นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ประชาธิปไตยใหม่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในช่วงนี้ผมได้เห็นคลิปและข้อความสารภาพผิดของชาวนกหวีดอยู่บ่อยๆ มาจากผู้เข้าร่วมธรรมดาบ้าง จากคนเด่นบ้าง และจากแกนนำบางคนก็มีด้วย

หากเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป ความไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่คงมีหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งภายใต้เผด็จการทหาร 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีทีท่าจะดีขึ้นแต่อย่างไร ซ้ำตัวเลขสถิติยังชี้ไปทางที่เลวลงด้วย

ทั้งนี้ เพราะผมคิดว่า คนชั้นกลางในเขตเมืองคือคนที่อ่อนไหวต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะความเหลื่อมล้ำประเภทนี้ผลักเขาลงไปอยู่ร่วมกับคนระดับล่างได้เร็วมาก นอกจากนี้คนชั้นกลางในเมืองยังใช้การบริโภคเป็นหนทางการเลื่อนสถานภาพของตน สมรรถภาพการบริโภคที่ไม่มีทางเทียมทัน จึงทำความเจ็บปวดแก่เขายิ่งกว่าที่คนกลุ่มอื่นจะนึกไปได้ถึง

ผมอยากเดาว่า คนชั้นกลางในชนบทก็ตาม หรือคนระดับล่างก็ตาม ย่อมไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน แต่พวกเขาคิดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม, การเมือง, การศึกษา และวัฒนธรรม ที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมากกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะความใฝ่ฝันที่จะไต่เต้าบันไดทางสังคมของพวกเขาอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ไม่ได้อยู่ที่แบบแผนการบริโภคโดยตรง

เพราะเสียงที่ดังกว่าของคนชั้นกลางในเมืองกระมัง ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นทางการเมืองของการหาเสียงครั้งนี้ ยิ่งกว่าความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น

จริงดังคำแก้ตัวที่เราได้ยินบ่อยๆ จากผู้บริหารด้านเศรษฐกิจของ คสช.ว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นปัญหาของไทยภายใต้ คสช.เพียงแห่งเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งโลก

แม้กระนั้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายใต้ คสช.ก็สร้างความเจ็บปวดมากเป็นพิเศษ เพราะนโยบายที่เอื้อให้ทุนใหญ่สามารถหากำไรจากความเสียเปรียบของคนเล็กคนน้อย (เขตเศรษฐกิจพิเศษ, ยกเลิกผังเมือง ฯลฯ) หรือจากความปลอดภัยสาธารณะ (เลิกข้อบังคับการทำ EIA และ SIA-HIA, สารเคมีอันตราย, กากอุตสาหกรรม ฯลฯ)

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกจริง แม้แต่ในประเทศที่เคยได้ชื่อว่ากระจายรายได้ค่อนข้างเป็นธรรมอย่างแถบสแกนดิเนเวีย ก็ผ่อนคลายนโยบายกระจายรายได้อย่างเดิมลง ด้วยความเชื่อว่าจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของตน จึงต้องเผชิญปรากฏการณ์นี้เหมือนกัน

ในทัศนะของ Thomas Piketty ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดูเหมือนเป็นธรรมชาติของทุนนิยมที่ตั้งอยู่บนฐานกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และเราอาจเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกทุกประเทศ นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ต้องอาศัยภัยพิบัติอย่างใหญ่ เช่นสงครามโลกถึงสองครั้งในศตวรรษที่ 20 ที่อาจโค่นล้มทรัพย์สินของคนส่วนน้อยข้างบนลงมาบ้าง แต่ความสงบในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก็ทำให้เกิดการสะสมทรัพย์สินของคนส่วนน้อยดังกล่าวใหม่อีกรอบหนึ่ง จนมาบัดนี้ (รวมทั้งส่อไปในศตวรรษที่ 21 ด้วย)

ช่องว่างระหว่างคนรวยสุดๆ 10% ข้างบน กับคน 90% ข้างล่าง นับวันก็จะห่างขึ้นทุกที

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวของทรัพย์สินหรือทุนในหมู่คนส่วนน้อยก็เพราะ ผลตอบแทนของทุนมักจะสูงกว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจเสมอ เช่น ทุนได้ผลตอบแทน 4-6% ต่อปี แต่เศรษฐกิจเติบโตเพียงปีละ 1-2% อันเป็นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจปรกติธรรมดาของประเทศพัฒนาแล้ว (ที่สูงๆ เกิน 6% มักเป็นเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเช่นญี่ปุ่นในสมัยหนึ่ง และจีนในปัจจุบันเท่านั้น)

