ไม่มีทางที่ประชาชน จะเทคะแนนให้อีกฝ่ายอย่างล้นหลาม!

อำนาจที่ถูก “ล็อก”

การเขียนกติกาเพื่อสร้างความยุ่งยากให้กับการหาเสียงของพรรคการเมือง หวังผลให้คะแนนที่ได้รับเลือกกระจัดกระจาย ปิดทางที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมาก รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสมที่จำต้องอาศัยอำนาจพิเศษในอันที่จะควบคุมให้อยู่ในวินัยของการทำงานร่วมกัน

ผู้ที่จะต้องปวดหัวนอกจากพรรคการเมืองแล้ว ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ต้องใช้ความสามารถในการทำความเข้าใจกติกาไม่ใช่น้อย

เขตเดียว เบอร์เดียว วันแมน วันโหวต เลือก 2 ระบบ แต่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกคนส่งผลต่อคะแนนของพรรค เลือกพรรคส่งผลต่อคะแนนของคน

ตามด้วยวิธีการนับคะแนนที่ซับซ้อน

อำนาจของประชาชนเที่ยวนี้จึงต้องมาด้วยความพยายามเข้าใจกติกาอย่างยิ่ง

อำนาจของประเทศนี้ไม่ง่ายสำหรับประชาชนที่จะใช้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะยุ่งยากแค่ไหน แต่นักการเมืองทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกติกา ซึ่งเป็นคนกำหนดเกมให้คนอื่นเล่น หรือฝ่ายที่ต้องจำนนต่อกติกาที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ล้วนแล้วแต่พยายามติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ประชาชนจะใช้วิธีคิดอย่างไรในการกาบัตรลงคะแนนครั้งนี้

การสำรวจความคิดประชาชน บางพรรคจ้างมืออาชีพทำเอง บางพรรคอาศัยหน่วยงานการข่าวของราชการเป็นคนทำ ขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาศัยติดตามจากสำนักโพล ซึ่งมีหลายสำนัก

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” ออกมาแล้ว

ในคำถาม จะเลือกคน (ผู้สมัคร) หรือเลือกพรรค ร้อยละ 36.39 ตอบว่า “เลือกพรรค” ร้อยละ 32.64 ตอบว่า ทั้งบุคคลและพรรคการเมือง ที่ตอบว่าเลือกบุคคลมีร้อยละ 30.96

รวมความว่าสูสีกันระหว่างความคิดเลือกคนกับเลือกพรรค

เมื่อถามว่าที่เลือกคนเป็นคนแบบไหน 5 อันดับแรกคือ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ร้อยละ 23.71, ส.ส.ที่ลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน ร้อยละ 22.46, มีความรู้ความสามารถ ร้อยละ 20.45, ไม่มีประวัติด่างพร้อย ร้อยละ 10.66, เป็นคนรุ่นใหม่ ร้อยละ 9.16

ตอบแบบนี้ย่อมหมายถึงคนหน้าเก่าได้เปรียบคนหน้าใหม่

ส่วนที่เลือกพรรคนั้น ร้อยละ 41.97 บอกว่าเลือกที่นโยบาย ร้อยละ 38.50 เลือกที่ผลงานที่ผ่านมาดี เป็นที่ประจักษ์ว่าทำได้จริง ร้อยละ 7.63 เลือกที่จุดยืนของพรรค ร้อยละ 6.47 เลือกหัวหน้าพรรค ร้อยละ 3.01 เลือกที่มีผู้สมัครที่ชื่นชอบอยู่ในพรรค

พรรคที่ผลงานที่ผ่านมาจับต้องได้ ดูจะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม หากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามวิธีคิดของคนส่วนใหญ่เช่นนี้

แนวโน้มจะออกมาเป็น จะไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ชนะการเลือกตั้งแบบทิ้งขาด

เมื่อเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอาศัยอำนาจประชาชนที่จะมาลงคะแนนให้ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่มีสิ่งที่อาศัยได้มากมาย ทั้งกติกาที่ “ดีไซน์” มาให้ได้เปรียบ ได้รับความเกื้อหนุนจากกลไกอำนาจ

ที่สำคัญ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาสูสี จึงเท่ากับฝ่ายที่ต้องการ “สานต่ออำนาจ” ย่อมปิดประตูแพ้

ตามผลโพลนี้ โอกาสที่จะพลิกเป็นอื่น ด้วยประชาชนเทคะแนนให้อีกฝ่ายอย่างล้นหลามดูจะเป็นไปไม่ได้

เว้นเสียแต่ว่า จะมีอะไรทำให้ประชาชนเปลี่ยนใจในโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง