วิรัตน์ แสงทองคำ : ร้านสะดวกซื้อข้ามพรมแดน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ร้านค้าเล็กๆ กับเครือข่ายกว้างขวาง จึงมีความเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคม ย่อมเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างไม่ต้องสงสัย

ผมนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้มาหลายต่อหลายครั้ง จับตาแม้แต่ขยับตัวเพียงเล็กน้อย แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นแรงขยับปรับตัวครั้งใหญ่

เชื่อว่าผู้คนคงสนใจความเป็นไปของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เสมอ ด้วยเป็นธุรกิจซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อง (steak holder) มากมาย มากกว่าหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะมองผ่านตลาดหุ้นกับชื่อ CPALL ซึ่งมีข้อมูลที่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

อย่างผลประกอบการที่เพิ่งแถลงไป ว่าไปแล้วดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ใครว่าปี 2561 เป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แต่ดัชนี CPALL นั้นแตกต่าง ดีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ (อ้างจากข้อมูลนำเสนอ CP ALL Public Company Limited FY2018 Performance Highlights, February 2019)

ข้อมูลนั้นได้นำเสนอเรื่องราว แผนการขยายตัวทางธุรกิจ ซึ่งมีมิติเกี่ยวข้องในวงกว้าง ดังที่ผมเคยว่าไว้ “บทบาทธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ นอกจากเข้าถึงสังคมไทยกว้างมากขึ้น ลึกมากขึ้น ไม่เพียงสร้างโอกาส และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับชุมชน ทั้งระบบการจ้างงานและห่วงโซ่การค้ายังได้คุกคาม ทำลายค้าปลีกแบบเก่า บทบาทจะมีมากขึ้น เมื่อเครือข่ายทรงอิทธิพล อยู่ในกำมือธุรกิจใหญ่ ซึ่งมีธุรกิจสำคัญๆ อื่นๆ สัมพันธ์กับสังคมผู้บริโภคไทยอย่างแนบแน่นและกว้างขวาง”

กรณีนี้ให้ความสนใจข้อมูลพื้นฐานว่าด้วยการขยายเครือข่ายสาขา 7-Eleven ซึ่งสะท้อนภาพการเติบโตทางธุรกิจโดยตรง การเพิ่มขึ้นสาขาในระดับ 700 แห่งต่อปี เป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามแผนการทางธุรกิจซึ่งประกาศไว้ เชื่อว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลประกอบการที่เติบโตกับพลังทางธุรกิจซึ่งดูเพิ่มขึ้นๆ

อย่างไรก็ตาม ภาพนั้นมีรายละเอียดพอสมควร ควรขยายความ

 

หนึ่ง-การขยายสาขาด้วยตนเอง มีจำนวนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนมากกว่าเดิมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญ มากกว่าการขยายสาขาอันเนื่องมาจากระบบแฟรนไชส์ ที่น่าสังเกต ปีล่าสุดจำนวนแฟรนไชส์มาจากคู่ค้า (Store Business Partner) ลดลงจากระดับ 400 แห่ง เหลือไม่ถึง 300 แห่ง

สอง-แผนการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งที่มีนัยยะสำคัญอ้างอิงกับการเติบโตของสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ซึ่งอัตราเพิ่มขึ้นกว่า 100 แห่งแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ผมสนใจตัวเลขชุดหนึ่งเป็นพิเศษ เชื่อว่าเชื่อมโยงพัฒนาการขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven อย่างไม่หยุดยั้ง

ที่น่าสังเกตในช่วง 4-5 ปีมานี้ รายได้เฉลี่ยต่อร้าน (Same Store Sales Growth) ผกผันพอสมควร

บางปีติดลบ บางปีแทบไม่เพิ่มขึ้น ปีที่เพิ่งผ่านมา (2561) เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้น 3.2% (ขณะที่ซีพีออลล์มียอดขายเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 10% ในปีเดียวกันนี้เพิ่มขึ้น 10.9%)

