ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เสฐียรพงษ์ วรรณปก |
เผยแพร่ |
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (2)
2. สรุปเนื้อหาพระสูตรเป็นขั้นตอน
ข้อความตรงนี้ ผู้เขียนพุทธประวัติบอกว่า อุปกะไม่เชื่อบางฉบับเพิ่ม “แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก” เข้าไปด้วย เพื่อให้ชัดแจ้งว่า แกไม่เชื่อพระพุทธองค์แน่ๆ แต่ตามวัฒนธรรมแขก การสั่นศีรษะหมายถึงการยอมรับนะครับ ใครไม่เชื่อลองไปพิสูจน์ดูได้ เรื่องนี้ผมเขียนไว้ที่อื่นแล้ว จึงไม่ขอเข้าสู่รายละเอียดในที่นี้
ข้อความตอนหนึ่งที่ตรัสแก่อุปกะว่า “เราจะเดินทางไปยังแคว้นกาสี เพื่อหมุนกงล้อคือพระธรรม และเพื่อลั่นกลองอมตะ” เป็นภาษาสัญลักษณ์ที่ชาวพุทธในกาลต่อมานำเอามาใช้ คือสายมหายานนำเอากลองมาใช้ในพิธีสวดมนต์ทำพิธีกรรมทางศาสนา (เวลาพระสวดท่านก็จะตีกลองไปด้วย ว่ากันว่าทำจังหวะให้เข้ากับบทสวด แต่ที่จริงน่าจะหมายความว่า ท่านกำลัง “ตีกลองอมตะ” คือสอนธรรมมากกว่า)
ทางฝ่ายเถรวาทก็คิดประดิษฐ์ธงธรรมจักรขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีธงธรรมจักรที่ไหนก็แสดงว่าพระสงฆ์ท่านได้ “หมุนล้อธรรม” ไปที่นั่น
เมื่อพุทธองค์เสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พวกปัญจวัคคีย์มองเห็นแต่ไกลก็บอกกันว่า “โน่นไง! ผู้คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากมาแล้ว พวกเราอย่าไปสนใจ ปูแต่อาสนะไว้ให้ก็พอ ไม่ต้องลุกขึ้นต้อนรับ” ว่าแล้วก็ทำเป็นไม่เห็น
แต่พอพระองค์เสด็จเข้าใกล้ ต่างคนต่างลืมสัญญาที่ให้กันไว้หมด ลุกขึ้นรับบาตรและจีวร แต่ปากยังแข็งอยู่ พูดทักทายพระพุทธองค์ว่า “อาวุโสโคตมะ” เทียบกับคำไทยก็คงเป็น “ว่าไง คุณโคตมะ” อะไรทำนองนั้น พระองค์ตรัสว่า “พวกเธออย่าพูดกับตถาคต จะแสดงธรรมให้ฟัง”
พูดยังไงๆ ปัญจวัคคีย์ก็ไม่เชื่อ “ท่านอดอาหารแทบตายยังไม่บรรลุเลย เมื่อกลายเป็นคนเห็นแก่กินยังมาพูดว่าได้บรรลุ ไม่เชื่อเด็ดขาด”
“ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมา พวกเธอเคยได้ยินตถาคตพูดคำนี้บ้างไหม” พระพุทธองค์ย้อนถาม
ปัญจวัคคีย์อึ้ง “เออ จริงสินะ พระองค์ไม่เคยพูดเลย คราวนี้พูดขึ้นมา แสดงว่าคงจะจริงมั้ง”
จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้ปัญจวัคคีย์ฟัง เพื่อความเข้าใจง่าย
ผมขอสรุปเนื้อหาพระสูตรเป็นขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่หนึ่ง พูดถึงการปฏิบัติที่ไม่พึ่งการกระทำ หรือ “ทางที่ไม่ควรดำเนิน” 2 ทาง คือ การปล่อยกายปล่อยใจให้สนุกเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง 5 (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) แนวทางนี้เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยโค” แปลตามตัวว่าการประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุข ก็หมายถึงการติดอยู่ในการเสพสุขทางเนื้อหนังมังสานั่นแหละครับ
ที่ทรงสอนว่าไม่ควรเดินทางสายนี้ เพราะ “เป็นของต่ำ เป็นกิจกรรมของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ และไม่มีประโยชน์”
อีกทางหนึ่งที่ไม่ควรเดินตามก็คือ การทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนต่างๆ เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” อันหมายถึงการบำเพ็ญตบะต่างๆ ที่นิยมทำกันในสังคมอินเดียยุคโน้นนั่นแหละครับ เพราะเป็นทุกข์ไม่ใช่สิ่งประเสริฐและไม่มีประโยชน์
ทั้งสองทางนี้ท่านเรียกว่า “ทางสุดโต่ง” หรือ “ทางตัน” (อันตะ = สุดโต่ง, ตัน) ทางแรกก็หย่อนเกินไป ทางที่สองก็ตึงเกินไป
หมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า กามสุขัลลิกานุโยคนั้น พระพุทธองค์ทรงเน้นไปที่ลัทธิโลกายตะ หรือลัทธิวัตถุนิยมอินเดีย ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ทรงเน้นไปที่ลัทธิเชน (นิครนถ์) ของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร
ขั้นตอนที่สอง ทรงแสดง “ทางสายกลาง” (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ อริยมรรค มีองค์แปด ได้แก่ เห็นชอบ, ดำริชอบ, เจรจาชอบ, การงานชอบ, เลี้ยงชีพชอบ, พยายามชอบ, ระลึกชอบ และตั้งใจมั่นชอบ
ขั้นตอนที่สาม ทรงแสดงอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างพิสดารและครบวงจรว่าพระองค์ตรัสรู้สิ่งเหล่านี้อย่างไร?
ขั้นตอนที่สี่ ตอนนี้เป็นผมจากการแสดงธรรมจบลงท่านผู้รวบรวมนำมาผนวกไว้ด้วยว่า หลังจากพระพุทธองค์แสดงธรรมจบลง “โกณฑัญญะ” หัวหน้าปัญจวัคคีย์ “เกิดดวงตาเห็นธรรม” ขึ้น คือเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง (พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่าได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน) พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ”
ขั้นตอนที่ห้า แทรกเข้ามาเหมือนกัน ตอนนี้กล่าวถึงพวกเทพ (ไม่ใช่พรรคการเมืองนะครับ เทพจริงๆ) ตั้งแต่ภุมมเทวดาได้ป่าวประกาศให้รู้ทั่วกันจนถึงหมู่พรหมทั้งหลายว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธรรมอันยอดเยี่ยมที่ใครๆ ไม่ว่าสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ก็คัดค้านไม่ได้
คราวต่อไปจะแปลธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้อ่านครับ