จากอัตราความต่างระหว่างผลตอบแทนของทุนและความเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เพียง 10 ปี ทุนกองนั้นก็จะใหญ่ขึ้นไปอีกถึง 40-60% ทั้งโตไปในอัตราเร่งเสียด้วย เพราะกองทุนใหญ่ขึ้น เปอร์เซ็นต์ของผลตอบแทนอาจเท่าเดิม แต่มีมูลค่าสูงขึ้น

เหตุที่ทรัพย์สินหรือทุนส่วนบุคคลโตเร็วเช่นนี้เป็นธรรมชาติของทุน อย่าลืมว่าคนที่มีทรัพย์สินมาก แม้จะบริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่ายอย่างไร ก็เป็นสัดส่วนนิดเดียวของกำไร ดังนั้น ส่วนที่เหลือย่อมไหลกลับไปขยายทุนของกิจการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลตอบแทนในปีถัดไปจึงยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ทุนยังมีธรรมชาติผูกขาด ไม่ใช่ผูกขาดโดยอาศัยอำนาจทางการเมืองอย่างที่พบในประเทศไทย ซึ่งร้านสะดวกซื้อบางแห่งอาจสามารถผูกขาดแม้แต่กล้วยปิ้งได้ในไม่กี่ปีข้างหน้า แต่เป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น ลงทุนไปกับการค้นคว้าวิจัยด้านซอฟต์แวร์มากเสียจนถือครองสิทธิบัตรซอฟต์แวร์เพื่อใช้งานเกือบทุกชนิดของโลกปัจจุบัน

และโดยธรรมชาติอีกเหมือนกัน ในระยะยาวแล้วทุนหรือทรัพย์สินก็มักกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มน้อย เพราะกำไรที่ได้จากการประกอบการย่อมไม่ได้เอามาแบ่งกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ได้หมายความว่าแบ่งให้คนนอกที่ไม่เกี่ยวนะครับ แบ่งคนที่เกี่ยวนี่แหละก็ไม่ได้แบ่งอย่างเป็นธรรมนัก นับตั้งแต่แรงงานระดับล่างสุด ย่อมได้ส่วนแบ่งกำไรน้อยสุด แม้แต่วิศวกรซึ่งมีส่วนในการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ทำกำไรแก่บริษัทอย่างมโหฬาร แม้ได้ส่วนแบ่งเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนที่สูงอย่างน่าอิจฉาก็จริง แต่เทียบกับกำไรส่วนที่เจ้าของทุนเก็บไว้แล้ว ก็เป็นสัดส่วนนิดเดียวอยู่นั่นเอง

ฉะนั้น ผลตอบแทนของทุนจึงสูงมากเมื่อเทียบกับแรงกาย, แรงสมอง หรือแรงความเพียรใดๆ และนั่นย่อมทำให้ทรัพย์สินไปกระจุกอยู่กับคนส่วนน้อยจนได้

ในระยะยาว Picketty สังเกตว่า ทรัพย์สินหรือทุนเหล่านั้นเมื่อมีมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง กลับมีแนวโน้มที่จะหาทางพอกพูนให้เพิ่มขึ้นด้วย “ค่าเช่า” มากกว่าการประกอบการ เช่น ซื้อ-ขายหุ้น, ขายหรือให้เช่าตรา เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์, ซื้อขายการประกอบการของคนอื่น ไม่ใช่เพื่อแตกแขนงการประกอบการของตน แต่เพื่อเก็งขายเก็งซื้อเอากำไร ฯลฯ ยิ่งคนปัจจุบันอายุยืนขึ้น นายทุนแก่ๆ ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะหากำไรกับทรัพย์สินด้วยค่าเช่ามากขึ้น

ขึ้นชื่อว่าค่าเช่า ความหมายก็คือทรัพย์สินยิ่งกระจุกตัวมากขึ้น

ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นทั่วโลกนี้ก่อให้เกิดความเครียดในทุกแห่ง เพราะนอกจากมันตำตาคนส่วนใหญ่แล้ว สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะเลวลง (อาจครอบครองวัตถุเท่าเดิมหรือมากขึ้น แต่ความมั่นคงกลับลดลง) ความเครียดนี้แสดงออกต่างกันตามแต่พื้นเดิมของประเทศนั้น ในเมืองไทยอาจเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างคนต่างเสื้อสี หรือต่างอุดมการณ์ทางการเมือง, การยึดอำนาจของทหาร, การชะงักงันทางเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ในที่อื่นอาจเป็นการก่อการร้าย, ความหมดศรัทธาต่อระบบสังคม, การเมือง, เศรษฐกิจ หรือแม้แต่กฎหมาย ฯลฯ

