วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ปรับตัวให้ทันเวลาฉบับเช้าเพิ่มยอดพิมพ์

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ปรับตัวให้ทันเวลาฉบับเช้าเพิ่มยอดพิมพ์

การทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเช้ามีอุปสรรคสารพัด แม้กำหนดการแน่นอนว่า มติชนฉบับแรกปฐมฤกษ์จะต้องวางบนแผงหนังสือถึงมือท่านผู้อ่านเช้าตรู่วันที่ 9 มกราคม  2521

แต่ด้วยอุปกรณ์การพิมพ์ที่ยังไม่พร้อมเท่าที่ควร กำลังคนทำงานในฝ่ายผลิตมีจำกัด แม้การเตรียมตัวพร้อม ดำเนินการล่วงหน้า ทั้งเรื่องต้นฉบับ ทั้งเรื่องเวลาการพิมพ์ ถึงกระนั้น หนังสือพิมพ์รายวันจำเป็นต้องปิดข่าวล่าสุดในช่วงค่ำของวันนี้เพื่อออกหนังสือพิมพ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น

ปิดข่าวเรียบร้อย พิมพ์หน้าในทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงหน้าหนึ่ง หลังปิดข่าวแล้ว ด้านช่างเรียงเรียงพิมพ์ข่าวแต่ละข่าวต้องใช้เวลานับชั่วโมง

ปิดหน้าหนึ่งเรียบร้อย กว่าจะได้ลงพิมพ์เวลาล่วงเลยไปถึงกลางดึกใกล้รุ่งเช้า ทั้งเครื่องพิมพ์ที่ต้องพิมพ์เครื่องละหน้า เครื่องที่สองต้องรอพิมพ์หน้าแรกไปได้จำนวนหนึ่งจึงเริ่มพิมพ์กลับหน้าสองได้

พนักงานเก็บเล่มแม้ทำงานล่วงหน้า กว่าจะได้คู่หน้าแรกไปเข้าเล่มรวมอีกแผ่นหน้าในต้องรอเวลาพร้อมกันจึงเริ่มเก็บเล่มได้เมื่อแสงอาทิตย์แยงตาแล้ว

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับปฐมฤกษ์ 9 มกราคม 2521 จำนวนแรกกว่าจะออกจากโรงพิมพ์ขึ้นท้ายมอเตอร์ไซค์ที่จอดรออยู่ตั้งแต่เช้ามืด ออกคันแรกทยอยไปส่งให้แผงหนังสือเป็นเวลากว่าแปดโมงเช้า

หนังสือพิมพ์วันแรกกว่าจะเสร็จหมดส่งเสร็จทั้งแผงหนังสือในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกินเวลาเที่ยงไปแล้ว จึงจัดห่อส่งขึ้นรถไฟ ไปรถทัวร์ออกต่างจังหวัดถึงเย็นถึงค่ำและวันรุ่งขึ้น

เครื่องพิมพ์ทำงานติดต่อกันพิมพ์ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2521

 

ฝ่ายบริหาร ขรรค์ชัย บุนปาน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ร่วมกับฝ่ายผลิต และฝ่ายจัดจำหน่ายวางแผนว่าต้องจัดการกับเวลาพิมพ์ให้ได้ทันตามกำหนด

ประการแรก ต้องเปลี่ยนระบบการพิมพ์หน้าแรกจากเครื่องพิมพ์ป้อนแผ่น เป็นพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ป้อนม้วน ซึ่งใกล้กับโรงพิมพ์พิฆณศ ตรงข้ามกระทรวงมหาดไทย สี่แยกเสาชิงช้ามีเครื่องพิมพ์ป้อนม้วนออฟเซ็ตใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ออกเป็นรายสัปดาห์เสนอเรื่องแปลกๆ ของคุณจรูญ กุวานนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดปทุมธานี (หากจำผิดขออภัยด้วย)

เครื่องพิมพ์ออฟเซ็ตป้อนม้วนทำให้การพิมพ์หน้าหนึ่งซึ่งพิมพ์คู่ 4 หน้า มาสอดกับหนังสือพิมพ์คู่หน้าใน 4 หน้าจากเครื่องพิมพ์ป้อนแผ่นที่โรงพิมพ์พิฆเณศ รวมเป็น 8 หน้า ออกวางแผงได้ทันเช้ามืดวันรุ่งขึ้น

อีกไม่กี่วันต่อมา เครื่องพิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ปรับปรุงให้จัดพิมพ์ได้ 2 คู่ 8 หน้า พิมพ์ออกมาพร้อมกันเป็นเล่มหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องใช้แรงงานคนสอดหน้าหนังสือพิมพ์ การออกวางแผงหนังสือและจัดส่งสมาชิกจึงเป็นไปตามกำหนด คือเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น

แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์เพียง 8 หน้า ราคา 1.50 บาท เท่ากับหนังสือพิมพ์ 12 หน้า และ 16 หน้า แต่เพราะเนื้อหาสาระทั้งข่าวและงานเขียนของนักคิดนักเขียนในมติชนรายวัน เป็นแม่เหล็กสำคัญที่ให้ผู้อ่านคนหนุ่มสาวและปัญญาชนวัยทำงานได้อ่านความคิดความอ่านของนักเขียนนักคิดเหล่านั้น ตามที่แนะนำไว้ในฉบับพิเศษ เส้นทางเดินจากประชาชาติถึงมติชน หน้า 10-11 ตลาดความคิด บทความพิเศษ และนักเขียนรับเชิญ

