กลับไป จากมา : การสดุดีแด่ฮีโร่ในดวงใจ ของศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนิทรรศการใหญ่ของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยคนสำคัญผู้มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสากล ถูกจัดแสดงในบ้านเราที่กรุงเทพฯ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

ศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย ผู้เกิดและเติบโตในจังหวัดเชียงใหม่

นาวินเคยแสดงผลงานในเวทีศิลปะระดับโลกมาแล้วมากมาย ผลงานของเขาถูกเก็บสะสมอยู่ในสถาบันศิลปะชั้นนำของโลก เช่น พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก เป็นอาทิ

หลังจากหายหน้าหายตาไปเสียนาน ในคราวนี้นาวินกลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการครั้งใหม่สุดอลังการที่มีชื่อว่า “กลับไป จากมา : REVISITED < > DEPARTED”

โดยนิทรรศการครั้งนี้ได้วรเทพ อรรคบุตร ศิลปิน นักเขียน และภัณฑารักษ์ ผู้เคยร่วมงานกับนาวินมาอย่างยาวนานมารับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ให้ด้วย

นิทรรศการ “กลับไป จากมา” ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของบุคคลสำคัญในชีวิตของนาวิน ผู้เป็นเสมือนฮีโร่ที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตและการทำงานศิลปะของเขา ถึงสองคน คนแรกคือพ่อของนาวินเอง

ส่วนอีกคนก็คือ มณเฑียร บุญมา ศิลปินคนสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยและนานาชาติผู้ล่วงลับ ผู้เป็นอาจารย์ของนาวินนั่นเอง

นิทรรศการนี้เป็นการถักทอร้อยเรียงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสองกับศิลปิน โดยครอบคลุมเรื่องราวใกล้ชิดในชีวิตและการทำงานของพวกเขาทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นตัวตน ผลงาน ไปจนถึงวัตถุสะสมส่วนตัว

ซึ่งลักษณะการทำงานเช่นนี้ของนาวินก็เป็นอะไรที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในผลงานชุด หลงกรุง (Lost in the City) (2006) ที่เล่าเรื่องราวของจิม ทอมป์สัน ราชาผ้าไหมไทย, ผลงานชุดสุดขอบฟ้า (FLY WITH ME TO ANOTHER WORLD) (2004) ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางของศิลปินไทยชั้นครูอย่างอินสนธิ์ วงศ์สาม

หรือผลงานชุดเรื่องเล่าบ้านบ้าน เรื่องราวนาวิน (A Tale of Two Homes / Tales of Navin) (2015) ที่สำรวจลึกไปถึงความทรงจำในวัยเยาว์ของตัวเอง และเรื่องราวของพ่อ-แม่ และบรรพบุรุษของเขา

นาวินมักจะนำเรื่องราวชีวประวัติเหล่านี้มาบอกเล่าอย่างสนุกสนาน บางครั้งแทรกด้วยมหากาพย์การผจญภัย ที่ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นจริงกับแฟนตาซีจนรางเลือน

ผลงานของเขาผสมผสานสื่อมากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพวาดบุคคลขนาดใหญ่ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง วิดีโอ ภาพยนตร์ ไปจนถึงสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือ หนังสือการ์ตูน และนิตยสาร รวมถึงผลงานศิลปะเชิงโต้ตอบที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมและทำงานร่วมกับชุมชนโดยตรง

นอกจากนี้ จดหมายก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่นาวินใช้ในการนำเสนอผลงานศิลปะของเขามาโดยตลอด และมันก็เป็นองค์ประกอบอันสำคัญในนิทรรศการครั้งนี้อีกด้วย

โดยนาวินเขียนจดหมายสามฉบับในปี 2010, 2013 และ 2018 เพื่อบอกเล่าความเป็นไปในชีวิตตนเองและเพิ่มเติมความทรงจำส่วนตัวด้วยความชื่นชมถึงมณเฑียรผู้ล่วงลับไปแล้ว

ในฐานะอาจารย์ มณเฑียรให้แรงผลักดันและส่งอิทธิพลต่อการทำงานศิลปะของนาวินอย่างต่อเนื่องตลอดมา ถึงแม้เขาจะไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนกับมณเฑียรมาโดยตรงก็ตาม แต่ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นาวินทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับมณเฑียร

และมณเฑียรเองก็สนับสนุนให้นาวินทำงานศิลปะที่แทรกตัวเข้าไปสู่พื้นที่สาธารณะและเชื่อมโยงกับสังคมและชุมชน อันเป็นรูปแบบที่ส่งให้ชื่อของนาวินก้าวไปสู่วงการศิลปะในระดับสากลในเวลาต่อมา

ในฐานะศิษย์ นาวินเองก็ทำงานศิลปะที่แสดงคารวะต่อมณเฑียรมาแล้วหลายวาระ โดยนิทรรศการนี้ก็ถือเป็นการทำงานล่าสุดที่แสดงความรู้สึกนี้ โดยในปี 2018 สิบสามปีหลังจากการเสียชีวิตของมณเฑียร นาวินกลับไปเยี่ยมบ้านหลังเก่าที่ครูของเขาเคยอาศัยอยู่กับครอบครัว และใช้เป็นสตูดิโอที่เขาทดลองทำงานศิลปะเกือบตลอดช่วงชีวิตการเป็นศิลปิน