พูดง่ายๆ คือ ระเบียบต่างๆ ที่เคยพยุงคนหลากหลายกลุ่มหลากหลายผลประโยชน์ให้อยู่ร่วมกันพังสลายลงไปหมด เพราะความเหลื่อมล้ำที่สูงเกินไป

ข้อเสนอของ Picketty คือเก็บภาษีทุนหรือภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เช่นผู้มีทรัพย์สินมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านยูโรขึ้นไปก็ต้องเสียภาษี อาจจะ 0.1-0.5% มากกว่านี้อัตราภาษีก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

แน่นอนว่าในโลกปัจจุบัน หากทำตามนั้น ทุนหรือทรัพย์สินย่อมถูกโอนย้ายไปยังประเทศอื่นทันที เขาจึงเห็นว่าต้องมีอาญาสิทธิ์ระดับโลกที่บังคับให้ทุกประเทศต้องเก็บภาษีทรัพย์สินหรือทุน เพื่อมิให้เกิดการโอนย้ายทุนออกไป แต่ภายใต้อำนาจของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ จะเกิดอาญาสิทธิ์โลกเช่นนั้นได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสงสัยของผมว่า บางทีประชาธิปไตยที่เราใช้อยู่อาจพ้นสมัยไปแล้วก็ได้ ค่านิยมประชาธิปไตยเช่นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล, ความเท่าเทียมกัน, ภราดรภาพ ฯลฯ คงไม่พ้นสมัย แต่การจัดการเพื่อให้ค่านิยมนั้นดำรงอยู่อย่างมั่นคงนั้นแหละ ที่พ้นสมัยไปแล้ว

ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของทุนนิยมอุตสาหกรรม, การเกิดขึ้นและแพร่หลายของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ถือเอารูปแบบของรัฐประชาชาติ ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ “ชาติ” ร่วมกันและเท่าเทียมกัน, ระบบการศึกษาเพื่อเตรียมคนเข้าสู่การผลิตในอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมแผนใหม่, การบรรลุถึงสถานะอันสูงสุดของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในจักรวาลของความรู้

แต่เงื่อนไขแวดล้อมของประชาธิปไตยที่เกิดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว เช่น ทุนนิยมได้พัฒนาเลยจากทุนนิยมอุตสาหกรรมไปไกลแล้ว รัฐประชาชาติซึ่งมีขอบเขตอันแน่นอนชัดเจน (ไม่เฉพาะแต่เส้นเขตแดน แต่รวมถึงด้านอื่นทั้งเศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรมด้วย) ต้องโอนอ่อนให้แก่ “โลกาภิวัตน์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้, ระบบการศึกษาที่ผู้คนทั่วโลกรู้สึกว่าไม่ตอบสนองชีวิตของตนอีกต่อไป, วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจผูกขาดการค้นหาความจริงได้เพียงวิธีเดียวตามแบบเดิม ฯลฯ

การจัดการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เราคุ้นเคย จึงต้องทำอยู่บนสถาบันที่ไม่อาจผดุงค่านิยมประชาธิปไตยได้จริงเสียแล้ว เช่น เราจะพูดถึงความเสมอภาคได้อย่างไร ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำจนสุดกู่เช่นนี้ เราจะพูดถึงสิทธิในการปกครองตนเองได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลแห่งชาติซึ่งมีอำนาจล้นเหลือ ต้องจัดการทรัพยากรระดับที่ใหญ่เกินชีวิตของเรา เช่นระดับชาติหรือระดับโลก

เพื่อรักษาค่านิยมประชาธิปไตยไว้ เราจึงต้องการรัฐบาลที่เล็กลง และต้องการรัฐบาลที่ใหญ่ขึ้นไปพร้อมกัน และคงต้องการอะไรอื่นอีกหลายอย่างที่ขัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกันเช่นนี้

ผมแน่ใจว่าเราต้องมี “ประชาธิปไตยใหม่” แต่มันควรมีลักษณะอย่างไร และยิ่งยากกว่านั้นคือจะเดินไปถึงได้อย่างไร เป็นเรื่องที่เกินสติปัญญาผมจะตอบได้