จากอันธพาลงานบุญ สู่การ สแกน “แก๊งสเตอร์ฝั่งธนฯ” มาตรการกำราบ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

จากอันธพาลงานบุญวัดสิงห์ สแกน “แก๊งสเตอร์ฝั่งธนฯ” มาตรการกำราบ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

ได้บาปหรือได้บุญ?

สังคมไทยตั้งคำถามดังกระหึ่มเมื่อเกิดอาชญากรรมกลางงานบุญ หลังเกิดเหตุกลุ่มอันธพาลงานบวช เพื่อนพระใหม่วัดสิงห์ ก่อเหตุยกพวกถล่มโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ทำร้ายครู นักเรียน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำลายข้าวของพังเสียหาย และลวนลามนักเรียนหญิง

เหตุเกิดขณะนักเรียนมากกว่า 200 คน กำลังเข้าสอบ GAT-PAT เพื่อเก็บคะแนนเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ในสนามสอบโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์

ขณะที่ภายในวัดสิงห์ ซึ่งอยู่ติดแทบจะเป็นรั้วเดียวกันก็กำลังมีงานแห่นาค อุปสมบทพระใหม่ ทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย

ในรอบเช้าไม่มีปัญหาวงดนตรีงานบวชแห่นาคตามวิถีพุทธสมัยใหม่ เมื่อได้รับการร้องขอก็เข้าใจดียอมลดเสียงดังเพื่อไม่รบกวนการสอบของนักเรียน

แต่งานเข้าในช่วงบ่าย เมื่อนาคอีกคน อุปสมบทอีกรูป เหล่าเพื่อนนาคที่มาพร้อมวงดนตรี จ้างมาแพงตั้ง 20,000 บาท รถเครื่องเสียงกระหึ่มวัด แตรวง แดนเซอร์เด้งหน้าเด้งหลัง สายย่อ สายโยก ถือเหล้าคนละกระติก จิบคนละกรึ๊บ ประกาศพิธีนำนาคเข้าโบสถ์ สิ้นสติ

หัวร้อนกับคำขอร้องห้ามปรามให้เบาเสียงดนตรีที่รบกวนการสอบของอนาคตของชาติ ยกพวก 50 คนบุกโรงเรียนแสดงพฤติกรรมป่าเถื่อน ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำร้าย ทำลายครู นักเรียน กลายเป็นเรื่องใหญ่

แม้เหตุการณ์นี้ไม่มีใครถึงตาย แต่สังคมเกินกว่าจะรับได้กับพฤติการณ์ พฤติกรรม คลิปภาพและบันทึกจากกล้องวงจรปิดเผยแพร่ทุกช่องทางสื่อ เรียกเสียงประณามกลุ่มอันธพาลงานบวชกลุ่มนี้

ซัดพฤติกรรมเถื่อนทรามไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะทั้งเหล้า ทั้งยา นารีสายเด้ง และพฤติกรรมนักเลง ทั้งหมดเกิดขึ้นในงานบวชพระ และสถานที่ในพระอาราม “วัดสิงห์”

เหตุการณ์นี้สะท้อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้ งานบุญใหญ่ไฉนกลายเป็นสร้างบาป วิถีพุทธเปลี่ยนไป มหกรรมสันทนาการสำคัญกว่าพิธีกรรมและคำสอนพุทธองค์แล้วหรือ งานบุญบวชเถิดเทิงเกินศีลธรรมอันดีจึงมีเห็นดาษดื่น เพียงแต่ครั้งนี้เกิดเรื่องใหญ่ งานเข้ากลายเป็นประเด็น ขณะเดียวกันก็มีอีกคำถามจากภาพที่เห็นกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุเหล่านี้ที่ลืมความผิดชอบชั่วดี แสดงพฤติกรรมอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายเลยหรือ

นี่คือหนึ่งในแก๊งอันธพาล พ.ศ.2562 ปัญหาสังคม พ.ศ.นี้หรือไม่

หลังเกิดเหตุ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.กัมปนาท โสภโณดร ผบก.น.9 เข้าตรวจสอบ อำนวยการสั่งการจนสามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุทั้งสิ้นได้ 24 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องหาชายที่มีอายุเกิน 18 ปี จำนวน 20 คน และเยาวชนชายต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 4 คน ส่งดำเนินคดีแจ้งหลายข้อหาอาญาไปเรียบร้อย คุมเข้าเรือนจำค้านประกันทั้งหมด และกำลังจะถูกฟ้องร้องทางแพ่งทั้งเรื่องทำลายทรัพย์สินราชการ และทำลายการสอบที่ต้องจัดสอบใหม่ เสียงบประมาณ

สังคมบางส่วนนิยามไปแล้ว กลุ่มผู้ก่อเหตุ 24 คนนี้คือแก๊งอันธพาลย่านฝั่งธนฯ หนึ่งในแก๊งอันธพาลย่านนี้ เฉกเช่นแก๊งอาชญากรที่รุ่นโจ๋ รุ่นใหญ่ที่เคลื่อนไหวในย่านนี้ และเป็นที่รู้จักโด่งดังทางอันธพาลในช่วงก่อนหน้า

ทว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่กลับไม่มองเช่นนั้น โดยว่า กลุ่มนี้ไม่ถึงกับตั้งตนเป็นแก๊งเป็นกลุ่มอย่างที่สังคมกำลังพยายามนิยาม แต่แก๊งวัยรุ่นงานบวชกลุ่มนี้เป็นเพียงแค่ก่อเหตุระรานชาวบ้านในพื้นที่จากอาการพวกมากลากไป

