ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : การเสด็จกลับจากชวา ที่ไม่ใช่เกาะชวาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิลาจารึกที่สำคัญที่สุดหลักหนึ่งของพวกขอม ในยุคที่ยังก่อสร้างปราสาทหินคือ จารึกสด๊กก็อกธม 2 (คือจารึกที่ได้จากปราสาทสด๊กก็อกธม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว หลักที่ 2 จากที่พบที่ปราสาทแห่งนี้จำนวน 2 หลัก) ได้อ้างว่า “พระเจ้าชัยวรมันที่ 2” (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1345-1378) เสด็จกลับมาจาก “ชวา” ก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์ในเมืองต่างๆ คือ อินทรปุระ, อเมนทรปุระ, มเหนทรบรรพต และหริหราลัย ตามลำดับ

ลักษณะอย่างนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และผู้สนใจทางด้านเขมรศึกษา มักจะอธิบายว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พระองค์นี้นี่เอง ที่ได้รวบรวมบ้านเมืองของกัมพูชาโบราณ หรือที่เอกสารจีนเรียกว่า “เจนละ” ที่เคยแตกแยกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย (เอกสารจีนอ้างว่า เจนละแตกออกเป็น เจนละบก กับเจนละน้ำ) ในยุคสมัยก่อนหน้าของพระองค์ จนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยมีหริหราลัย (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองโรลัวะส์) เป็นศูนย์กลางการปกครองของกัมพุชเทศเมื่อครั้งกระโน้น

แถมในจารึกหลักเดียวกันนี้เอง ก็ยังมีข้อความระบุไว้อีกด้วยว่า การสถาปนาและประกอบพิธีกรรมในลัทธิ “เทวราชา” ของพระองค์นั้นทำให้ “กัมพูชา” ได้ปลดแอก และไม่ต้องขึ้นกับอำนาจของ “ชวา” อีกต่อไป

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่มักจะมีการตีขลุมกันต่อไปอีกด้วยว่า ในช่วงก่อนรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งกัมพูชา หรือเจนละ กระจัดกระจายกันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยนั้น ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “ชวา” คือ “เกาะชวา” นั่นเอง

แต่ “ชวา” ในจารึกหลักที่ว่านี้ จะหมายถึง “เกาะชวา” จริงๆ หรือครับ?

 

ในจารึกโพนคร ของพวกจาม (ชนชาวมลายูกลุ่มหนึ่งที่เคยมีวัฒนธรรมรุ่งเรือง และสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ทางตอนกลางของเวียดนาม) ระบุว่า ทัพเรือของชวาได้มาปล้นชิงเอาศรีมุขลึงค์ (หมายถึงศิวลึงค์ที่มีพระพักตร์ของพระอิศวรประดับอยู่) และสมบัติแห่งทวยเทพของพวกเขาไป

ในขณะที่จารึกของพวกจามอีกหลักก็กล่าวถึงการที่ทัพเรือของชวาได้มาเผาทำลายเทวาลัยแห่งภัทราธิปตีศวร เมื่อเรือน พ.ศ.1330

ดังนั้น สำหรับพวกจามแล้ว คำว่า ชวา ก็หมายถึงอะไรที่ต้องเดินทางมาทางเรือ ซึ่งก็ชวนให้คิดถึงเกาะชวาอยู่มาก

ข้อมูลจากเอกสารอาหรับก็มีเอกสารระบุศักราชตรงกับปี พ.ศ.1459 ของอาบู เซด (Abu Zayd) แห่งเมืองซีร์ฟ (Siraf) ที่ระบุถึงการสงครามระหว่าง “มหาราชาแห่งซาบัค” (Zabag, คือการออกเสียงคำว่า ชวากะ หรือชวา ตามสำเนียงอาหรับ) กับกษัตริย์ของเขมร (ว่ากันว่าคือ มหีปติวรมัน) ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของมหาราชา

จนทำให้ต่อมาในภายหลังกษัตริย์เขมรต้องหันหน้าไปทางซาบัค และแสดงความเคารพในทุกๆ เช้า ชวนให้เชื่อว่า กษัตริย์เขมรเคยอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งอำนาจของชวาจริงๆ

แต่ปัญหาก็คือ ในเอกสารของอาหรับนั้น คำว่า “ซาบัค” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่เกาะชวา

แต่ยังหมายรวมถึงอำนาจของราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่ครอบคลุมถึงเกาะต่างๆ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเกาะสุมาตรา

และนี่ก็ทำให้ใครหลายคนต้องกลับมาคิดทบทวนอีกหลายตลบเลยนะครับว่า แล้วคำว่า “ชวา” ในจารึกของพวกจาม จะหมายถึงเกาะชวาจริงๆ หรือเปล่า?

