ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มีนาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
ศึกเลือกตั้ง-กองทัพร้อน ย้อนปม ‘บิ๊กแดง- เสรีพิศุทธ์’
จับกระแส ‘บิ๊กป้อม’ ถอย? ดัน ‘บิ๊กป๊อก-บิ๊กช้าง’ คุมกลาโหม
จับตาจัดทัพ 5 เสือ ทบ.
ศึกชิงอำนาจทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้กองทัพร้อนระอุ เพราะนักการเมืองคู่แข่ง ในฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า พรรคประชาธิปไตย มองว่า กองทัพเป็นศัตรูคู่แข่งทางการเมือง
เช่นเดียวกับที่มองบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่เป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกเรียกว่าเป็นพรรคทหาร พรรค คสช. ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.
จึงมีการหาเสียง จึงพาดพิงและโจมตีกองทัพ โดยเฉพาะผู้นำทหารอย่างบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมปลุกความรู้สึกเกลียดชังที่มีต่อตัวทหารและกองทัพ
โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์บอกให้นักการเมืองทุกพรรคที่โจมตีกองทัพ ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” ไม่ใช่แค่ถูกนักการเมืองคนสำคัญออกมาตำหนิโจมตี
แต่ครั้งนั้น บิ๊กตู่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ก็ออกมาตำหนิ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วยการพาดพิงไปถึงบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช. บิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่มีทรัพย์สมบัติมหาศาล จนทำให้ต้องเกิดศึกชิงมรดก หลังบิ๊กจ๊อดเสียชีวิตด้วย
รวมทั้งเทียบรุ่นว่า บิ๊กแดง ตท.20 เป็นรุ่นหลัง ตนเองที่เป็นเตรียมทหาร 8 ตั้ง 12 รุ่น “อย่ามาทะลึ่ง” ดูจะเป็นคำติดปาก
พร้อมประกาศจะเป็นนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม และจะจัดการกับกองทัพไม่ให้ปฏิวัติได้อีก
ตอนนั้นทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ไม่พอใจอย่างมาก เพราะเป็นคนที่รักบิดามาก แต่ก็อดทนอดกลั้น เพราะไม่อยากขยายความขัดแย้ง และมองว่าเป็นความพยายามในการหาเสียงทางการเมืองเท่านั้น
“อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ขาดวุฒิภาวะ หยาบคาย จาบจ้วง ไม่เคยมองพฤติกรรมของตนเองและพวกพ้อง” พล.อ.อภิรัชต์กล่าวไว้ แต่ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงใคร
แต่ในที่สุด พล.อ.อภิรัชต์ก็ไม่อาจอดทนได้อีกต่อไป เพราะมองว่าเลยเถิด เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ดูหมิ่น เหน็บแนมเครื่องหมายบนหน้าอกของ พล.อ.อภิรัชต์ และกล่าวหาว่า วิ่งเต้นขอตำแหน่ง
รวมทั้งการดูหมิ่นทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยรอบนอก ในระหว่างที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ลงพื้นที่หาเสียงใน อ.เมืองปราจีนบุรี
พล.อ.อภิรัชต์จึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ในหลายข้อหา รวมทั้งการโพสต์ข้อความต่างๆ ในเฟซบุ๊ก ที่มีคนติดตามกว่า 1 ล้านคน ที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
แถมทั้งบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็สนับสนุนให้ พล.อ.อภิรัชต์แจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ “ก็ ผบ.ทบ.เป็นเจ้าของกองทัพบก ไปด่าเขา ก็เขาก็ต้องแจ้งความ”
เพราะแม้แต่กรณีที่ พล.ท.พงศกร รอดชมพู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แชร์ข่าวปลอม พล.อ.ประวิตรจิบกาแฟแก้วละ 12,000 บาท ก็ยังโดนคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
แต่ด้วยสไตล์นายตำรวจที่ไม่กลัวใคร เจ้าของฉายา “วีรบุรุษนาแก” จึงทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่สะทกสะท้านใดๆ แถมยังไล่ให้ พล.อ.อภิรัชต์ฟังเพลงหนักแผ่นดิน ที่เคยแนะให้นักการเมืองฟังเสียเองอีกครั้ง