ว่าไปแล้วเป็นแนวโน้มที่ดี ขณะที่จำนวนผู้เข้าร้านโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ

ข้อมูลข้างต้นด้านหนึ่งอาจสะท้อนสัญญาณว่าช่วงพีกกำลังจะผ่านไป เมื่อเครือข่ายนั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางอย่างมีนัยยะ อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ข้างต้นเป็นตัวเลขกล (magic number) เพื่อการอ้างอิงกับแผนขยายเครือข่ายร้าน

ดัชนีข้างต้นสัมพันธ์ในมิติทางสังคม เกี่ยวกับคู่ค้า (Store Business Partner) อันเนื่องมาจากการขยายเครือข่าย 7-Eleven พลังขับเคลื่อนสำคัญมาจากผู้ประกอบการรายย่อยในฐานะผู้อยู่ในระบบแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เป็นไปได้ว่าพลัง 7-Eleven ได้ก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ อยู่เสมอ ตามข้อมูลนำเสนอข้างต้น มีสัดส่วนถึง 55% จากเครือข่ายสาขาทั้งหมด (2561) 10,988 แห่ง มีเครือข่ายร้านโดยผู้ประกอบการรายย่อยถึง 6,094 แห่ง ผู้ประกอบการซึ่งบริหารจัดการร้านค้าเล็กๆ อย่างระแวดระวังและรอบคอบ ภายใต้ระบบและเงื่อนไขอันเข้มงวดตามสัญญาแฟรนไชส์ ด้านหนึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์บริหารธุรกิจ ท่ามกลางข้อจำกัดและความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นๆ

มิตินี้สะท้อนความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างรายใหญ่กับรายย่อยที่น่าสนใจ เชื่อมโยงกับแนวทางธุรกิจว่าด้วยการขยายเครือข่ายสาขา พลังธุรกิจพื้นฐานอันทรงอิทธิพล

 

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีก แผนการขยายสาขาสู่ประเทศลาวและกัมพูชา เป็นความเคลื่อนไหวในช่วงเวลาเดียวกันกับการนำเสนอข้อมูลนำเสนอ (ดังที่อ้างไว้ข้างต้น) ความเคลื่อนไหวนั้น ปรากฏในรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (มติคณะกรรมการ เรื่องการจ่ายเงินปันผล กำหนดการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2562 การเจรจาธุรกิจร้านสะดวกซื้อในกัมพูชาและลาว และการจัดตั้งบริษัทย่อย, 21 กุมภาพันธ์ 2562)

“มีมติอนุมัติให้ดําเนินการเจรจาและตกลงเพื่อการเข้าทําสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master Franchise Agreement) ในการลงทุนจัดตั้งและดําเนินการร้าน 7-Eleven ในประเทศกัมพูชาและประเทศลาว ทั้งนี้ บริษัทได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (Indicative Term Sheet) กับ 7-Eleven, Inc. สําหรับการได้รับสิทธิแฟรนไชสในการจัดตั้งและดําเนินการร้าน 7-Eleven ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 โดยมีกําหนดระยะเวลาของบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นฉบับนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อมีการลงนามในสัญญาแฟรนไชส์หลัก ซึ่งคาดหมายว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 2/2562”

อันที่จริงแผนการความพยายามขายเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้านมีมานานแล้ว หากจำกันได้เคยประกาศไว้ในปี 2556 (อ้างจาก Thai CP All to open 7-Eleven stores in Myanmar, Laos, Cambodia. Reuters Jan 30,2013) มีความเป็นไปได้ว่าเป็นจุดเริ่มการเจรจาข้างต้นแต่ดูเหมือนไม่คืบหน้านัก

จนมาถึงดีลสำคัญ

“ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ประกาศความพร้อมเตรียมรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือเออีซีซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของบริษัท ซื้อกิจการบริษัทสยามแม็คโคร ผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองในประเทศไทยด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นช่องทางนำสินค้าจากประเทศไทยโดยเฉพาะสินค้าจากผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางหรือ SMEs และสินค้าผลิตผลทางการเกษตรของไทย รวมถึงสินค้าประเภทอาหารแช่แข็งและอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ฯลฯ ไปจำหน่ายในประเทศกลุ่มอาเซียน” (http://www.cpall.co.th 23 เมษายน 2556)