 

ข้อเสนอแรกเริ่มของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ในยุคอาณานิคมอย่างหลุยส์ ฟิโนต์ (Louis Finot, พ.ศ.2407-2478) เสนอว่า คำว่า “ชวา” ในจารึกสด๊กก็อกธมนั้นควรจะหมายถึงแหลมมลายูในภาพรวม ซึ่งมีราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งเกาะสุมาตรา เป็นผู้นำ ซึ่งก็มีอำนาจครอบคลุมไปถึงเกาะชวาบางส่วนด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ ฟิโนต์เสนอว่า คำว่า “ชวา” นั้นหมายถึงกลุ่มรัฐ “ศรีวิชัย” นั่นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่คิดเหมือนฟิโนต์ นักอ่านจารึก ควบตำแหน่งนักเขมรศึกษา ระดับปรมาจารย์อีกท่านหนึ่งอย่างยอร์ช เซเดส์ (George Cedes, พ.ศ.2429-2512) ยังคงยืนยันว่า “ชวา” ที่ว่านี้ก็คือ “เกาะชวา” นั่นแหละ

โดยเซเดส์ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า มหาราชแห่งซาบัคนั้น ก็คือกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่ปกครองอาณาจักรมะตะราม ทางภาคกลางของชวา ซึ่งก็คือกลุ่มวัฒนธรรมที่สร้างมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างบุโรพุทโธนั่นแหละ

แน่นอนว่า หลายคนอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วก็อาจจะสับสนว่า ตกลงแล้วราชวงศ์ไศเลนทร์นั้นมีศูนย์กลางปกครองอยู่ที่ศรีวิชัยในสุมาตรา (ส่วนใครจะว่าศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ในไทย ไม่ใช่ประเด็นในที่นี้) หรือมะตะรามในชวาแน่?

คำตอบก็คือ เครือข่ายของราชวงศ์ไศเลนทร์นั้นปกครองทั้งศรีวิชัยและมะตะราม ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรถ้าคนอื่นคนไกลอย่างพวกอาหรับจะใช้คำว่า “ซาบัค” โดยหมายถึงได้ทั้งเกาะสุมาตราและเกาะชวา

 

ข้อเสนอของเซเดส์ได้รับการยอมรับในกลุ่มนักวิชาการตะวันตก ในยุคอาณานิคมอย่างนักชวาศึกษาเชื้อสายฮอลันดา เฟรเดอริก เดวิด คาน บอส์ช (Frederik David Kan Bosch, พ.ศ.2430-2510) ที่ให้ความเห็นเข้ามาด้วยว่า

ชวาเป็นเกาะใหญ่ที่มีความแพร่หลายของกลิ่นอายในลัทธิตันตระ เช่นเดียวกับลัทธิเทวราชา ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 นำไปประดิษฐานไว้ที่กัมพูชา

หรือจะเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศสอย่างฟิลลิปป์ สแตร์น (Phillippe Stern, พ.ศ.2438-2522) และกิลแบร์โต เดอ คอรัล เรมูซาส์ (Gilberto de Coral R?musat) ที่ส่งเสียงสนับสนุนว่า กลุ่มปราสาททั้งหลายในหริหราลัย ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 นั้น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะชวาภาคกลาง

ดังนั้น คำว่า “ชวา” ในจารึกสด๊กก็อกธมนั้นจึงควรที่จะหมายถึง “เกาะชวา” แน่

นอกจากนี้ยังมีนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่ชื่อปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont, พ.ศ.2451-2498) ซึ่งให้ความสนใจในภาษาเขมรปัจจุบัน (หมายถึงปัจจุบันในสมัยของดูปองต์) คำว่า “ชวา” (ดูปองต์สะกดว่า “cva”) หมายถึง “มลายู” โดยทั่วไป แต่ในยุคโบราณคำนี้อาจจะหมายถึง “เกาะชวา” เป็นการเฉพาะก็ได้

ปัญหาก็คือ ในภาษาเขมร เสียง “-า” จะออกเสียงเป็น “เ-ีย” ชาวเขมรปัจจุบันจึงออกเสียง “ชวา” ว่า “ชเวีย” และก็เป็นนักประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เขมรมือฉกาจชาวอเมริกันอย่างไมเคิล วิกเกอรี่ (Micheal Vickery, พ.ศ.2474-2560) ที่เสนอว่า คำว่า “ชเวีย” ในภาษาเขมรปัจจุบันนั้นหมายถึงพวก “จาม” ต่างหากเล่า

 

แน่นอนนะครับว่า ชาวเขมรทุกวันนี้เรียกชาว “จาม” ว่า “ชเวีย” อย่างที่วิกเกอรี่ว่าไว้จริงๆ นั่นแหละ แถมจารึกสด๊กก็อกธมนั้นก็เป็นจารึกที่เขียนด้วยสองภาษาคือ เขมรและสันสกฤต การที่จะบิดคำให้ออกเป็นเสียงแขก เพื่อความศักดิ์สิทธิ์จากชเวียเป็นชวา (อินเดียเรียกเกาะชวาว่าชวากะ แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับพวกอาหรับที่หลายครั้งก็ใช้ในความหมายกว้างๆ ถึงหมู่เกาะใหญ่น้อยในอุษาคเนย์ภาคหมู่เกาะมากกว่า) จึงไม่ใช่สิ่งที่แปลกอะไรนัก

พร้อมๆ กับทำให้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ หรือนักเขมรศึกษาในรุ่นร่วมสมัยปัจจุบัน หันมาตั้งคำถามกับคำว่าชวาในจารึกหลักนี้อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น นักโบราณคดีชาวนิวซีแลนด์ เชื้อสายอังกฤษ คนสำคัญอย่างชาร์ลส์ ไฮแอม (Charles Higham, พ.ศ.2482-ปัจจุบัน) ที่แม้จะไม่ได้ระบุชี้ชัดลงไปว่าคือที่ไหน แต่ก็คลางแคลงใจกับคำนี้เป็นอย่างมาก

และถ้าจะว่ากันด้วยข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว ก็เป็นทั้งสแตร์นและเรมูซาส์เองนั่นแหละ ที่อธิบายเอาไว้ว่า บรรดาปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สร้างไว้บนมเหนทรบรรพต คือเขาพนมกุเลน (ก่อนที่จะไปครองราชย์ที่หริหราลัยเป็นแห่งสุดท้าย) นั้นเต็มไปด้วยอิทธิพลศิลปะจามอย่างข้นคลั่ก

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่ารูปแบบทางศิลปะก็คือ การสถาปนาพื้นที่ในภูเขา อันเป็นต้นแม่น้ำสำคัญ ให้เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ เฉกเช่นที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงเลือกที่จะสถาปนาเทวราชาบนเขาพนมกุเลนนั้น เป็นสิ่งที่มีมาก่อนในวัฒนธรรมของพวกจาม ซึ่งก็คือเมืองศักดิ์สิทธิ์หมี่เซิ่น ที่เป็นเมืองในหุบเขาอันเป็นต้นน้ำเช่นกัน

และก็ต้องอย่าลืมนะครับว่า บนเขาพนมกุเลนนั้น ได้มีการสลักรูปศิวลึงค์เรือนหมื่นอยู่ใต้ธารน้ำ สอดคล้องกับที่วัดภูในแคว้นจำปาสัก ประเทศลาว ซึ่งก็มีการสลักศิวลึงค์เอาไว้ที่ใต้แม่น้ำโขง

แถมที่วัดภูนั้นยังมีทั้งตำนานที่เกี่ยวข้องกับจามและศิวลึงค์ “ภัทเรศวร” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ของพวกจามมาก่อน ประดิษฐานอยู่ด้วย

 

จากข้อมูลในจารึกสด๊กก็อกธมนั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์ที่เมืองอินทรปุระเป็นแห่งแรก ที่เมืองนี้มีศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่า “ภัทรโยคี” ประดิษฐานอยู่

ชื่อศิวลึงค์ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ภัทร” นั้น ดูจะสัมพันธ์กับเครือข่ายของชาวจามอยู่ไม่น้อย

เอาเข้าจริงแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จึงอาจจะไม่ได้เสด็จกลับมาจากเกาะชวาหรอกครับ อาจจะมาจากเมืองของพวกจาม ที่อยู่ทางตอนกลางของเวียดนามเท่านั้นแหละ

และถ้าพวกขอมจะเคยตกอยู่ใต้อำนาจของพวกที่ถูกเรียกว่า “ชวา” ในจารึก ชวาที่ว่าก็น่าจะหมายถึงพวก “จาม” ที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนเขมร แถมยังมีเหตุการณ์สู้รบกันมาตลอดสมัยที่พวกเขมรยังนิยมสร้างปราสาทหินนั่นเอง