“แม้บางรายมีประวัติคดีเสพยาเสพติด แต่ก็ไม่ได้เป็นที่น่าจับตาเฝ้าระวังเท่ากลุ่มวัยรุ่นอื่นๆ อย่างเช่นกลุ่มของ “เน วัดดาว” หรือนายมครินทร์ พุ่มสะอาด นักเลงลายสักพร้อยทั้งใบหน้าและลำตัวที่โด่งดังบนโซเชียล รวมถึงกลุ่มของ “ตั้มเป๋” หรือนายสุเทพ บุญกระจ่าง อดีตนักค้ายาเสพติดในย่านฝั่งธนฯ ที่ถูกจับขังซังเตจนจวนครบ 10 ปี หรือแม้แต่ “แก๊งยันหว่าง” เพราะแต่ละรายชื่อที่พูดถึงนั้นล้วนมีส่วนพัวพันกับคดียาเสพติดและอาวุธปืน” ตำรวจซึ่งสืบสวนหาข่าวในพื้นที่เผย

นายตำรวจนายเดิมกล่าวว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลไปในทิศทางเดียวกัน คือประณามการกระทำของแก๊งงานวัด

เช่นเดียวกันกับที่ “เสี่ยโป้” หรือนายอภิรักษ์ ชัชอานนท์ ถึงกับยกพวกตบเท้าเข้า สน. มาขอเจอหน้าแก๊งงานบวช แต่สุดท้ายก็เห็นจะเป็นแค่การโหนกระแสเรียกร้องความสนใจเท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มวัยรุ่นฝั่งธนฯ อีกมากที่ไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีบนหน้าสื่อ

จากกรณีนี้สร้างภาพจำว่ากรุงเทพฯ ฝั่งธนฯ คล้ายเป็นย่านมีแก๊งเถื่อน จิ๊กโก๋ป่วนเมืองอยู่เพียบ เรื่องนี้ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ

นายตำรวจคนเดิมบอกว่า ที่ผ่านมาส่งสายตรวจลงพื้นที่ชุมชนอยู่เป็นประจำ หากพบบุคคลต้องสงสัยก็จะควบคุมตัวมาซักถาม ตรวจหาสิ่งผิดกฎหมาย และหากพบก็จับกุมทำประวัติ รวมถึงการเฝ้าระวังบนโลกโซเชียล ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) คอยมอนิเตอร์ติดตามพฤติกรรมบุคคลเหล่านี้อยู่แล้ว และยังมีอำนาจจับกุมได้เอง โดยประสานการทำงานกับโรงพักท้องที่อีกด้วย

ด้าน พล.ต.ต.สุคุณ รอง ผบช.น. บอกว่า กรณีนี้เกิดจากการรวมตัวกันเพื่อไปงานวัดและเกิดความไม่พอใจจึงใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา พฤติกรรมความรุนแรงเยาวชน ไม่ได้อยู่ที่การควบคุมของตำรวจแต่เพียงผู้เดียว เพราะตำรวจคือปลายเหตุ อำนาจของตำรวจคือการบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้กระทำผิด ต้องแยกออกไปอีกว่าเป็นเยาวชนหรือผู้ใหญ่ หากเป็นเด็กที่กระทำผิดก็จะมีศาลเยาวชนคุ้มครอง สถานที่บำบัด ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะการตั้งกลุ่มแก๊งในชุมชนหรือตามท้องถนนต่างๆ เป็นปัญหาสังคม สภาพแวดล้อม การอบรมสั่งสอน หน่วยงานทุกฝ่ายต้องมีบทบาท มีหน้าที่ร่วมกันในการช่วยปลูกฝังเยาวชน

“เด็กไม่ได้เป็นอาชญากร แต่บุคคลเหล่านี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจะไปเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งบางรายต้องการการยอมรับ ทำตัวให้เด่นโดยการท้าทายกฎหมาย ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน นอกจากนี้ การที่โซเชียลระบุว่าความรับโทษให้หนักนั้น ไม่ใช่ตำรวจไม่ทำ แต่จะทำเอาสนุก เอาแค่ความสะใจไม่ได้ จะต้องทำทุกอย่างไปตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง” รอง ผบช.น.ระบุ

นอกจากนี้ พล.ต.ต.สุคุณย้ำว่า การดื่มสุราในวัดเป็นสิ่งที่กฎหมายระบุห้ามอย่างชัดเจน บางครั้งตำรวจไม่ทราบว่ามีการดื่ม ต้องอยู่ที่คนดูแลสถานที่หรือบุคคลบริเวณนั้นมีการปล่อยปละละเลยให้กระทำการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตำรวจไม่ได้มีการปล่อยปละละเลยในเรื่องของกลุ่มแก๊งอันธพาลแต่อย่างใด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสอดส่องดูแลทั้งในชุมชนและภายนอกชุมชน เพื่อเป็นการป้องกัน ตัดไฟแต่ต้นลม แต่ทั้งนี้เราก็ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการสนับสนุน

กรณีนี้จะเป็นบทเรียนให้สังคมไทยนำไปสู่การแก้ไขในทุกมิติได้หรือไม่ อยู่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือจริงจัง และจริงใจ!!