มนัส สัตยารักษ์ | คำพูดในภาษาที่ดิ้นได้

นักเขียนท่านหนึ่งโพสต์ความคิดของเขาไว้ในหน้าของเฟซทำนองว่า

“คนในสังเวียนไม่น่ากลัวเท่าไร ที่น่ากลัวมากกว่าคือกองเชียร์!”

ความจริงนี้ทำให้ผมหัวร่อก๊ากในใจ เพราะตัวเองมีประสบการณ์ได้รับบทเรียนที่น่ากลัวอย่างว่ามาก่อนแล้วครั้งที่เริ่มใช้เฟซบุ๊กใหม่ๆ ความรู้สึกหวั่นกลัวเกิดขึ้นจากที่ได้มือบอนไป “คอมเมนต์” ถึงข้อคิดเห็นของใครต่อใครที่อยู่บนเพจสังเวียน ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านก็ตาม เรามักจะได้รับคำตอบที่หยาบคายและเจ็บแสบตามมาทันทีเสมอ

กว่าจะเรียนรู้ธรรมชาติของคนและทำใจได้ก็ใช้เวลานาน

คนบนสังเวียนนั้นเขาคงจะเคยชินกับการต่อสู้ด้วยวาทกรรม พวกเขาจะปล่อยให้ผลแพ้-ชนะเป็นเรื่องธรรมชาติหรือของกฎหมายที่พอจะมีกรอบและขอบเขตที่ชัดเจน คนที่ตอบโต้อย่างหนักและโหดร้ายรุนแรงกลับเป็นกองเชียร์ หรือบริวารใกล้เคียงหรือคนรอบข้าง หรืออาจจะเป็นแค่ “สาวก” ที่ศรัทธา หรือเป็นคนห่างไกลที่บังเอิญเห็นพ้องกับความคิดในโพสต์นั้นอยู่ก่อนก็ได้

อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็ยังเป็น “ทาส” คำพูดของตัวเองโดยไม่มีอายุความ-นี่เป็นสัจธรรม

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาเท่าใด ความสำคัญของ “คำพูด” ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะ “อดีตคำพูด” ยิ่งมีความสำคัญ ด้วยว่าเป็นคำพูดที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองมาก่อนนั้นเป็นข้อมูลที่ฝ่ายตรงข้าม (ในการเลือกตั้ง) จะนำมาใช้เป็น “อาวุธ” ประจานผู้พูด

แม้เจ้าของคำพูดนั้นจะได้ยอมรับผิดและขอโทษหรือรับโทษไปแล้ว หรือเจ้าตัวและทีมงานจะเพียรพยายามแก้ไขไปแล้วก็ตาม

จุดอ่อนของคำพูดมีมากมาย

เริ่มแต่ภาษาไทยเป็นภาษาที่ “ดิ้นได้” กำกวม เหมาะสำหรับคนหัวหมอในวัฒนธรรมศรีธนญชัย

ประโยคเดียวกันคนหวังดีตีความไปอย่างหนึ่ง

คนประสงค์ร้ายสามารถตีความไปได้อีกอย่างหนึ่ง

บางคำพูดที่ยาว ประกอบด้วยหลายประโยค คนหวังร้ายก็จะเลือกหยิบเอาเฉพาะประโยคหรือวลีที่ “เข้าตีน” เอาถล่มเล่นงานซ้ำซากจนผู้ฟังหลงเชื่อและยึดมั่นว่าเป็นความจริง

ในความเป็นจริง ทุกคำพูดย่อมมีบริบทหรือมีสิ่งแวดล้อมของมัน มีที่มาที่ไปของมัน อาจจะเหมาะสมดีเยี่ยมในที่กาละหนึ่งและในเทศะหนึ่ง แต่เมื่อนำมาใช้ในบางสถานะอาจจะกลายเป็นเรื่องผิดที่ผิดเวลา และอาจจะเป็นเรื่องเลวร้ายสุดๆ ไปก็ได้

ความจริงแล้วเรื่อง “ภาษาดิ้นได้” เป็นเรื่องปกติธรรมดาในเมืองไทย จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาแค่ 2 หรือ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเราค่อนข้างจะสับสนกับเรื่องสำคัญอย่างน้อย 4 เรื่อง ทุกเรื่องมีปัญหาเพราะ “ภาษาดิ้นได้” แทรกเป็นยาดำ

