นายช่างศิลปกรรม กรมศิลปากร เผยที่มา “พระเมรุมาศ บุษบก 9 ยอด” หนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์

แบบพระเมรุมาศ และสิ่งก่อสร้างประกอบพระเมรุมาศ ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยการแถลงข่าวของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกับ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

โดยในส่วนของพระเมรุมาศ มีลักษณะทรงบุษบกยอดปราสาทมี 9 ยอด ยอดกลางมี 7 ชั้นเชิงกลอน มีพื้น 4 ชั้น พื้นที่ผังกว้างด้านละ 60 เมตร สูง 50.49 เมตร

ซึ่งก่อนที่จะได้ข้อสรุปดังกล่าว บรรดานักออกแบบของสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้ร่วมกันออกแบบพระเมรุมาศในรูปแบบต่างๆ ถึง 8 แบบด้วยกัน

โดยในจำนวนดังกล่าว มี 5 แบบ เป็นของ นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร โดยมี นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกของกรมศิลปากร ช่วยด้วย

และเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมของผู้บริหารกรมศิลปากร ได้มีการคัดจาก 8 แบบเหลือ 5 แบบ

ในจำนวนนี้ เป็นของนายก่อเกียรติถึง 4 แบบ

และอีกแบบเป็นของ นายณรงค์ฤทธิ์ ทองแสง สถาปนิกปฏิบัติการ สำนักสถาปัตยกรรม

 

นายก่อเกียรติ เล่าว่า แรกสุดได้รับการประสานจาก นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองอธิบดีกรมศิลปากรให้ออกแบบพระเมรุมาศ โดยในวันประชุม ได้สเก๊ตช์ภาพพระเมรุมาศทรงบุษบกยอดปราสาทได้ 3 รูปแบบ จำนวน 5 แบบ คือ 1.พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดเดียว จำนวน 1 แบบ, 2.พระเมรุมาศทรงบุษบก 5 ยอด จำนวน 2 แบบ และ 3.พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด จำนวน 2 แบบ

สาเหตุที่สเก๊ตช์ไว้หลายแบบ เพราะ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เคยสอนไว้ว่าการออกแบบให้กับเจ้านายนั้น ควรจะเตรียมทางเลือกไว้หลายๆ ทางเพื่อตอบคำถาม

ฉะนั้น ตนจึงสเก๊ตช์ภาพพระเมรุมาศยอดบุษบกที่เคยมีมาในอดีตทั้งหมด นั่นคือพระเมรุมาศทรงบุษบก 5 ยอด ซึ่งคล้ายกับพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5

ส่วนพระเมรุมาศทรงบุษบกยอดเดียว คล้ายกับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

สำหรับพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอดนั้น ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์มาก่อน

ส่วนตัวชอบทรงบุษบก 9 ยอดมากที่สุดเพราะสื่อถึงรัชกาลที่ 9

แต่ตอนมาเขียนแบบในคืนนั้น หลังจากที่เขียนแบบพระเมรุมาศ ลักษณะทรงบุษบก 9 ยอดเสร็จแล้ว ยังรู้สึกว่า “ยังไม่สุดใจ”

จนใกล้รุ่งในเวลา 04.00 น. ของคืนนั้น สายตาเหลือบไปเห็นภาพพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ปักหมุดอยู่ข้างฝาในห้องทำงาน เลยเกิดไอเดียในการจัดวางยอดที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นอิสระ

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นบุษบก 9 ยอดที่ปรากฏในงานแถลงข่าวดังกล่าว

 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา นายอนันต์ อธิบดีกรมศิลปากรได้นำนายช่างผู้ออกแบบ เข้ากราบบังคมทูลถวายรายงานต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงวินิจฉัย

เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่งานในการออกพระเมรุ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวินิจฉัยเลือกบุษบก 9 ยอดไว้ 3 แบบ ซึ่งเป็นของนายก่อเกียรติ 2 แบบ และอีกแบบเป็นของนายณรงค์ฤทธิ์ โดยแบบของนายณรงค์ฤทธิ์ จะเป็นบุษบก 9 ยอด 5 ชั้นเชิงกลอน ส่วนอีก 2 แบบที่พระองค์ทรงคัดออกนั้น เป็นของนายก่อเกียรติซึ่งเป็นบุษบกยอดเดียว และบุษบก 5 ยอด

