โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญเสมา ‘หลวงปู่ศุข’ วัดปากคลองมะขามเฒ่า รุ่นศาลหลักเมืองชัยนาท

หลวงปู่ศุข เกสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญเสมา ‘หลวงปู่ศุข’

วัดปากคลองมะขามเฒ่า

รุ่นศาลหลักเมืองชัยนาท

“พระครูวิมลคุณากร” หรือ “หลวงปู่ศุข เกสโร” วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท พระเกจิผู้เปี่ยมด้วยพุทธาคมแก่กล้า จนได้รับสมญา “เจ้าสำนักทางพุทธาคมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา”

เป็นพระอาจารย์ทางพุทธาคมรูปแรกของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงให้ความเคารพนับถือและมีความใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่สร้างล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูง ด้วยพุทธคุณเป็นเลิศ โดยเฉพาะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และยังคงเป็นที่กล่าวขานและแสวงหามาจวบจนปัจจุบัน ด้วยค่านิยมที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อาทิ เหรียญรูปเหมือน พระพิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑล พระปรกใบมะขาม ตะกรุด ประคำ ฯลฯ

ย้อนไปปี พ.ศ.2521 จังหวัดชัยนาท จัดสร้างศาลหลักเมือง และมีความประสงค์จะมอบวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทุนทรัพย์ ในการสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดชัยนาท

คณะกรรมการดำเนินงาน มีมติให้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกของหลวงปู่ศุข (พระครูวิมลคุณากร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ

ลักษณะเหรียญเป็นรูปเสมาคว่ำ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองคำ (หนัก 1 บาท) 400 เหรียญ, เหรียญเนื้อเงิน 1,000 เหรียญ และเหรียญเนื้อทองแดง 50,000 เหรียญ

ด้านหน้าเหรียญ มีขอบรอบเป็นลายกนก ใต้หูห่วงมีอักขระขอม นะ โม พุท ธา ยะ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูน หลวงปู่ศุข ยืนถือไม้เท้า ข้างศีรษะเหนือไหล่มีอักขระขอม มะ อะ อุ ตอกโค้ด “ภะ” เป็นอักขระขอม ด้านซ้ายและขวาของหลวงปู่ศุข มียันต์ “นะเศรษฐี” กำกับทั้งสองข้าง เหนือขอบล่างมีอักษรไทย “พระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

ส่วนด้านหลังเหรียญ มีขอบรอบเป็นลายกนกเช่นกัน ใต้ขอบด้านบน เป็นยันต์องค์พระ ตรงกลางเหรียญจารึกเป็นอักษรไทยว่า “ที่ระลึกในงานสร้างศาลหลักเมืองชัยนาท”

วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2521 เวลา 07.30 น. ประกอบพิธีบวงสรวง เวลา 15.00 น. ประกอบพิธีพุทธาภิเษก “เหรียญเสมาหลวงปู่ศุข รุ่นสร้างศาลหลักเมือง” ณ วัดบรมธาตุวรวิหาร เวลา 20.00 น. ดับเทียนชัย

มีพระเกจิอาจารย์ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต ประกอบด้วย หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม, หลวงพ่อพุฒ วัดทุ่งแก้ว, หลวงพ่อสุด วัดกาหลง และพระคณาจารย์อีกมากมายหลายรูป

แม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังจากหลวงปู่ศุขมรณภาพแล้ว แต่ด้วยเจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ ทำให้เหรียญมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านหลากหลาย

จัดเป็นเหรียญหนึ่งที่นักสะสมนิยมพระเครื่อง ต่างเสาะแสวงหามาบูชาครอบครอง

เหรียญเสมาหลวงปู่ศุข รุ่นสร้างศาลหลักเมือง

 

มีนามเดิมว่า ศุข เกิดในสกุล เกษเวช (ภายหลังใช้เป็น เกษเวชสุริยา) เป็นชาวชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2390 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่บ้านมะขามเฒ่า (ปัจจุบันคือ บ้านปากคลอง) ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายน่วม-นางทองดี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายและทำสวน มีพี่น้องรวมกัน 9 คน โดยเป็นพี่ชายคนโต

ในวัยเด็กเป็นคนมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเชื่อมั่นในตัวเอง จึงมักถูกยกให้เป็นผู้นำของเด็กในย่านตลาดวัดสิงห์

ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในแถบลำคลองบางเขน จ.นนทบุรี จนมีครอบครัวและมีบุตรชายหนึ่งคน ชื่อ สอน เกศเวชสุริยา

แต่ด้วยจิตตั้งมั่นที่จะบวชทดแทนคุณบิดามารดา พออายุครบ 22 ปี จึงได้ลาไปอุปสมบท ที่วัดโพธิ์บางเขน (ปัจจุบันคือ วัดโพธิ์ทองล่าง) โดยมีหลวงพ่อเชย จันทสิริ เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์

เกียรติคุณเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้ทรงคุณด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลัง ซึ่งหลวงปู่ศุขได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากพระอุปัชฌาย์อย่างครบถ้วน

จากนั้นก็เริ่มออกธุดงค์เพื่อปลีกวิเวกฝึกฝนวิทยาการต่างๆ พร้อมแสวงหาและศึกษาเพิ่มเติมจากพระเกจิผู้ทรงคุณหลายรูปในด้านพระกัมมัฏฐานและวิทยาคม อาทิ พระสังวราเมฆ ผู้เชี่ยวชาญพระกรรมฐานลำดับมัชฌิมาปฏิปทาในสมัยนั้น ที่สำนักวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม ด้านการเล่นแปรธาตุและโลหะเมฆสิทธิ์ โดยพักอยู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ซึ่งเป็นสหธรรมิกในฐานะชาวชัยนาทด้วยกัน ฯลฯ

หลวงปู่ศุขจึงเป็นผู้รอบรู้และแตกฉานทั้งพระไตรปิฏก วิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ

 

เวลาล่วงเลยไป มารดาที่พำนักอยู่ที่บ้านมะขามเฒ่าก็แก่ชราลง ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า แล้วขยับขยายออกมาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่า จนเสร็จสมบูรณ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2447 โดยมีลูกศิษย์อย่าง เสด็จในกรมฯ เป็นกำลังสำคัญ ถาวรวัตถุที่ปรากฏเป็นประจักษ์พยาน คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ และภาพเขียนสีน้ำมันรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มองค์และถือไม้เท้า ที่ยังคงรักษาไว้อย่างสมบูรณ์

สมณศักดิ์สุดท้ายของหลวงปู่ศุข เป็นที่พระครูวิมลคุณากร ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันคือเจ้าคณะอำเภอ) เป็นรูปแรกของ อ.วัดสิงห์ และมรณภาพลงในปลายปี พ.ศ.2466 สิริอายุ 75 ปี พรรษาที่ 50

ทุกวันนี้ผู้เคารพศรัทธาต่างขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ศุขกันอย่างต่อเนื่อง

นาม “หลวงปู่ศุข” ยังทรงพุทธาคมมาจนถึงทุกวันนี้