ไม่ว่าจะเป็น ประชาชาติ เข็มทิศ หรือ “มติชน” ฉบับนี้ หนังสือพิมพ์ที่ปิดป้ายบอกชื่อกลุ่มคนทำคณะนี้ คือความภูมิใจของเราและความเชื่อถือจากบุคคลทุกระดับชั้น

 

ด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพที่มีอุดมการณ์กำกับและผลงานของเราที่เป็นเครื่องพิสูจน์ บุคคลทุกระดับวงการเปิดประตูเชื้อเชิญคนของเรา ให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจว่า ทุกคำพูด และความหมายจะได้รับการตีพิมพ์อย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องตามข้อเท็จจริง

ความคิด ทัศนะ บทความหลากหลาย ที่ผดุงปัญญาสร้างสรรค์ความถูกต้องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ จากนักวิชาการ ปัญญาชน นักบริหาร ข้าราชการ และผู้มีความคิดรังสรรค์ มาสู่หน้าหนังสือพิมพ์ของเรา จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดแห่งความคิด

ในฐานะที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นผู้อาสา เราไม่เคยคิดว่าเราเป็นสัพพัญญูรู้แจ้งเจนจบ เราเป็นเพียงผู้อาสาที่ทำหน้าที่ที่ดีที่สุดในวันนี้ และทำให้ดีกว่าในวันพรุ่งนี้ เมื่อเราไม่รู้ เราบอกว่าไม่รู้ และพร้อมจะพากเพียรเรียนหาความรู้จากผู้รู้ทั้งหลาย

นักวิชาการ ผู้บริหารทุกระดับชั้น และแหล่งข่าวทั้งหลายคือที่ปรึกษาของเรา…

ลักษณะการทำหนังสือพิมพ์ให้เป็นหนังสือพิมพ์เช่นนี้คือการยอมรับและความรู้สึกร่วมกันของผู้อ่านทั้ง หลายซึ่งส่งบทความและข้อเขียนที่เป็นประโยชน์มาร่วมปฏิบัติหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ที่มีคุณค่ากับเราโดยตลอด

 

นอกจากนักเขียนประจำ ขรรค์ชัย บุนปาน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร สุทธิชัย หยุ่น ปรีชา สามัคคีธรรม ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ไพสันต์ พรหมน้อย รัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ นฤนารท พระปัญญา ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ อนันต์ สายศิริวิทย์ ฯลฯ แล้ว

นักเขียนรับเชิญและผู้ส่งบทความมาร่วมกับเรายังมีอีกเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่คุ้นหูคุ้นตากันมาแล้วทั้งนั้น ตั้งแต่ สมศักดิ์ ชูโต ศักดา สายบัว ชัยอนันต์ สมุทวณิช ชัยสิริ สมุทวณิช เสน่ห์ จามริก รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ลิขิต ธีรเวคิน วิทยากร เชียงกูล สุชาติ สวัสดิ์ศรี บัณฑูร อ่อนดำ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม สุภชัย มนัสไพบูลย์ แล ดิลกวิทยรัตน์ สันติภาพ ไชยวงศ์เกียรติ ประทีป สนธิสุวรรณ

เริงชัย มะระกานนท์ ชนะ สมุทวณิช ธวัช วิชัยดิษฐ สุรัฐ ศิลปอนันต์ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ อากร ฮุนตระกูล เกริกเกียรติ กรองศิลป์ ธเนศร์ อาภรณ์สุวรรณ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ พิชัย รัตตกุล เขียน ธีระวิทย์ วีรพงษ์ รามางกูร เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ พิชัย วาศนาส่ง ฯลฯ

นักวิชาการ นักคิด นักเขียน เหล่านี้ คือผู้ที่ทำให้ “มติชน” เป็นตลาดกลางแห่งความคิดเห็น และความรู้

ที่สำคัญ และ เราชาวมติชน คือ ยอดจำนวนจำหน่ายหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ฝ่ายผลิต ประเสริฐ สว่างเกษม แจ้งว่า เครื่องพิมพ์ที่โรงพิมพ์บางกอกไทม์ รองรับจำนวนพิมพ์ไม่ทัน ขอให้ปรับเปลี่ยนโรงพิมพ์ที่มีเครื่องออฟเซ็ตป้อนม้วนพิมพ์ด้วยความเร็วกว่านี้

เช่นเดียวกับฝ่ายจัดจำหน่าย ยงยุทธ์ สฤษฎิ์วานิช ที่ผู้จัดการจัดจำหน่ายต้องเพิ่มเวลาการวางหนังสือพิมพ์จากเดิม

ที่สุดจึงต้องย้ายโรงพิมพ์ที่พิมพ์ไปอีกที่หนี่ง เพื่อให้หนังสือพิมพ์เพียงพอกับความต้องการของท่านผู้อ่าน และเป็นไปตามเวลากำหนด