สุรชาติ บำรุงสุข | อนาคตการเมืองไทย : ข้อสังเกต 24 ประการ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ความภักดีต่อประเทศนั้น ต้องมีอยู่เสมอ แต่ความภักดีต่อรัฐบาล จะมีก็ต่อเมื่อรัฐบาลนั้นสมควรได้รับ”

มาร์ค ทเวน, นักเขียนชาวอเมริกัน

บทความนี้จะขอทดลองนำเสนอข้อสังเกตในระดับมหภาค 24 ประการ

ดังนี้

การต่อสู้ของสองอุดมการณ์

1)ถ้าต้องมองอนาคต คงต้องถอยหลังกลับมาใคร่ครวญกับสถานการณ์ปัจจุบัน เท่าๆ กับที่ต้องพิจารณาอดีตของการเมืองไทยด้วยความเข้าใจว่า จากอดีตการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน พัฒนาการการเมืองไทยสมัยใหม่โดยรวมคือ ภาพสะท้อนของการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ 2 ฝ่าย คือ อนุรักษนิยม (ที่มีเสนานิยมเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด และพึ่งพิงซึ่งกันและกัน) กับเสรีนิยม อันทำให้เกิดภาพของการแข่งขันระหว่างเผด็จการทหารกับประชาธิปไตยเสรีนิยม และสืบเนื่องจนปัจจุบัน

2) การต่อสู้ดังกล่าวสอดรับกับบริบทของการเมืองโลก ที่สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันทางอุดมการณ์ใน 3 ช่วงเวลา และหากถือเอาสงครามเย็นเป็นเส้นแบ่งของเวลาแล้ว จะเห็นถึงการต่อสู้ชุดที่หนึ่งอยู่ในยุคก่อนสงครามเย็นที่อาจถือว่า เหตุการณ์ปี 2475 เป็นจุดสูงสุดของชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยม และจบลงพร้อมกับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ระบอบเสนานิยมกลับมิได้จบลง

3) การต่อสู้ชุดที่สองเกิดในยุคสงครามเย็น ที่เริ่มต้นด้วยรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นดังชัยชนะชุดใหญ่ของฝ่ายอนุรักษนิยมและเสนานิยม แต่ฝ่ายเสรีนิยมก็ประสบชัยชนะครั้งใหญ่ในปี 2516 และถูกทำลายลงในปี 2519 แต่ก็มีการแทรกซ้อนเข้ามาด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม การต่อสู้นี้เกิดท่ามกลางกระแสโลกของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ รัฐบาลทหารกลายเป็นคำตอบในการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ จนเมื่อสงครามชุดนี้จบในไทยในปี 2525-2526 และจบลงในเวทีโลกในปี 2532 การสิ้นสุดของสงครามเย็นเป็นชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยมในเวทีโลก แต่มิได้หมายถึงชัยชนะของเสรีนิยมไทย

4) หลังยุคสงครามเย็นคงเหลือเพียงอุดมการณ์ 2 ชุดที่ต่อสู้กันไม่จบและดำเนินต่อไป การต่อสู้ชุดที่สามมีบริบทของโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ และการต่อสู้ชุดนี้เริ่มต้นด้วยรัฐประหาร 2534 และชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยมในปี 2535 ที่มาพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540 แต่ก็มิได้บ่งบอกถึงจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ แม้กระแสเสรีนิยมทวีความเข้มแข็งมากขึ้นภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ แต่เสรีนิยมไทยยังคงเปราะบางเมื่อต้องเผชิญกับอนุรักษนิยมที่ผนึกกำลังกับเสนานิยมไม่เปลี่ยนแปลง

5) การโค่นล้มฝ่ายเสรีนิยมในการเมืองไทยร่วมสมัย มีเส้นแบ่งเวลาที่สำคัญสองช่วงคือ รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 อันบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงสภาวะของฝ่ายอนุรักษนิยมที่พึ่งพาตัวเองด้วยการเลือกตั้งไม่ได้ การได้อำนาจยังคงต้องอาศัยพลังของเสนานิยม กล่าวคือ ปีกอนุรักษนิยมไทยยังก้าวสู่ความเป็นฝ่ายขาวที่ทันสมัยในโลกปัจจุบันไม่ได้ เช่น ที่ปีกขวายุโรป-อเมริกามีลักษณะเป็นประชานิยมปีกขวา (Rightwing Populism) และก้าวสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง แต่อนุรักษนิยมไทยยังคงเป็นขวาเก่าที่พิงอยู่กับเสนานิยมเช่นที่เห็นมาตั้งรัฐประหาร 2490 โดยอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือของการได้อำนาจ และใช้รัฐประหารเป็นกลไกทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม

6) ในเงื่อนไขที่กองทัพเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นของฝ่ายขวาในการเมืองไทย หรือในอีกมุมหนึ่ง กองทัพไทยคือองค์กรของฝ่ายขวาในตัวเอง กองทัพไทยไม่ใช่ตัวแทนของชนชั้นกลางในแบบละตินอเมริกา และกองทัพไทยก็ไม่ใช่ตัวแทนของทุกชนชั้นเช่นในรัฐอาณานิคมที่กองทัพมีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ กองทัพไทยในบริบทเช่นนี้จึงแทบไม่เคยแสดงบทบาทที่ก้าวหน้าได้

7) การที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยต้องยึดโยงอยู่กับฝ่ายเสนานิยมเป็นเพราะฝ่ายขวาไทยพัฒนาตัวเองไม่ได้ และไม่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมทั้งในมติการเมืองและเศรษฐกิจ และยิ่งในหลายปีที่ผ่านมา แรงกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้พลังเสรีนิยมเข้มแข็งขึ้น เท่าๆ กับที่พลังอนุรักษนิยมไทยอ่อนแรงลง มิไยต้องกล่าวถึงพลังของเสนานิยม ที่มีทิศทางของความพ่ายแพ้ใหญ่ในละตินอเมริกาตั้งแต่ปี 2523 แล้ว ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นทางเลือกในทางการเมืองแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ถึงความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญของโลกในละตินอเมริกา ประกอบกับในหลายปีของการเมืองไทยที่ฝ่ายขวาขาดการพัฒนาทางการเมือง ขวาไทยจึงแทบไม่ประสบชัยชนะในสนามการเลือกตั้งเลย ต่างกับขวาในการเมืองยุโรปปัจจุบันอย่างมาก ที่เดินหน้าต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งเป็นทิศทางหลัก

8) แม้รัฐประหาร 2549 และ2557 ในด้านหนึ่งคือชัยชนะของฝ่ายอนุรักษนิยม-เสนานิยม ที่สามารถโค่นล้มฝ่ายเสรีนิยมได้ตามต้องการ แต่ในอีกด้านคือรัฐประหารคือความพ่ายแพ้ ที่ฝ่ายดังกล่าวกลับไม่สามารถเอาชนะในกติกาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ดังจะเห็นถึงการแพ้ในการเลือกตั้งในปี 2550 และ 2554 คำตอบในอนาคตจึงเหลือประการเดียวคือ จะต้องสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมือง โดยไม่ต้องสนใจมาตรฐานใดๆ เพื่อให้ฝ่ายอนุรักษนิยมที่พ่วงอยู่กับเสนานิยมได้รับชัยชนะ

สถาปัตยกรรมของระบอบพันทาง

9)สถาปัตยกรรมของระบอบทหารปัจจุบันออกแบบด้วยความจงใจให้โครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองมีความพิกลพิการในตัวเอง และความพิกลพิการทางการเมืองเช่นนี้คือ หลักประกันว่าฝ่ายอนุรักษนิยม-เสนานิยมเท่านั้นต้องชนะ ซึ่งก็คือการออกแบบให้ระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการรัฐประหารสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อไป โดยมีกระบวนการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือให้เกิดความชอบธรรม

10) กระบวนการเช่นนี้คือการฟอกตัวของระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งเป็นผงซักฟอก และจุดหมายปลายทางคือ ความสำเร็จในการจัดตั้งระบอบพันทาง (Hybrid Regime) อันทำให้เกิดระบอบอำนาจนิยมที่ผ่านการเลือกตั้ง (คือเป็น electoral authoritarianism) ดังเช่นตัวแบบในรัสเซีย ตุรกี หรือกัมพูชา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสร้าง “ระบอบกึ่งอำนาจนิยม” (Semi-Authoritarian Regime) หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” การออกแบบของสถาปนิกฝ่ายอำนาจนิยมจึงเป็นประเด็นสำคัญ

