แพทย์ พิจิตร : จุดท้าทายขนบ จาก “ศรีธนญชัย” ถึง “เนติวิทย์”

ผมเห็นว่าในเนื้อเรื่องศรีธนญชัยมีการท้าทายขนบประเพณีและกฎหมายของสังคมหรือที่ในความคิดทางการเมืองกรีกโบราณเขาเรียกกันว่า “nomos”

โดยการท้าทาย “nomos” นั้นก็เพื่อผลประโยชน์ หรือความต้องการตามความสามารถตามธรรมชาติ “physis”

และการท้าทายขนบโดยศรีธนญชัยนั้น ใครๆ ก็รู้ว่า กระทำโดยผ่านสติปัญญาของเขา

ทั้งนี้ จะยังไม่ขอประเมินว่ามันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี และการกระทำผ่านสติปัญญาที่เหนือกว่าคนอื่นๆ ในสังคมนี้ ก็เป็นผลพวงของการที่ศรีธนญชัยมีสติปัญญาที่เหนือกว่าคนเหล่านั้น

จะเรียกว่า ฉลาดตามธรรมชาติก็ว่าได้ เพราะเริ่มต้นมาตั้งแต่เด็กๆ ศรีธนญชัยก็รู้จักที่จะเล่นคำเล่นภาษาแล้ว

อันที่จริง ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริง คนในสังคมในเรื่องศรีธนญชัยก็ไม่น่าจะปล่อยให้ “ศรีธนญชัย” ลอยนวลไปได้จนโตด้วยซ้ำ

เพราะถ้าไปเล่าเรื่องนี้ให้ขาใหญ่ที่ไหนฟัง เขาบอกว่า คนอย่างศรีธนญชัยนี้ต้องถูก “ยำตีน” ตายในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอย่างแน่นอน

ไม่มานั่งอดทนอดกลั้นกับความฉลาดทางภาษาแบบนี้ไปได้สักกี่น้ำ ยิ่งไปถึงระดับพระเจ้าแผ่นดินโน่น คงไม่เหลือแน่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องไม่ลืมว่า ศรีธนญชัยเป็นเรื่องแต่ง ถ้าตัวเอกตายเสียแต่แรกๆ ก็คงไม่เห็นอะไรมากนัก

 

ในสายตาของผู้เขียนตำราความคิดทางการเมืองไทย (2523) อย่าง ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ก็ได้เล็งเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่า

“สังคมมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์มีความจำเป็นโดยธรรมชาติที่จะต้องอยู่ร่วมกันจึงจะมีชีวิตที่ดีได้ แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการหรือเป้าหมายตามธรรมชาติของมนุษย์ได้ครบถ้วน สังคมก็จำเป็นที่จะต้องมีขนบประเพณีซึ่งไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติโดยตรง หากแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใช้และเป็นสิ่งที่มนุษย์ยอมรับร่วมกัน มาควบคุมหรืออำนวยความสะดวกให้แก่การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ด้วยอีกส่วนหนึ่ง เช่น ภาษา ระบอบการปกครอง ฯลฯ สังคมที่ไม่มีกฎเกณฑ์หรือสังคมที่ทุกคนทำได้ตามใจตนตามแต่ความต้องการหรือความสามารถตามธรรมชาติของตน ย่อมไม่ใช่สังคมอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่การเกิดของกรอบระเบียบประเพณีในสังคมนี้ ย่อมทำให้เกิดการขัดแย้งกันขึ้นได้เสมอระหว่างอำนาจโดยธรรมชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจทางสติปัญญา) กับอำนาจอันเกิดจากระเบียบประเพณี อย่างไรก็ดี โดยทั่วๆ ไปแล้ว การขัดแย้งเช่นว่านี้อาจไม่ปรากฏให้เห็นได้ว่าเป็นการขัดแย้ง เพราะผู้ที่มีอำนาจทางสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวย่อมตระหนักได้เป็นอย่างดีถึงข้อจำกัดของตน แต่สำหรับในกรณีเชียงเมี่ยง (ศรีธนญชัยสำนวนทางเหนือ) นี้ ผู้แต่งเรื่องได้สร้างเงื่อนไขที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งไว้ก่อนแล้วว่า ถึงจะทำผิดอย่างไรตนก็จะไม่ถูกประหารชีวิต ความกล้าของเชียงเมี่ยงที่จะสร้างข้อขัดแย้งขึ้น จึงต้องเป็นที่เข้าใจกันเสียก่อนว่าเป็นเรื่องของข้อยกเว้น นอกจากนี้ ก็อาจพิจารณาในมุมกลับได้ว่า เหตุที่เชียงเมี่ยงรอดตัวไป และไม่ถูกลงโทษในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระเจ้าทวาละยังคำนึงว่า การลงโทษเชียงเมี่ยงตามอารมณ์ย่อมเป็นการไม่สมควร กล่าวคือ พระองค์ยังคงคำนึงถึงหลักความยุติธรรมที่คนอื่นๆ ยอมรับกันอยู่ ซึ่งก็เท่ากับว่าอำนาจที่พระองค์มีอยู่เหนือชีวิตและร่างกายของผู้อื่น (อันอาจถูกมองว่าเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นจากขนบประเพณี หรือการตกลงยอมรับกันของผู้อื่นก็จริง) ก็มิได้เป็นอำนาจโดยเด็ดขาด หรือเป็นอำนาจโดดๆ อย่างที่อำนาจของพละกำลังตามธรรมชาติของบุคคลหนึ่งอาจมีเหนือบุคคลอื่นในสภาพธรรมชาติ หรืออำนาจที่มนุษย์มีเหนือสัตว์ในสภาพปกติ หากแต่ว่าอำนาจของพระองค์แม้เป็นอำนาจอันเกิดจากขนบประเพณี ก็มีความคิดที่ถือเป็นขนบประเพณีเหมือนกันที่จะคอยถ่วงรั้งไม่ให้เกิดการละเมิดกันจนเกิดความยุติธรรมขึ้น เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ศรีธนญชัยเชียงเมี่ยงเป็นเรื่องของการเผชิญหน้ากันระหว่างปัญญาที่ไม่มีการยับยั้งกับอำนาจที่ชอบธรรมที่มีขนบประเพณีเป็นทั้งฐานและเครื่องคานอำนาจไปพร้อมๆ กัน”

“การเผชิญหน้าซึ่งเป็นไปได้ก็เฉพาะแต่ในนิทานนี้คือ จุดใหญ่ของศรีธนญชัยเชียงเมี่ยง”

 

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า อาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติเริ่มต้นอธิบายการกำเนิดสังคมโดยเลือกที่จะใช้ทฤษฎีการเมืองตะวันตกตามสำนักที่เชื่อว่า

“สังคมมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์มีความจำเป็นโดยธรรมชาติที่จะต้องอยู่ร่วมกันจึงจะมีชีวิตที่ดีได้”

ซึ่งท่านก็ได้ใส่เชิงอรรถอ้างถึง Aristotle ไว้ แทนที่จะเลือกคำอธิบายของสำนักสัญญาประชาคมที่ว่า สังคมมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นตาม “ธรรมชาติ”

การเลือกคำอธิบายตามแบบของ Aristotle จะทำให้การมาอยู่รวมกันเป็นสังคมมีเป้าหมายของชีวิตที่ดี ที่ในขั้นสูงสุดแล้ว ผู้คนจะมีจริยธรรมคุณธรรม ไม่เพียงแต่มีกฎหมายที่ทำให้สังคมเป็นระเบียบเท่านั้น แต่ตามสำนักสัญญาประชาคม มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคมเพราะมนุษย์ตัดสินใจที่จะสละสิทธิตามธรรมชาติเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะสงครามที่แต่ละคนจะกระทำการตามความสามารถของพละกำลังและสติปัญญาตามธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ของตนอย่างในกรณีสัญญาประชาคมของ Hobbes หรือหลีกเลี่ยงสภาวะของความสับสนวุ่นวายของความขัดแย้งที่เกิดจากการไม่สามารถหา “ความยุติธรรม” ที่เหมาะสมร่วมกันได้อย่างในกรณีสัญญาประชาคมของ Locke