ซึ่งปัจจุบันถูกปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะในชื่อ Montien Atelier ที่เป็นสถานที่แสดงผลงาน เก็บรวบรวมองค์ความรู้ และหอจดหมายเหตุที่ประกอบไปด้วยเอกสารสำคัญอย่างจดหมาย ภาพร่างผลงาน ศิลปวัตถุที่เป็นองค์ประกอบในการแสดงงานศิลปะของมณเฑียร

และการกลับไปในครั้งนั้น นำพานาวินให้เริ่มทำงานศิลปะคู่ขนานระหว่างครูผู้แนะแนวทางศิลปะกับพ่อผู้ที่เขาสนิทสนมรักใคร่ จนเกิดเป็นงานศิลปะชุดใหม่ที่เผยโฉมในนิทรรศการครั้งนี้นั่นเอง

โดยผลงานส่วนแรกอยู่ในห้องแสดงงานเล็ก ภายในห้องแสดงงาน ผนังด้านหนึ่งแขวนกรอบรูปบรรจุจดหมายที่นาวินเขียนถึงอาจารย์ผู้ล่วงลับของเขา ถัดมาเป็นตู้กระจกบรรจุขวดยาบรรจุภาพถ่ายคนชราเก่ากรุหลายร้อยขวด ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของนาวินที่มีชื่อว่า There is No Voice (1994/2012) ที่นาวินได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางทำงานศิลปะในชุมชนกับมณเฑียรในอดีต

ผนังอีกด้านหนึ่งเป็นกรอบรูปที่ภายในบรรจุขวดยาที่บรรจุภาพถ่ายเก่า, ฝุ่นผงและขี้เถ้าวางเรียงคล้ายกับรูปร่างของสถูป ซึ่งเป็นวัตถุที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานศิลปะของมณเฑียร

ด้านหลังเป็นภาพของนาวินที่กำลังช่วยมณเฑียรติดตั้งงาน Lotus Sound (1992) ภาพวาดเหล่านี้วาดจากเถ้าถ่านที่ได้จากพิธีกรรมฌาปนกิจงานศิลปะเพื่อระลึกถึงมณเฑียรของนาวิน

ลึกเข้าไปด้านในของห้องแสดงงานเล็ก ถูกปิดเป็นทางแคบยาว บนหน้าต่างกระจกบานใหญ่ของห้องแสดงงานติดสติ๊กเกอร์ดำฉลุลวดลาย เครื่องหมายคำถาม (?) และ เครื่องหมายตกใจ (!) ลายพร้อย เมื่อแสงสาดส่องทะลุกระจก จะปรากฏเป็นลวดลายเครื่องหมายคำถาม/ตกใจเรืองแสง อยู่บนผนังฝั่งตรงข้าม เกือบสุดปลายทางเดินมีผ้าแถบยาวสีดำพิมพ์ลายเครื่องหมายคำถาม/ตกใจแขวนลงมาจากเพดาน (ซึ่งลวดลายเครื่องหมายคำถาม/ตกใจที่ว่านี้นี่เอง เป็นองค์ประกอบอันโดดเด่นในผลงานช่วงหนึ่งของมณเฑียรนั่นเอง)

เมื่อเราเดินไปสุดทางเดิน ทางขวามือมีช่องเปิดเข้าไปในห้องมืด บนผนังห้องฉายภาพวิดีโอของหญิงชราคนหนึ่ง นั่งโดดเดี่ยว นิ่งงันแทบไม่ไหวติง บนม้ายาวหน้าเปียโนเก่าๆ ตัวหนึ่ง สีหน้าท่าทางของเธอดูหงอยเหงาเศร้าสร้อย เหนือขึ้นไปด้านหลังของเธอ เป็นภาพวาดของหญิงชราคนเดียวกัน นั่งอยู่หน้าเปียโนตัวเดียวกัน แต่สีหน้าท่าทางของเธอในภาพวาดดูสดชื่นแจ่มใส เธอถูกห้อมล้อมด้วยบรรดากลุ่มคนที่ดูเหมือนสมาชิกครอบครัว กับเหล่าสัตว์เลี้ยง และกองข้าวของของขวัญต่างๆ จนดูเหมือนเป็นภาพถ่ายงานฉลองอะไรสักอย่าง

เมื่อดูเผินๆ ภาพวาดนี้ดูราวกับเป็นภาพในวิดีโอที่ฉายลงบนผนัง แต่เมื่อวิดีโอดับลงจนปรากฏให้เห็นผนังสีขาวว่างเปล่า

เราจึงได้รู้ว่าภาพนี้เป็นภาพวาดจริงๆ ที่ถูกฝังอยู่ในผนังห้องแสดงงาน (ซึ่งอันที่จริง ข้างหลังภาพก็ปรากฏให้เห็นตอนเราเดินเข้ามาในห้องแสดงงานตั้งแต่แรกแล้ว แต่เราไม่สังเกตเองนั่นแหละ

นิทรรศการแสดงเดี่ยว “กลับไป จากมา” โดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562

แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ +66830872725

เอื้อเฟื้อภาพโดย ศิลปิน, นาวินโปรดักชั่น – สตูดิโอเค และบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ / จิราภรณ์ อินทมาศ