อ่านไอเดียบริษัทระดับโลก! จัดสถานที่ทำงาน ให้กระตุกความคิดสร้างสรรค์!

“พี่เปิดกว้าง”

“เสนอไอเดียได้เต็มที่เลยนะน้องๆ เต็มที่”

“………”

ห้องเงียบสนิท ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ให้กับ “สมชาย”

หัวหน้าจอมแสบของน้องๆ

“อ้าวนี่ นั่งเงียบกันทำไมล่ะ เต็มที่เลยนะ ช่วยกันคิดหน่อย ใครมีไอเดียอะไรใหม่ๆ บ้าง”

สมชายเชิญชวนน้องๆ ให้ออกความเห็น

ทีมงานมองหน้ากันเลิ่กลั่ก

สายตาหนึ่งบอกเป็นนัยว่า “แกตอบสิๆ”

อีกสายตาก็ตอบรับว่า “ไม่เอาหรอก แกสิ”

สมชายเริ่มแสดงอาการไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด ก่อนเอ่ยว่า

“นี่ไม่มีใครมีไอเดียใหม่ๆ เลยหรอ อะไรกัน พวกเธอนี่ ใช้ไม่ได้เลยนะ”

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน

ผมมีโอกาสดี ได้ไปทำงานร่วมกับบริษัท “ไอดีโอ (IDEO)” ที่ประเทศญี่ปุ่น

ต้นตำรับ “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” ที่องค์กรไทยกำลังให้ความสนใจอย่างมาก

เขาเชื่อกันว่าเป็นวิธีการทำงานที่จะนำมาซึ่ง “นวัตกรรม” ในองค์กร

พอได้ทำงานร่วมกับต้นตำรับ ก็ต้องบอกเลยว่า มีเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่น้อยครับ

เรื่องแรกคือ เรื่องของ “การจัดสถานที่ให้สร้างสรรค์”

คนที่ทำงานในแวดวงนวัตกรรมแบบผมจะพอทราบดีครับ

การจะระดมสมองให้ดีนั้น จะต้องอาศัยหลักการ “มีไอเดียให้เยอะๆ ไว้ก่อน แล้วไอเดียดีๆ จะตามมาเอง”

การสร้างปริมาณไอเดียให้ผู้คนที่ทำงานได้มีโอกาสออกความเห็นนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

หากแต่ว่า ไอเดียปริมาณเยอะๆ นั้น ไม่สามารถสั่งให้เกิดขึ้นได้

เหมือน “สั่งงาน” ลูกน้อง ให้ไปพิมพ์เอกสาร

ไอเดียใหม่ๆ นั้นคาดเดายากว่าจะมาจากที่ไหน

มันจะต้องได้รับ “อนุญาต” ให้ออกมาในที่ที่เราต้องการ

และถ้าเราอยากจะได้ไอเดียปริมาณมากๆ

“พื้นที่สีขาว” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทีมงาน

การบริหารจัดการพื้นที่โล่งสีขาวภายในออฟฟิศนั้น

จึงมึความสำคัญมากกับเรื่อง “ปริมาณของไอเดีย” ที่เกิดขึ้น

ซึ่งจะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จด้านนวัตกรรมในที่สุด

วันหนึ่ง ขณะที่นั่งทำงานอยู่ภายในออฟฟิศของ IDEO

ผมก็เห็น “ยูริโกะ” ทีมงานที่ทำงานร่วมกับเรา

เดินผ่านไปพร้อมกับแผ่นโฟมขนาดใหญ่

กว้างประมาณ 2 ฟุต สูงประมาณเมตรแปดสิบ

ขนาดนั้นดูจะใหญ่เกินตัวของเธอไปเสียนิด

แต่เธอก็ถือเจ้าแผ่นโฟมนี้เดินไปมา ราวกับมันไม่มีน้ำหนักเสียเลย

ผมเริ่มสังเกตว่า เขาจะเอาแผ่นโฟมไปทำไม

ยูริโกะเดินเข้าห้องประชุม และวางแผ่นโฟมกับพื้นในแนวตั้ง

ทำแบบนี้ เดินไปๆ มาๆ ระหว่างห้องเก็บของ กับห้องประชุม

จนขนเจ้าแผ่นโฟมว่างๆ นี้เข้าไปในห้องประชุมได้ 4 แผ่นถ้วน

หลังจากนั้นเราก็เริ่ม “ระดมสมอง” กัน

โดยอาศัยใช้ “โพสต์อิท” ของเรา ให้แต่ละคนเขียนไอเดียของตัวเอง

แล้วก็แปะขึ้นไปบนแผ่นโฟมเหล่านี้

พอไอเดียเริ่มเยอะๆ ไปสักพัก ใกล้เต็มแผ่นโฟมแล้ว

ยูริโกะก็จะให้ทีมงานย้ายที่ในการระดมสมอง มาที่อีกจุดใกล้ๆ

โดยจะมีแผ่นโฟมอีกแผ่นเตรียมรอไว้ รอการแปะ “โพสต์อิท” เพื่อให้ไอเดียใหม่ๆ ออกมา

IDEO นั้นให้ความสำคัญกับการจัดสถานที่ทำงานให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ได้ดีมาก

โดยปกติ ถ้าเราประชุมก็อาจจะต้องมี “กระดานไวต์บอร์ด”