โดยพระองค์ท่านทรงปรารภว่า “ไม่ให้เหมือนที่เคยมีมา”

พระองค์ท่านทรงย้ำคำนี้ถึง 3 ครั้ง ท้ายที่สุดพระองค์ท่านทรงวินิจฉัยเลือกแบบพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอดซึ่งเป็นแบบที่นายก่อเกียรติออกแบบการจัดวางยอดที่ให้ความรู้สึกอิสระ พระองค์ท่านทรงปรารภถึงแบบดังกล่าวว่า “อิสระ ลดหลั่น สวยงาม”

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงถามว่าแล้วคนออกแบบชอบแบบไหน ผมจึงได้ถวายความเห็นไปว่าชอบแบบ 9 ยอดครับ ตอนนั้นพูดราชาศัพท์ผิดๆ ถูกๆ เพราะความตื่นเต้น ตอนที่ได้เข้าเฝ้าฯ ยังได้มีโอกาสกราบบังคมทูลแนะนำตัวว่าเป็นลูกศิษย์มือขวาของ พล.อ.ต.อาวุธ ด้วย สมเด็จพระเทพฯ ทรงรับสั่งตอบว่า “จำคุณได้” คำนั้นผมฟังแล้วน้ำตาไหลทันที เกิดความรู้สึกอิ่มชนิดที่หาความกว้างไม่เจอ”

“ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ได้ภูมิใจหรือดีใจที่พระองค์ทรงเลือกแบบที่ผมเขียน เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากจะให้มีการใช้พระเมรุมาศเกิดขึ้น แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของคนกรมศิลป์ที่ต้องถวายงานในการออกแบบให้ออกมาดีที่สุด”

“อธิบดีกรมศิลปากรย้ำว่าการสร้างพระเมรุมาศ นอกจากสวยงามแล้ว จะต้องสมพระเกียรติและอลังการ”

“ตอนที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้น ผมได้กราบบังคมทูลถามเกี่ยวกับรูปแบบศิลปกรรมที่จะใช้ตกแต่งพระเมรุมาศ พระองค์ท่านตรัสตอบว่า “ให้เป็นจินตนาการของศิลปิน””

“หลังการเข้าเฝ้าฯ ผมกลับมาปรับแบบให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์มากขึ้น เพราะต้องมีหีบพระบรมศพและพระบรมโกศประดิษฐานบนจิตกาธานด้วย โดยต้องมีเตาน้ำมันวางซ่อนอยู่ในจิตกาธาน ทั้งนี้ ที่ไม่ใช้เตาไฟฟ้าเพราะควบคุมความไหม้ยาก ไม่สะดวกต่อการใช้งาน และการใช้เตาไฟฟ้ายังปลอดภัยน้อยกว่าเตาน้ำมันด้วย”

 

ว่าไปแล้ว ก่อนที่นายก่อเกียรติ จะได้รับความไว้วางใจจากกรมศิลปากรให้ออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 นั้น เขาได้ทำงานใกล้ชิด พล.อ.ต.อาวุธ มาโดยตลอด ซึ่งถือว่าเป็นมือขวาก็ว่าได้ โดยนายก่อเกียรติ มีโอกาสร่วมงานในการออกแบบพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2539, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2551 และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปี 2555

นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบและขยายแบบพระที่นั่งกาญจนาภิเษก ที่จัดสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ 50 ปี, ออกแบบอาคาร “พิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า” รวมตลอดจนเขียนแบบและคุมการก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยในต่างประเทศ เช่น พลับพลาที่ประดิษฐานพระบรมรูป รัชกาลที่ 5 ประเทศสวีเดน, ศาลาไทย ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

การสร้างพระเมรุมาศ เป็นการส่งเสด็จพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ภาคส่วนราชการตลอดจนประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายงานให้วิจิตรสวยงาม อลังการและสมพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ที่ทั่วโลกยกย่องว่าเป็น “คิง ออฟ คิงส์”