11) สถาปัตยกรรมชุดนี้จึงออกแบบโครงสร้างการเมืองแบบพิเศษ ได้แก่ 1) รัฐธรรมนูญ 2560 2) กฎหมายลูกฉบับต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการสร้างประชาธิปไตย 3) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 4) การยกสถานะ กอ.รมน. 5) การขยายบทบาทของกองทัพในการเมือง 6) รัฐภายใต้การอุปถัมภ์ของทุนใหญ่ และมาพร้อมกับการออกแบบกลไกที่สำคัญ 1) กลไกทางกฎหมาย 2) กลไกของการโฆษณาทางการเมือง 3) กลไกของการควบคุมทางสังคม 4) กลไกขององค์กรอิสระที่เป็นต้นรากของปัญหาตุลาการธิปไตย 5) กลไกรัฐราชการ การออกแบบทั้งสิบประการเช่นนี้จะเป็นพันธนาการไม่ให้สังคมการเมืองไทยก้าวสู่ความเป็นเสรีนิยมได้ และเป็นกับดักของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต

12) สถาปัตยกรรมของ คสช. จึงไม่ใช่การออกแบบให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ สิ่งที่ถูกออกแบบกลับเป็นความพยายามที่จะสร้างระบอบกึ่งอำนาจนิยมเพื่อหยุดยั้งความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratic transitions)

13) แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านหลายครั้งในการเมืองไทย แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย (democratic consolidation) ได้จริง เช่น เรามีฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพหรือ “บางกอกสปริง” (The Bangkok Spring) ถึง 2 ครั้งในปี 2516 และ 2535 แต่ก็เป็นฤดูใบไม้ผลิที่ไม่ยั่งยืน เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยไทยจะต้องคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านมากกว่ากระบวนทัศน์ในแบบเดิม ที่เชื่อว่าเปลี่ยนผ่านครั้งเดียวแล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้เลย

14) ปรากฏการณ์นี้ตอบในเชิงทฤษฎีว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดในการเมืองไทยไม่สามารถเดินไปสู่จดสุดท้ายที่ประชาธิปไตยกลายเป็นกติกาหลักของการแข่งขันทางการเมือง (สภาวะเช่นนี้เรียกว่า “transition without consolidation”) ทำให้การเปลี่ยนผ่านในอนาคตอาจต้องคิดในแบบสองจังหวะ เพราะการเปลี่ยนผ่านแบบจังหวะเดียวไม่เพียงพอที่จะพาประเทศออกจากระบอบอำนาจนิยมได้จริง

15) การเปลี่ยนผ่านแบบสองจังหวะ คือการเปลี่ยนผ่านครั้งแรกเพื่อการลดทอนอิทธิพลของระบอบเดิมที่ออกแบบโครงสร้างให้การเมืองหลังเลือกตั้งเป็นกึ่งอำนาจนิยม หรือเป็นขั้นตอนที่จะต้องทำลายอิทธิพลของระบอบอนุรักษนิยมและเสนานิยม

การเปลี่ยนผ่านครั้งที่สองคือการพาระบอบการเมืองก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม เพื่อให้ประชาธิปไตยเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองหลักของประเทศ ซึ่งจังหวะที่สองคือการทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง อันเป็นความคาดหวังว่า ประชาธิปไตยจะเป็นกติกาเดียวในการแข่งขันทางการเมืองของประเทศ

ผลลัพธ์ในอนาคตระยะสั้น

16)การต่อสู้ที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นระหว่างอุดมการณ์ 2 ชุดดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น ทำให้การแข่งขันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีผลลัพธ์คือ 1) ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ผสมผสานกับเสนานิยมและผนวกตัวเข้ากับทุนนิยมชนะ และออกผลใน 2 รูปแบบ คือ 1.1) พรรคทหาร (มีเสียงในระดับหนึ่ง) แต่รวบรวมเสียงในสภาล่างบวกกับเสียงในสภาสูง ชนะเด็ดขาด จัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นในแบบรัฐบาลผสม หรือเป็นตัวแบบสหประชาไทย 2512 และ 1.2) พรรคทหาร (มีเสียงในระดับหนึ่ง ไม่ชนะในสภาล่าง) แต่อาศัยเสียงสภาสูง ตั้งรัฐบาล เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือตัวแบบกิจสังคม 2518 ทั้งสองตัวแบบง่อนแง่นในตัวเอง 2) ฝ่ายค้านชนะด้วยเสียงข้างมากในสภาล่าง จัดตั้งรัฐบาลฝ่ายเสรีนิยม ใน 2 รูปแบบ คือ 2.1) เป็นรัฐบาลผสม และ 2.2) ชนะเด็ดขาด ตัวแบบมาเลเซีย หรือเทียบเคียงได้กับตัวแบบของเมียนมา

17) แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีบทเรียนที่สำคัญว่า รัฐบาลผสมหรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยมักจะมีปัญหาไม่แตกต่างกันคือ อายุสั้น บริหารไม่ได้ เปราะบาง และไร้เสถียรภาพ และที่สำคัญผู้นำทหารจะประสบปัญหาในการคุม ส.ส. และอาจเผชิญกับการกบฏของ ส.ส. เหล่านี้ได้ตลอดเวลา

18) ประวัติศาสตร์ในอีกด้านชี้ว่า พรรคทหารหรือเรียกชื่อเต็มว่า “พรรคของระบอบทหาร” (regime party) เป็นพรรคเฉพาะกิจ และมักจะไม่มีอายุยืนยาว ไม่ว่าจะเป็นพรรคมนังคศิลายุคจอมพล ป. พรรคชาติสังคมยุคจอมพลสฤษดิ์ พรรคสหประชาไทยยุคจอมพลถนอม และพรรคเสรีธรรมยุค พล.อ.สุจินดา พรรคเหล่านี้ไม่เคยดำรงอยู่ได้ในระยะยาว และสิ้นสุดไปตามภารกิจ

19) แต่หากเกิดรัฐบาลของฝ่ายเสรีนิยม แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ก็มีสภาพเป็นเป็ดง่อย (หรือที่การเมืองตะวันตกเรียกว่า lamb-duck government) คือรัฐบาลที่อ่อนแอและบริหารไม่ได้ และตกอยู่ภายใต้สถาปัตยกรรมของ คสช. ที่ถูกออกแบบเพื่อพันธนาการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ซึ่งก็คือการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยจะต้องเป็นสองจังหวะ หรือต้องมีการเปลี่ยนผ่านสองครั้ง

ทหารกับการเมืองไทย และการปฏิรูปกองทัพ

20)ปัญหาสำคัญอีกประการในอนาคตที่ละเลยไม่ได้คือการพากองทัพออกจากการเมือง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กองทัพต้องลดบทบาททางการเมือง เพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างทหารอาชีพของไทย

21) หลังการเลือกตั้งไม่ว่าฝ่ายเสรีนิยมจะแพ้หรือชนะ เสียงเรียกร้องในการปฏิรูปกองทัพจะมีมากขึ้นทั้งในและนอกสภา ดังนั้น ผู้นำกองทัพในอนาคตจะต้องคิดถึงการลดบทบาททางการเมืองของทหาร และต้องคิดถึงประเด็นการปฏิรูปจากมุมมองของฝ่ายทหารคู่ขนานไปกับสังคม

22) ถึงเวลาที่ผู้นำกองทัพควรจะต้องยอมรับว่า การมีบทบาททางการเมืองไม่ใช่วิถีของการสร้างและพัฒนากองทัพสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันสังคมเองก็เรียกร้องให้กองทัพเป็นทหารอาชีพมากกว่าทหารการเมือง ดังนั้น เสียงเรียกร้องในการปฏิรูปกองทัพและการสร้างทหารอาชีพของไทยหลังการเลือกตั้งจะดังมากขึ้น และเป็นแรงกดดันโดยตรงต่อผู้นำทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

23) การปฏิรูปกองทัพอาจจะไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่จะทำให้รัฐประหารหมดไปจากการเมืองไทย แต่การปฏิรูปเป็นหลักการพื้นฐานของการสร้างทหารอาชีพ และจะเป็นโอกาสของการพัฒนากองทัพไทยให้มีความทันสมัย มากกว่าความทันสมัยทางทหารที่มีดัชนีจากการมีอาวุธสมัยใหม่

24) การปฏิรูปกองทัพเป็นรากฐานของความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หรืออาจกล่าวเป็นเงื่อนไขว่า จะเปลี่ยนผ่านสำเร็จ ต้องปฏิรูปทหารให้สำเร็จ และจะปฏิรูปทหารสำเร็จ ก็ต้องเปลี่ยนผ่านให้สำเร็จ…

การผูกโยงของสองปัจจัยในสองเงื่อนไขนี้ต้องถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทย!