วิกฤติศตวรรษที่21 | การเผชิญหน้าทางทหารจีน-สหรัฐเสี่ยงต่อการเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม

วิกฤติประชาธิปไตย (45)

การเผชิญหน้าทางทหารจีน-สหรัฐเสี่ยงต่อการเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม

ปลายเดือนมกราคม 2019 นายเจมส์ อินฮอฟ วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน ผู้เพิ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหารวุฒิสภา ได้วิจารณ์ในการอภิปรายให้ปากคำ ถึงการท้าทายจากการรุ่งเรืองทางอำนาจการทหารของจีนและรัสเซียว่า การที่จีนเสริมสร้างฐานทัพบนเกาะเทียมในบริเวณทะเลจีนใต้เป็นเหมือน “การตระเตรียมเพื่อทำสงครามโลกครั้งที่ 3”

โดยสหรัฐได้แต่เฝ้ามองอยู่ ปล่อยให้จีนก่อความปั่นป่วนและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐทำได้อย่างมากเพียงลาดตระเวนแสดงเสรีภาพของการเดินเรือ ซึ่งครั้งหนึ่งเรือรบจีนพุ่งเข้าเกือบชนเรือพิฆาตของสหรัฐ

ในสถานการณ์เช่นนี้ “สหรัฐก็ได้แต่สงสัยว่ามิตรประเทศของเราเหล่านั้นจะเข้าข้างฝ่ายใด”

อินฮอฟกล่าวต่อว่า “ผมเกรงว่าสารของเราจะไปไม่ได้ไกล” วันที่ความเหนือกว่าของแสนยานุภาพในแปซิฟิกนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลงแล้ว ประชาชนสหรัฐควรจะได้เลิกเคลิบเคลิ้มกับความคิดว่าสหรัฐมีสิ่งที่ดีที่สุดทุกอย่าง

คำวิจารณ์ดังกล่าวก็เพื่อกระตุ้นให้ชาวอเมริกันตระหนักว่าจะต้องเตรียมตัวแข่งขันกับจีนอย่างยาวนาน และชี้ว่าการที่จีนสนับสนุนรัฐบาลนายโมโดโรแห่งเวเนซุเอลา ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในที่อื่นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

(ดูบทความของ Geoff Ziezulewicz ชื่อ Senator : Chinese buildup in South China Sea like “preparing for World War III” ใน navytimes.com 29.01.2019)

ความกังวลข้างต้นของสหรัฐนี้เข้าใจได้ว่าเกิดจากเหตุ 3 ประการคือ

(1) ด้านสภาพภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐเป็นเหมือนเกาะตั้งอยู่ไกลจากผืนทวีปยูเรเซียซึ่งเป็นศูนย์กลางอารยธรรมและความมั่งคั่งของโลกมาตั้งแต่โบราณ เพื่อที่จะมีอำนาจต่อยูเรเซีย สหรัฐจำต้องสร้างกองทัพเรือที่เหนือกว่าใครและกองทัพอากาศที่สามารถครองความเป็นใหญ่เหนือน่านฟ้าทั้งหลาย นอกจากนี้ ยังต้องตั้งฐานทัพทั่วโลก ปัจจุบันมีปฏิบัติการหน่วยรบพิเศษอยู่ในนับร้อยประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สหรัฐจำต้องมียุทธศาสตร์การทหารเชิงรุกที่มีราคาแพงกว่า

(2) ด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจโลกหลังจากปฏิบัติการทางทหารแบบครองความเป็นใหญ่มานานหลายสิบปี ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าสหรัฐได้ “สยายปีก” จนเกินกำลังเศรษฐกิจของตน เห็นได้จากว่า ในช่วงหลังสงครามครั้งที่สองใหม่ๆ ประมาณกันว่าสัดส่วนจีดีพีของสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 50 ของโลก แต่ในปี 2018 เหลือเพียงราวร้อยละ 25 ของโลก กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้เพิ่มบทบาทต่อเศรษฐกิจ-การเมืองโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

(3) จีนเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทหารจาก “การรับด้วยสงครามประชาชน” สมัยประธานเหมา มาเป็น “การรับเชิงกระทำ” ถ้าหากผู้นำจีนปัจจุบันยังยึดตามคำขวัญของเหมาในการเตรียมรับมือกับสงครามว่า “ขุดอุโมงค์ให้ลึก สะสมธัญญาหารให้มาก” สหรัฐและตะวันตกคงไม่เกิดความวิตกกังวลอะไร

แต่ผู้นำจีนได้ทำให้กองทัพของตนทันสมัยอย่างรวดเร็ว ไล่หลังรดต้นคอสหรัฐ-ตะวันตกอย่างน่าหวั่นเกรง

การปรับยุทธศาสตร์ทางทหารของจีน เริ่มจริงจังสมัยการปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง โดยศึกษาจากปฏิบัติการทางทหารของตะวันตกได้หลายครั้ง

เช่น สงครามฟอล์กแลนด์ (1982) สงครามรุกรานปานามา (1989) สงครามอ่าว (1991) ที่มีการถ่ายทอดสดส่งถึงตามบ้านเรือนทั่วโลก สงครามโคโซโว (1999) ที่สถานทูตจีนในกรุงเบลเกรดถูกลูกหลงโดนสหรัฐทิ้งระเบิดไปด้วย

จากการสังเกตดังกล่าว จีนเห็นว่าการสงครามในโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาก

เป็นสงครามที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เห็นได้ชัดจากสงครามอ่าวที่มีการนำอาวุธเทคโนโลยีสูงมาใช้มากที่สุด เช่น เครื่องบินรบล่องหน ระเบิดฉลาด (พื้นฐานยังคงใช้ระเบิดเทกระจาดอยู่) ขีปนาวุธร่อนที่ติดระบบแสงเลเซอร์นำทาง ระบบดาวเทียมสอดส่อง เครื่องขยายแสง อาวุธเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับสหภาพโซเวียต แต่นำมาทดลองใช้กับประเทศเล็กๆ ก่อน

จีนต้องจัดภาระหน้าที่ของกองทัพใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับ “สงครามคอมพิวเตอร์”

ปี 2004 ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาได้ประกาศ “ภารกิจใหม่ทางประวัติศาสตร์ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน” ว่ากองทัพจีนเป็นเครื่องมือทางการทูตและการทหารในการรักษาผลประโยชน์ของจีนในโลก ได้แก่

ก) การรักษาอธิปไตยของชาติ บูรณภาพเหนือดินแดน ความมั่นคงภายในประเทศ

ข) การรักษา “โอกาสทางยุทธศาสตร์” ในการพัฒนาเศรษฐกิจ-การทหารของจีน โอกาสทางยุทธศาสตร์จีนนี้ คาดว่าจีนจะไม่ต้องทำสงครามใหญ่ไปอีกจนถึงปี 2020 เนื่องจากสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว และสหรัฐมัวแต่ยุ่งกับภูมิภาคมหาตะวันออกกลาง ประมาณว่าระหว่างปี 2000-2016 จีนได้เพิ่มงบประมาณทางทหารเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี จากการกำหนดภารกิจใหม่นี้ สะท้อนว่าผลประโยชน์ของจีนได้แผ่ขยายไปทั่วโลกเหมือนของสหรัฐและจีน ได้ก้าวสู่การมีบทบาทในระดับโลกไม่ใช่ระดับภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านเหมือนแต่ก่อน

ดังจะเห็นว่าจีนได้เริ่มขยายปฏิบัติการทางทหารของตน เช่น ปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัดในอ่าวเอเดน (ปี 2009) การฝึกและการซ้อมรบในต่างแดนเช่นที่ทำกับรัสเซีย ปฏิบัติการทางพลเรือนในการอพยพชาวจีนจากลิเบียและเยเมน ขยายปฏิบัติการกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติในแอฟริกา ไปจนถึงการตั้งฐานทัพของตนในต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่จิบูตี (2017)

(ดูเอกสารเปิดของสำนักข่าวกรองกลาโหมสหรัฐ ชื่อ China Military Power : Modernizing a Force to Fight and Win ใน asset documentcloud.org พฤศจิกายน 2018)

การสงครามในยุคปัญญาประดิษฐ์

โลกเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ตั้งแต่ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 หลังจากที่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาราว 50 ปี ทั้งในด้านทฤษฎี การวิจัย และการนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ได้ก่อความตื่นเต้นไปทั่วโลกเมื่อ “ดีพบลู” ของบริษัทไอบีเอ็ม เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่เล่นชนะแชมป์หมากรุกโลกขณะนั้นคือแกรี่ คาสปารอฟ ไปได้

ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ชื่อ “อัลฟาโกะ” สามารถเอาชนะแชมป์โลกกีฬาโกะหรือหมากล้อมที่ซับซ้อนกว่าหมากรุกมากได้ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ในต้นปี 2016 อภิคอมพิวเตอร์เครื่องนี้พัฒนาโดยบริษัทอัลฟาเบตที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทกูเกิล โกะเป็นกีฬาของเอเชีย ชาวอเมริกันไม่เล่นกัน แต่ก็ยังสามารถพัฒนาคอมพิวเตอร์จนเล่นชนะแชมป์โลก

ว่ากันว่าชาวจีนถึงราว 280 ล้านคน ติดตามชมการถ่ายทอดการแข่งขันนี้ สะท้อนความกระตือรือร้นของชาวจีนต่อเทคโนโลยีนี้

ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องจักรฉลาด ที่สามารถคำนวณประมวลผลจากข้อมูลใหญ่ที่มีความหลากหลาย เป็นทั้งภาพ เสียง และข้อความ เป็นต้น ได้อย่างแม่นยำ เชื่อถือได้ และสามารถตัดสินใจปฏิบัติได้อย่างเป็นอิสระ

และในระดับสูงสามารถเข้าใจภาษามนุษย์ โต้ตอบกันได้

เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ หุ่นยนต์วิทยา ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ อินเตอร์เน็ตเชื่อมทุกสิ่ง เทคโนโลยี 5 จี ฉันทามติแบบกระจายอำนาจ การพิมพ์ 3 มิติ ยานยนต์แบบทำงานเป็นอิสระเต็มที่

แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่นจะเพิ่งอยู่ในขั้นต้น แต่ก็ส่งผลกระทบสูงต่อการสงครามในอนาคตว่าจะเป็นอะไร กระทั่งมีผลชี้ขาดว่าใครจะแพ้หรือชนะ

ดังนั้น การเปรียบดุลกำลังทางทหารแบบเดิม เช่น กำลังพล จำนวนรถถัง จำนวนเครื่องรบชนิดต่างๆ จำนวนเรื่องบินรบเหล่านี้ย่อมไม่พอเพียง กระทั่งล้าสมัยไป ประเด็นเปรียบเทียบสำคัญจะเปลี่ยนเป็นเรื่องใครจะชนะในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

การสงครามในยุคปัญญาประดิษฐ์ ก่อให้เกิดการถกเถียงอื่นอีกมาก ได้แก่ การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา ทำให้สงครามมีความรุนแรงและอำนาจทำลายล้างสูงขึ้น เมื่อถึงอาวุธนิวเคลียร์ก็ถือว่าสุดสยดสยอง หากผสมกับปัญญาประดิษฐ์ก็ยิ่งก่ออำนาจทำลายล้างอย่างคาดไม่ถึง

เฉพาะปัญญาประดิษฐ์ก็มีอันตรายที่ลึกซึ้งมากกว่าอาวุธเดิมที่เป็นศาสตราวุธหรือระเบิดแบบต่างๆ มันเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ตั้งตัวเป็นอริกับมนุษย์ สามารถควบคุมการทำงานของสมองมนุษย์ได้

ปัญญาประดิษฐ์ได้ก่อแนวโน้มการใช้เครื่องจักรฉลาดหรือหุ่นยนต์ทหารในการรบแทนทหารมนุษย์และกองกำลังต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นกำลังหลัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าหุ่นยนต์ทหารมีประสิทธิภาพกว่า จากความแข็งแรง อดทน ความแม่นยำ ความหลากหลาย และอื่นๆ สามารถลดกำลังทหารมนุษย์ลงได้

นอกจากนี้ หุ่นยนต์ทหารยังมีราคาถูกกว่า ในการสร้าง การใช้และบำรุงรักษา ทหารมนุษย์เมื่อได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ ก็ต้องเยียวยารักษาไปตลอดชีวิต

และท้ายสุดเนื่องจากหวั่นเกรงว่าถ้าตนไม่ทำ ชาติที่เป็นศัตรูคู่แข่งก็อาจพัฒนาก่อน

ดังนั้น แม้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในด้านจริยธรรมและอันตรายอันเกิดจากการสร้างเครื่องจักรฉลาดให้สามารถตัดสินใจสังหารมนุษย์ได้ แต่ในที่สุดชาติต่างๆ ก็จะพัฒนาและใช้ทหารหุ่นยนต์และโดรนกันอย่างเต็มที่

“ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีพลิกโลก ส่งผลต่อสงคราม การปกครอง เศรษฐกิจ การประกอบการ ระบบ ตลาด ไปจนถึงสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั้งหลาย ประเทศต่างๆ รับเทคโนโลยีนี้มากน้อย ตามระดับและลักษณะการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมือง

เป็นที่สังเกตว่าสหรัฐเป็นประเทศที่นำหน้าในการวิจัยและพัฒนา เห็นได้จากมีบริษัททางด้านคอมพิวเตอร์สามารถสร้างเครื่องจักรฉลาดจนเอาชนะแชมป์โลกทางด้านหมากรุกและหมากล้อมได้

นอกจากนี้ ยังนำหน้าในด้านทฤษฎีและการถกเถียงทางปรัชญา

แต่ในด้านการนำไปใช้ทางด้านอุตสาหกรรมแล้วสหรัฐไม่ได้โดดเด่นนัก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสหรัฐได้ย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศ เพื่อเลี่ยงแรงงานราคาแพงและค่าสวัสดิการสูงในประเทศ ต้องการวัตถุดิบและขยายตลาดทั่วโลก

ขณะที่เยอรมนีและญี่ปุ่นที่ยังรักษาฐานอุตสาหกรรมของตนไว้ และเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก ได้เปิดรับปัญญาประดิษฐ์มา ใช้ในการอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่

เยอรมนีได้กลายเป็นผู้นำทางความคิดในเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (ริเริ่มตั้งแต่ปี 2011) ในการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้นเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำหุ่นยนต์มาใช้ในการอุตสาหกรรมโดดเด่นในโลก

สำหรับจีนที่ได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” แม้จะรุ่งเรืองขึ้นภายหลัง แต่ก็โอบกอดปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือที่ทำให้ความฝันของชาวจีนเป็นจริง

จีนมีเงื่อนไขในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้เร็วด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ

ได้แก่

(ก) มีตลาดใหญ่ และผู้คนพร้อมกับสิ่งใหม่สินค้าใหม่ ขณะที่ในสหรัฐเกิดกระแสต่อต้านในระดับหนึ่ง เช่น เห็นว่าเป็นการคุกคามต่อเรื่องส่วนบุคคล เปิดโอกาสให้รัฐและบรรษัทสอดส่องชักใยสังคม

(ข) มีทุนมาก จากการได้เปรียบดุลการค้า และการพิมพ์ธนบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

(ค) รัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะที่ในสหรัฐมีการขัดแย้งกัน โดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการให้บริษัททางสื่อสารเช่นแอปเปิลย้ายโรงงานมาที่สหรัฐมากกว่า คนงานในบริษัทด้านสื่ออย่างเช่นกูเกิลก็รังเกียจในการที่จะไปร่วมมือรับโครงการจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

(ง) มีผู้ประกอบการกล้าเสี่ยงจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ล้มเหลว แต่ก็ยังเหลือบางแห่งบางคนที่ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำ (ดูบทความของ Nichols Thompson และเพื่อน ชื่อ The AI Cold War that Threatens Us All ใน wired.com 23.10.2018)

แม้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะพลิกโฉมการสงคราม

แต่ก็ไม่พลิกไปทั้งหมด ส่วนที่เป็นพื้นฐานของการสงครามยังดำรงอยู่ ได้แก่ การพิชิตพื้นที่และทรัพยากร หรือพื้นที่รัฐชาติและเขตผลประโยชน์ของรัฐเหล่านี้ สำหรับจีน ได้ขีดเส้นไว้ตามโครงการแถบและทางพื้นดินได้แก่ทวีปยูเรเชียรวมไปถึงแอฟริกา ผืนน้ำได้แก่แปซิฟิกฝั่งตะวันตก มหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ในทางปฏิบัติยังขยายไปถึงทวีปอเมริกาว่าเป็นตลาดการค้าการลงทุนของตน เกิดพื้นที่ทับซ้อนกับเขตผลประโยชน์ของสหรัฐไปทั่วโลก ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ มีแต่จะทำให้สถานการณ์ล่อแหลมและรุนแรงขึ้นเท่านั้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงหัวเลี้ยวยุทธศาสตร์การทหารสมัยสีจิ้นผิง และการประเมินกำลังจากฝ่ายสหรัฐ