หรือเพื่อให้สังคมมีความยุติธรรมและมีความเสมอภาคและเสรีภาพทางการเมืองภายใต้เจตจำนงทั่วไปในแบบของ Rousseau

 

แม้ว่าอาจารย์ทั้งสองท่านจะใช้คำอธิบายแบบ Aristotle แต่เมื่อท่านกล่าวถึงอำนาจของกษัตริย์ ท่านก็ใส่วงเล็บไว้ว่า อำนาจของกษัตริย์

“อาจถูกมองว่าเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นจากขนบประเพณี หรือการตกลงยอมรับกันของผู้อื่นก็จริง”

ก็แปลว่า ในส่วนนี้ ท่านเห็นว่าคำอธิบายอำนาจของกษัตริย์ไม่ว่าจะเป็นแบบ Aristotle หรือสัญญาประชาคมไม่ต่างกันตรงที่ว่า อำนาจของกษัตริย์ไม่ใช่อำนาจเด็ดขาด ไม่ใช่อำนาจโดดๆ แต่ต้องอยู่บนฐานของ “nomos” หรือ “การตกลง” ซึ่งก็ถือว่าเป็น “nomos” อยู่ดี

ดังที่ผมได้กล่าวถึง Antiphon ไปแล้ว และอันที่จริง Anitphon นี้ก็กล่าวได้ว่า เป็นต้นธารความคิดของสัญญาประชาคมในตะวันตกเลยก็ว่าได้

ดังนั้น พระเจ้าทวาละหรือกษัตริย์ในเรื่องแต่งจึงไม่สามารถใช้อำนาจลงโทษศรีธนญชัยเชียงเมี่ยงได้

แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องแต่ง ศรีธนญชัยน่าจะต้องถูกลงโทษไปเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะยามเมื่อกษัตริย์กลายเป็นทรราช ไม่ว่าจะในงานของ Aristotle, Locke, Rousseau

ที่ไม่รวม Hobbes ก็เพราะในงานของ Hobbes เขาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกระหว่างกษัตริย์กับทรราช เพราะเขาเห็นว่า การแบ่งแยกนี้เกิดจากการที่คนชอบหรือไม่ชอบผู้ปกครองผู้นั้นเท่านั้น

ถ้าจะโยง Hobbes เข้ากับการเมืองไทย Hobbes ก็คงจะกล่าวว่า เวลาคุณไม่ชอบทักษิณ พล.อ.ประยุทธ์ หรือใครก็ตาม คุณก็เรียกว่าทรราช

ส่วนคนที่ชอบ เขาก็ไม่เคยมองทักษิณหรือ พล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็นทรราช

ทั้งนี้เพราะ Hobbes เน้นว่า ผู้ปกครองคือผู้ที่มีอำนาจในการที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ให้ได้ ไม่ปล่อยให้เกิดการฝ่าฝืนใดๆ

อาจตีความได้ว่า ถ้าปล่อยให้มีศรีธนญชัยได้หนึ่งคน ก็อาจจะมีคนแบบนี้ตามมาอีกมากมาย แล้วบ้านเมืองก็จะไร้ขื่อไร้แป

จากเรื่องศรีธนญชัยท้าทาย “nomos” นี้ ทำให้อดนึกถึงลูกศิษย์ของผมที่ชื่อเนติวิทย์ไม่ได้ ตอนเขาอยู่ชั้นปีที่หนึ่ง ในขนบประเพณีการถวายความเคารพต่อพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ซึ่งตาม “nomos” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะให้นิสิตที่เข้าร่วมพิธีถวายบังคม

แต่เนติวิทย์ใช้วิธีการยืนคำนับแทน ซึ่งในแง่นี้ มิได้เป็นการขัดแย้งระหว่าง “nomos” กับ “physis” —เพราะโดยธรรมชาติแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามธรรมชาติในแบบสัญญาประชาคม ที่ทุกคนเสมอภาคและมีเสรีภาพเต็มร้อย คงไม่มีใครเคารพใคร— แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นความขัดแย้งระหว่าง “nomos” แบบหนึ่งกับ “nomos” อีกแบบหนึ่งมากกว่า

นั่นคือ แบบถวายบังคม กับ แบบคำนับ!