 

ดีลข้างต้นในเวลานั้นผมเองเคยวิเคราะห์เป็นแผนการใหม่ที่แตกต่างให้ความสำคัญ “การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community)” อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master Franchise Agreement) 7-Eleven

แผนการ Makro ขยายเครือข่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปค่อนข้างช้า ผ่านไป 4 ปีเต็มจึงเกิดขึ้น

เมื่อปลายปี 2560 เครือข่ายแรกได้เปิดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โมเดลเดียวกับ Makro ประเทศไทยที่เรียกว่า wholesale club supermarket ถือว่าเป็น supermarket ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ย่อมแตกต่างจากร้านสะดวกซื้อตามโมเดล 7-Eleven ซึ่งเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า

ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ธุรกิจค้าปลีกในลาวและกัมพูชาได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก เชื่อว่าเป็นบริบทและฉากตอนที่แตกต่างจากการบุกเบิกเครือข่ายร้านสะดวกซื้อครั้งแรกในประเทศไทย

ใน สปป.ลาว-กลุ่มทีซีซี ภายใต้เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC มีธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ (Convenience store) ในเวียงจันทน์ ซึ่งเปิดขึ้นเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว

ล่าสุดมีแผนการปรับโฉมเป็น Mini Big C (โมเดลร้านสะดวกซื้อ) ด้วยมีเครือข่ายพอสมควรกว่า 20 แห่

 

อีกกรณีมาจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ ปตท. ซึ่งไม่อยู่ในพันธสัญญาร่วมมือกับ 7-Eleven ปตท.บุกเบิกธุรกิจใน สปป.ลาวมานานพอสมควร ราวๆ 25 ปี โดยเฉพาะเปิดสถานีบริการน้ำมัน ใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะมาถึงจุดเปลี่ยน จุดเชื่อมโยงกับผู้บริโภคชาวลาวอย่างเป็นจริงเป็นจัง

คงต้องนับเนื่องเมื่อปี 2555 เมื่อเปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบเดียวกับเมืองไทย ที่เรียกว่า PTT Life Station พร้อมๆ กับการเปิดตัวร้านกาแฟ Cafe Amazon ความเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น ด้วยมุมมอง ด้วยโอกาส การขยายตัวสถานีบริการน้ำมันซึ่งมีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ Jiffy ของ ปตท.เอง

ตามแผนเฉพาะ Jiffy Convenience store จากประมาณ 20 สาขา (ปี 2650) จะเพิ่มจำนวนร้านเป็น 97 สาขาภายในปี 2565

ประเทศกัมพูชา-ธุรกิจค้าปลีกดำเนินไปอย่างคึกคักมากกว่า สปป.ลาวเสียอีก มีหลากหลายรูปแบบ ที่น่าสนใจเครือข่ายอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโมเดลร้านสะดวกซื้อจากโลกตะวันตกเข้ามาปักหลักเป็นรายแรกเสียแล้ว Circle K เครือข่ายธุรกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งมากว่า 60 ปี มีเครือข่ายมากกว่า 1,000 แห่งทั่วสหรัฐ

และเข้าสู่ต่างประเทศเมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว เปิดฉากขึ้นที่ญี่ปุ่น ก่อนจะขยายตัวในภูมิภาค ทั้งฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก่อนจะมาที่กัมพูชา (ปี 2560)

เพียงปีเศษ ขยายสาขาในพนมเปญมากกว่า 10 สาขาแล้ว

เป็นแรงเสียดทานใหม่ต่อธุรกิจไทยเพื่อข้ามพรมแดน ก้าวข้ามจากฐานะผู้บุกเบิก สู่ผู้ท้าทาย