นั่นคือ เรื่อง พ.ร.บ.ข้าว ที่จะกำหนดอนาคตและความอยู่รอดของประเทศ กับเรื่องควันพิษ PM 2.5, ปลดล็อกกัญชา และ มติไม่แบนพาราควอต ซึ่งจะกระทบกระเทือนไปถึงชีวิตและสุขภาพของประชากรแน่นอน

ไม่น่าเชื่อว่าความสับสน กำกวมและอื้อฉาว เกิดขึ้นได้ทั้งที่ผู้พิจารณาเรื่องเหล่านี้ล้วนประกอบไปด้วยข้าราชการระดับสูง นายทหารชั้นพลเอก นักวิชาการระดับปริญญาเอก และนักธุรกิจระดับนำสุดของประเทศ แต่ทุกคนเหมือนร้องเพลงคนละคีย์

ความไม่น่าเชื่อที่คนระดับนี้ไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้ระหว่าง “ความสะดวกในการฆ่าหญ้า” กับ “ความปลอดภัยต่อชีวิตของประชากร”

แต่ละเรื่องใช้เวลานาน ใช้ภาษากำกวม จนมีข่าวอื้อฉาว ไม่น่าเชื่อ และประชาชนยังไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร

มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าจะนำมาประกอบการพิจารณาใน “คำพูด” นั่นก็คือ ผู้พูดประโยคที่เป็นปมประเด็นขึ้นมานั้น ท่านรู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังพูดอยู่กับใครและในวาระใด สื่อและโซเชียลที่นำมาเผยแพร่ขยายความรับรู้หรือไม่ถึงความจริงตรงนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้พูดมักจะมีความมุ่งมั่นและมีอารมณ์ครอบงำเสียจนลืมไปว่ากำลังพูดอยู่กับใคร และสื่อก็ชอบที่นำไปขยายเพราะเป็นเรื่องที่ “ขายได้”

รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พูดกับสื่อถึงความเห็นใน “มาตรา 112” โดยคิดว่ากำลังพูดกับนักศึกษา จึงถูกสื่อตีความไปต่างๆ นานา

ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค พูดถึงยินดีรับ “โรฮิงญา” มาช่วยพัฒนาประเทศ อาจจะคิดว่าในหมู่ผู้ฟังนั้นมีชาวโรงฮิงญาและผู้สื่อข่าวต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ UNHCR ฟังอยู่ด้วยก็ได้

อย่าว่าแต่คนหนุ่มหน้าใหม่ที่มีแฟนคลับอย่างพรรคอนาคตใหม่จะฮึกเหิมจนเผลอพูดผิดที่ผิดเวลาเลยครับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งกลายเป็นหน้าเก่ามาเกือบ 5 ปีแล้ว ก็เคยพลาดในการประเมินผู้ฟังผิดหลายครั้งหลายหน ทำให้ลืมตัวออกอาการเกรี้ยวกราดจนต้องออกมาขอโทษ ในภายหลัง

เช่น กรณีที่ตวาดใส่ชาวประมงร้องทุกข์ที่จังหวัดปัตตานี ตะเพิดผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ ท่านอาจจะเผลอคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมือง หรือเป็นบริวารของกลุ่มอำนาจเก่า

และไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงปัญหาการทำงานของฝ่ายรัฐ กับปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชั่น… ผมฟังไปแค่พักเดียวก็เห็นว่าท่านไม่น่าจะพูดเรื่องเหล่านี้กับสื่อหรือพูดกับสังคม

ท่านควรพูดกับข้าราชการ หรือคนใกล้ตัวและคนรอบตัวท่านมากกว่า

หลังจากวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผ่านไป เราก็จะมีสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเปิดสภา สมาชิกสภา หรือ ส.ส. สามารถพูดแบบ “เปิดหน้าชก” ได้ แต่ละพรรคต่างมีนโยบายดีๆ พร้อมเสนอ ชาวบ้านส่วนหนึ่งเขาอยากเห็นสภาสร้างใหม่และอยากฟังสมาชิกสภาหน้าใหม่มากกว่าเรื่องเก่าจากหน้าเก่า…ประเทศไทยหยุดเดินหรือเดินถอยหลังไม่ได้แล้ว

ในสภาไม่มี คสช. ไม่มีมาตรา 44 ไม่มีเจ้าหน้าที่ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และมีกฎหมายคุ้มครองสมาชิกฯในสมัยประชุม ทุกคนยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอาญาเดียวกัน

และเรายังหวังว่าเราจะแก้ปัญหาบ้านเมืองในรัฐสภาได้มากกว่าแก้กันกลางถนน

และโดยไม่จำเป็นต้องใช้เพลงปลุกใจ