กล่าวได้ว่า ทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นนายทหารบกและนายตำรวจที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ในแง่ของความห้าวเป้ง ใจร้อน จนทำให้ถูกจับตามองว่า ศึกครั้งนี้จะเกิดอะไรตามมา
อย่าลืมว่า พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ที่ทำให้เวลาสวมเครื่องแบบทหาร จะมีการติดเครื่องหมายต่างๆ เต็มหน้าอก ที่ล้วนเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ
บรรยากาศสู่การเลือกตั้ง จึงยิ่งตึงเครียด เพราะกองทัพถูกลากลงไปสู่สนามการเมืองด้วย ทั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีสถานภาพหัวหน้า คสช. ที่ลงสู่สนามการเมืองชิงเก้าอี้นายกฯ และทั้งโดยนักการเมืองที่ดึงเรื่องกองทัพไปหาเสียง
หวังเรียกคะแนนจากฝ่ายต่อต้านทหาร
ในขณะที่ต้องต่อสู้กับนักการเมือง เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์นั้น กองทัพเองก็ต้องเตรียมจัดทัพรับสถานการณ์ในโผโยกย้ายทหารกลางปีครั้งนี้ ที่ ผบ.เหล่าทัพส่งให้ พล.อ.ประวิตรเรียบร้อยแล้ว มีกำหนดส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ วันที่ 11 มีนาคม 2562 เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ
แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่า ไม่มีนายทหารในราชการมีชื่อได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ตาม แต่กระแสข่าวในกองทัพก็ยังสะพัด
โดยเฉพาะกระแสข่าวในกระทรวงกลาโหมสะพัดมากว่า พล.อ.ประวิตรจะวางมือทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตรจะไม่ร่วม ครม. ไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีใดๆ แม้แต่การเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหมก็ตาม
แต่จะไปช่วยงานอยู่เบื้องหลัง ในฐานะพี่ใหญ่ ที่จะต้องช่วยบริหารจัดการปัญหาในรัฐบาล เพราะเชื่อกันว่า พรรคพลังประชารัฐที่ดูดเอาเสือ สิงห์ กระทิง แรด มาจากหลายพรรคการเมือง ย่อมต้องออกฤทธิ์ในวันหนึ่งข้างหน้า
ในฐานะที่ พล.อ.ประวิตรเป็นส่วนหนึ่งใน “พลังดูด” นั้น ก็จำเป็นต้องคอยช่วยแก้ไขปัญหา เจรจาต่อรอง ด้วยอำนาจและบารมีแห่งพี่ใหญ่ที่มีอยู่
โดยเฉพาะการคุมเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ พล.อ.ประวิตรเป็นคนเลือกมากับมือ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดสรร ส.ว. ของ คสช. จนเชื่อกันว่า น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง พล.อ.ประวิตรเป็นคนคุมการเลือก ส.ว.นั่นเอง
แม้จะมีน้องรักของ พล.อ.ประวิตร อย่างบิ๊กสน พล.อ.สนธยา ศรีเจริญ อดีตแม่ทัพน้อยที่ 2 และบิ๊กอ้น พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา อดีตรอง เสธ.ทบ. น้องรักทหารเสือราชินี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลาออกจาก ทบ. มาเป็น ส.ว. คอยประสานดูแล ส.ว.ให้ เพราะเป็นผู้มีส่วนในพลังดูดก่อนหน้านี้ก็ตาม
แต่บารมีของพี่ใหญ่ยังคงจำเป็น
นอกเหนือจากเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตรรู้ตัวดีว่า ถ้าร่วม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” อีกครั้ง เพราะเรื่องนาฬิกาหรู และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ยังคงติดตัวและคาใจสังคม
จนทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีการตอกย้ำปมที่ว่า “เลือกบิ๊กตู่ แถมบิ๊กป้อม” หรือ “เลือกลุงตู่ แถมลุงป้อม”
จึงทำให้เกิดกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะควบเก้าอี้ รมว.กลาโหมด้วยตนเอง เพื่อที่จะคุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ ในวันที่ขาลอย ไม่ได้เป็นหัวหน้า คสช. และไม่มีอำนาจมาตรา 44 อยู่ในมืออีกต่อไป
อีกทั้งโครงสร้างของกองทัพบก มีการปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชาของหน่วยกำลังรบสำคัญของ ทบ. หรือที่เรียกว่า หน่วยขุมกำลังปฏิวัติรัฐประหาร ใหม่หมด
แม้จะมีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ น้องรักเป็น ผบ.ทบ.อยู่ก็ตาม แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็มีหลายตำแหน่ง หลายสถานภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่วางใจ 100% แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะได้พิสูจน์ใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เห็นมาตั้งแต่เหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ 2562 แล้วก็ตาม
แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควบ รมว.กลาโหมเสียเอง ก็มีโอกาสที่จะให้บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่รองแห่งบูรพาพยัคฆ์ มาเป็น รมว.กลาโหมให้ เพราะถือว่าเป็นที่ไว้วางใจที่สุด อีกทั้งมีดีกรีเป็นอาจินดา พี่รองแห่งบูรพาพยัคฆ์ มาเป็น รมว.กลาโหมให้ เพราะถือว่าเป็นที่ไว้วางใจที่สุด อีกทั้งมีดีกรีเป็นอดีต ผบ.ทบ. และ รมว.มหาดไทย
แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์หลังการเลือกตั้งนั้น คาดว่า อาจจะต้องยอมเสียเก้าอี้ มท.1 รมว.มหาดไทย ให้พรรคร่วมรัฐบาล จึงอาจไม่มีเก้าอี้ให้ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ก็ถือว่าเป็นตัวแทนของ พล.อ.ประวิตรได้ด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เป็น รมว.กลาโหมก็ตาม พล.อ.ประวิตรก็ยังถูกมองว่าจะเป็น รมว.กลาโหมเงา อยู่เบื้องหลังอยู่ดี
หากเป็นสูตรนี้ เก้าอี้ รมช.กลาโหมจะยิ่งมีความสำคัญมาก เพราะจะต้องเป็นคนขับเคลื่อน และทำเรื่องเนื้องานแทนทั้งหมด
แน่นอนว่า พล.อ.ประวิตรจะเป็นคนเลือก เพราะเป็นเก้าอี้ในโควต้าของพรรคพลังประชารัฐเอง เพราะคาดว่า คงไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลใดที่ต้องการจะได้โควต้าเก้าอี้ รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหม หรือมีคนที่เหมาะสม
โดยเป็นที่รู้กันว่า พล.อ.ประวิตรได้เลือกบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ให้เป็นตัวแทน หาก พล.อ.ประยุทธ์ควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม หรือแม้ว่า พล.อ.อนุพงษ์จะเป็น รมว.กลาโหมก็ตาม พล.อ.ชัยชาญก็จะเป็น รมช.กลาโหม ช่วยงานและสานงานต่อได้อย่างต่อเนื่อง
แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์วางใจให้ พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่กุมบังเหียนกองทัพเองทั้งหมด ด้วยการปล่อยเก้าอี้ รมว.กลาโหมให้พี่ใหญ่จัดการ
ก็เป็นที่รู้กันดีว่า พล.อ.ประวิตรก็จะยังคงวางใจให้ พล.อ.ชัยชาญนั่งเป็น รมว.กลาโหมแทนตนเอง ในฐานะที่ พล.อ.ชัยชาญทำงานเข้าตาถูกใจ พล.อ.ประวิตร มาตั้งแต่เป็นปลัดกลาโหม จนมาเป็น รมช.กลาโหม
แถมทั้ง พล.อ.ชัยชาญ นายทหารม้าสายบุ๋น เป็นแกนนำเตรียมทหาร 16 ที่เพื่อนในรุ่นอยู่ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะองคมนตรี
ที่แน่นอนว่า ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม เอง หรือว่าจะให้ พล.อ.ชัยชาญเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตรก็จะยังคงเป็นเสมือน รมว.กลาโหมเงา ที่คอยช่วยเหลือดูแล หรือตัดสินใจอยู่เบื้องหลัง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ชัยชาญ อยู่เช่นเคย
แต่ที่ถูกจับตามองกันมาก ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แต่ก็เล็งกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯ แน่ แต่ในกลาโหมก็มองไปที่ตัว รมช.กลาโหมแล้วว่า ใครจะมาเป็นแทน พล.อ.ชัยชาญ
ท่ามกลางกระแสข่าวที่พุ่งตรงไปที่บิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ลูกรัก พล.อ.ประวิตร ที่อาจจะลาออกไปเป็น รมช.กลาโหม เมื่อถึงเวลานั้น
นี่เองจึงกลายเป็นที่มาของกระแสข่าวลือที่ว่า ในโผโยกย้ายทหารครั้งนี้ บิ๊กตู่ พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผช.ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.20 ของ พล.อ.ณัฐ และเป็นน้องรักของบิ๊กป้อม จะข้ามห้วยมาเป็นรองปลัดกลาโหม เพื่อเตรียมจ่อขึ้นเป็นปลัดกลาโหม แทน พล.อ.ณัฐ หากลาออกไปเป็น รมช.กลาโหม
แต่ในเมื่อ พล.อ.กู้เกียรติปฏิเสธกระแสข่าวการย้ายไปเป็นรองปลัดกลาโหม ว่า ไม่เป็นความจริง จะยังคงทำงานใน ทบ.ต่อไปนั้น ก็อาจจะสะท้อนได้ว่า พล.อ.ณัฐไม่ต้องการจะลาออกไปเป็น รมช.กลาโหม
ด้วยเพราะ พล.อ.ณัฐ เป็นคนที่รักในอาชีพทหารอย่างมาก อีกทั้งมีอายุราชการถึงกันยายน 2564 คงไม่อยากที่จะต้องลาออกไปเล่นการเมือง เพราะถึงอย่างไรก็ต้องช่วยงาน พล.อ.ประวิตรอยู่เบื้องหลังอยู่แล้ว
ยกเว้น พล.อ.ประวิตรจะเลือกนายทหารคนอื่นๆ มาเป็น รมช.กลาโหมแทน เช่น พล.อ.กู้เกียรติเองที่ออกตัวไว้ว่า “เมื่อถึงเวลาก็ต้องไป”
หรืออาจเป็นบิ๊กเข้ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ อดีตปลัดกลาโหม สายทหารเสือราชินี น้องรักทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร
แม้ พล.อ.กู้เกียรติจะมั่นใจว่าตนเองได้อยู่กองทัพบกต่อ แต่ก็เกิดกระแสข่าวว่า ในระดับ 5 เสือ ทบ. อาจมีการขยับ หากบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ได้ถูกเลือกให้ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
หลังจากที่ เดิมมีชื่อของบิ๊กอั๋น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา รองปลัดกลาโหม น้องรักจะไปแทนบิ๊กลภ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาฯ สมช. ที่มีข่าวว่าจะได้ไปเป็น ส.ว. ก่อนที่จะเกษียณกันยายนนี้
แต่ พล.อ.ณัฐพล และ พล.อ.สมศักดิ์ก็ยืนยันว่า ยังไม่ได้มีใครถูกทาบทาม แต่ก็อาจจะรู้ตัว เมื่อใกล้ๆ ที่คำสั่งจะออกเลยก็เป็นได้
แม้ พล.อ.ณัฐพลจะเหมาะสมในการเป็นเลขาฯ สมช. แต่ที่ผ่านมา เป็นนายทหารที่เป็นแกนหลักสำคัญในการเดินงานทั้งของกองทัพบก กอ.รมน. และ คสช. หาก ทบ.ไม่มี พล.อ.ณัฐพล ก็สะเทือนไม่น้อย
เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีการวางตัวให้ พล.อ.ณัฐพลขยับไปจ่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนต่อไป แทนบิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ที่จะเกษียณกันยายน 2563 แต่ก็น่าจะเป็นโยกย้ายใหญ่ปลายปี
แต่ในโผนี้ หาก พล.อ.ณัฐพลถูกโยกออกไปเป็นเลขาฯ สมช. หรือตำแหน่งอื่น นั่นหมายถึงย่อมต้องมีการขยับใหญ่ใน ทบ.
แต่ พล.อ.อภิรัชต์น่าจะเลือกปรับเล็กมากกว่า ปรับใหญ่ในสายกำลังรบ โดยร่ำลือกันว่า พล.อ.กู้เกียรติจะขยับขึ้นเป็นรอง ผบ.ทบ. ในฐานะที่เป็นเพื่อน ตท.20 ของ พล.อ.อภิรัชต์ และมีการขยับบิ๊กเป้ง พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. และให้บิ๊กแก้ว พล.ท.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ รอง เสธ.ทบ. (ตท.21) ขึ้นมาเป็น เสธ.ทบ.คู่ใจของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่นอกจากซี้กันตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว พล.ท.เฉลิมพลยังเป็นรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.อภิรัชต์ด้วย
แต่ก็ถือว่าเป็นสูตรที่สะเทือนขุมกำลังน้อยที่สุด แต่ก็จะทำให้นายทหารม้าอย่าง พล.ท.เฉลิมพล ที่เกษียณกันยายน 2566 ถูกจับตามองขึ้นมาทันที และพร้อมชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนต่อไปกับบิ๊กบี้ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.22) ที่เกษียณกันยายน 2566 เช่นกันอีกด้วย
อยู่ที่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ได้รับสัญญาณใดลงมาหรือไม่ อย่างไร
เพราะในยุคนี้ ไม่ว่าเรื่องทางการเมือง หรือเรื่องในกองทัพ ต่างก็ต้องเช็กสัญญาณ ทิศทางลม เสียก่อนเสมอ