หรือแม้แต่ “สไลด์เพาเวอร์พอยต์” อะไรจำพวกนั้น

ซึ่งที่ IDEO นั้นเขาใช้กลับเป็นแค่แผ่นโฟมใหญ่ๆ และโพสต์อิทเยอะๆ

ต่อยอดไอเดียกันขึ้นไป จนได้เป็นปริมาณไอเดียมากมาย

วัดจากปริมาณกระดาษโพสต์อิท ที่เราแปะขึ้นไปเพื่อ “สื่อสาร” ให้ทุกคนเข้าใจ

พื้นที่สีขาวจากแผ่นโฟมนั้น ทำให้เราสามารถเสกพื้นที่สีขาวได้ทุกที่ ทุกเวลา

สามารถจะซ้อนแผ่นโฟมนี้ต่อๆ กันได้ สามารถเลือกแผ่นที่เราต้องการออกมาใช้งานได้เสมอ

แถมยูริโกะก็สามารถแบกเจ้าแผ่นโฟมนี้ไปในที่ต่างๆ ในออฟฟิศได้ เวลาจะนำเสนองาน

กลายเป็นว่า ผู้หญิงพนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

ก็สามารถที่จะบริหารจัดการสถานที่ต่างๆ ในออฟฟิศ ให้ “มีความคิดสร้างสรรค์” ได้

แต่ต้องการ “พื้นที่สีขาว” เท่านั้น

เรื่องของ “การตกแต่ง” ออฟฟิศใหม่ของเมืองไทย ที่พยายามจะทำกัน

ไม่ว่าจะเป็น การมีโต๊ะปิงปอง การใช้สีสันสวยงาม

ไม่ใช่สิ่งที่จะต้อง “คิดเยอะ” และนำไปสู่นวัตกรรมแต่อย่างใด

แต่ “ความยืดหยุ่น” ของสถานที่ต่างหากที่มีความสำคัญ

กระดานไวต์บอร์ดที่ว่าดีแล้ว

ก็ยังเคลื่อนย้ายลำบาก

ไม่เหมือนแผ่นโฟม ที่แสนจะเบา

สร้างเป็น “พื้นที่สีขาว” ได้ตลอดเวลา

อีกส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในออฟฟิศของ IDEO

ก็คือ “ห้องครัว”

ถ้าคุณตัดสินใจจะมีครัวอยู่ในที่ทำงาน

มุมที่ให้พนักงานได้มาหาอะไรกินเวลาหิว

มุมครัวนั้น ควรจะอยู่ที่ตรงไหน

ซ้าย ขวา หน้า หลัง

คำตอบ ไม่ถูกสักอย่าง

เพราะที่จริงออฟฟิศ IDEO มีห้องครัวอยู่ “ตรงกลาง” ออฟฟิศเลย

ไม่ใช่ว่าห้องครัวสวย เลยอยากจะโชว์แต่อย่างใด

แต่คนเรานั้นหิว อยากหาอะไรกิน ก็ต้องมาที่ครัว

ไม่ว่าจะเป็นทีมงานใดก็ต้องหาของว่างรับประทาน

ห้องครัวจึงเหมือนเป็นจุดนัดพบของคนที่ทำงานคนละส่วนในองค์กร

ให้เขาได้มาเจอกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยไม่ต้องบังคับประชุมให้เมื่อย

ห้องครัวจึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของไอเดียใหม่ๆ

ที่เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนของคนในวงการที่แตกต่างกัน

แม้แต่ในบริษัท Google เอง ก็เคยบอกว่า

จะต้องมีมุมขนมเล็กๆ ตลอดทางในออฟฟิศกูเกิล

เพื่อประทังหิว ก็คงจะใช่

แต่เหตุผลหลักคือให้คนต่างสาขา ได้มีโอกาสเดินมาคุยกันบ่อยขึ้น

การพูดคุยแบบนี้แหละ เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ที่คนค่อนโลกใช้กัน นั่นคือจีเมล (Gmail)

เพราะการพบเจอของคนหลากหลาย

คือสิ่งแรกที่องค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะทำจนเป็นกิจวัตร

ไม่ใช่การนั่งในออฟฟิศ บนหอคอยงาช้าง ไม่สุงสิงกับใคร

แล้วหวังว่าจะได้ไอเดียใหม่ๆ จากห้องประชุมทึบๆ ของตนเอง

สมชายยังถามย้ำน้องๆ

“นี่ไม่มีใครมีไอเดียใหม่ๆ เลยหรอ นี่พี่เปิดนะ พูดได้เต็มที่”

สมหญิง ลูกน้องผู้ภักดี คิดในใจ

“พูดไปก็คงจะเหมือนคราวก่อนๆ ที่สมยศโดนต่อว่าไป ใครจะอยากลองเสี่ยงล่ะ”

เงียบสนิท ความคิดใหม่ๆ ที่หัวหน้าเปิดกว้าง

ไม่ได้รับการตอบรับจากลูกน้อง

ที่สุดแล้วผู้นำจะถามหาไอเดียใหม่ๆ อย่างเดียวไม่ได้

ต้อง “แสดงให้เห็น” ด้วย คนถึงจะเชื่อ

หัวหน้าลองพูดอะไรใหม่ๆ ก่อนจะถามคนอื่นดีมั้ยครับ

น่าจะดีนะ