่า น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1-4 ยังใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศเพิ่มเติมอีก 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป

คือ แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก

แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี

แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง

แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม

และแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

เมื่อตักแล้วจะตั้งพิธีเสก ณ เจดียสถานสำคัญแห่งแขวงนั้นๆ แล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีที่กรุงเทพฯ

ในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้นำพิธีทางพระพุทธศาสนามาเพิ่มเติมด้วย ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก จึงมีน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

สำหรับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชอาณาจักรแล้วนำมาตั้งประกอบพิธีเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี 2493 ทำพิธีเสกน้ำ ณ มหาเจดียสถาน และพระอารามต่างๆ ในราชอาณาจักร จำนวน 18 แห่ง เท่ากับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม 1 แห่ง คือ จากวัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ เป็นวัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน แทน

ส่วนน้ำจากสระสองห้อง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ไม่ได้ใช้ในครั้งนี้ เนื่องจากแหล่งน้ำดังกล่าวตื้นเขินจนไม่มีน้ำ

 

หนังสือเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้ง 4 เล่ม วธ.จะแจกจ่ายสถานศึกษา ห้องสมุดประชาชน และหน่วยงานต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเนื้อหาจากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ที่

www.m-culture.go.th