ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
โลกาภิวัตน์บนเส้นทางสายไหม (ต่อ)
ที่ว่าเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น อาจดูได้จากกรณีโครงการท่าเรือฮัมบันโตตา (Hambantota) ของศรีลังกา โครงการนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2000 ในขณะที่มหินท์ ราชปักษา (Mahinda Rajpaksa) เป็นประธานาธิบดี
โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าท่าเรือแห่งนี้ไม่อาจสนองตอบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากนัก นอกเสียจากว่ามันจะตั้งอยู่ในบ้านเกิดของราชปักษาเอง แต่ราชปักษาก็ผลักดันท่าเรือนี้จนสำเร็จ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีนที่ราชปักษามีความสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่น
ส่วนเงินลงทุนส่วนน้อยนั้น ศรีลังกาซึ่งขาดแคลนเงินลงทุนจำต้องกู้จากจีน
หลังจากที่ท่าเรือสร้างเสร็จจนใช้งานแล้วก็เป็นไปดังที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ นั่นคือ แทบจะไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่ศรีลังกาเลย แต่กับจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าศรีลังกาหลายเท่ากลับเป็นฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่า
ผลก็คือ ศรีลังกาไม่อาจใช้หนี้ที่กู้จากจีนราว 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อร่วมลงทุนสร้างท่าเรือนี้ได้ ตอนนั้นเวลาได้ล่วงสู่ทศวรรษ 2010 แล้ว และสีจิ้นผิงกำลังชูนโยบายข้อริเริ่มแถบและทางอย่างขยันขันแข็ง
ศรีลังกาได้ใช้เวลาในช่วงนี้เจรจาเรื่องหนี้ที่มีกับจีน ตราบจนปี 2015 ที่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าราชปักษาพ่ายแพ้นั้น ก็ทำให้รัฐบาลใหม่ต้องเจรจาเรื่องหนี้ก้อนนี้ต่อไป
จนเมื่อแรงกดดันต่างๆ ถาโถมเข้ามา ศรีลังกาจึงไม่มีทางเลือกและจำต้องยกท่าเรือที่มีเนื้อที่ 15,000 เอเคอร์ดังกล่าวให้จีนเป็นผู้ดูแลเป็นเวลา 99 ปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่าเรือนี้จึงตอบสนองต่อผลประโยชน์บนเส้นทางสายไหมทางทะเลให้แก่จีนอย่างเป็นรูปธรรม
ห่างจากศรีลังกาออกไปอีกราว 2,500 ไมล์คือที่ตั้งของจิบูตี (Djibouti) อันเป็นประเทศในแอฟริกา จิบูตีเป็นชาติที่ยากจนจึงไม่มีประเทศใดใส่ใจ จะมีก็แต่จีนเท่านั้นที่เห็นเป็นโอกาสที่ดีของตน ด้วยการเข้าไปให้การช่วยเหลือในรูปต่างๆ แก่จิบูตี เช่น สร้างทางรถไฟ ลงทุนเหมืองแร่ และทำธุรกิจน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น
ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้เงินทุนมหาศาลทั้งสิ้น และไม่ต่างกับได้ซื้อใจจิบูตีไปด้วยในตัว
แต่กระนั้น จีนก็ไม่ให้การซื้อใจของตนต้องสูญเปล่าเช่นกัน เมื่อจีนได้ขอสร้างฐานทัพที่จิบูตีโดยเช่าจากจิบูตีเพียงปีละ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแลกกับการที่จีนจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่จิบูตี เช่นนี้แล้วจิบูตีซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนไฉนเลยจะไม่รับในเงื่อนไขนี้
และเมื่อจีนตั้งฐานทัพได้แล้ว นโยบายที่จีนเคยประกาศอย่างภาคภูมิใจและเป็นที่รับรู้กันไปทั่วโลกที่ว่า จีนไม่มีนโยบายสร้างฐานทัพนอกประเทศ (ไม่เหมือนสหรัฐที่มีฐานทัพตั้งอยู่แทบทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา) ที่ทำให้ภาพลักษณ์จีนดูดีนั้น
จึงเป็นนโยบายที่ไม่เป็นจริงอีกต่อไป
ถึงแม้จีนจะอ้างว่าฐานทัพของตนในจิบูตีจะตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการปล้นสะดมทางทะเล (โจรสลัด) และเพื่อสันติภาพกับเสถียรภาพในแอฟริกาก็ตาม ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ทำให้ตนดูดีอีกเช่นกัน แต่ก็มิอาจลบล้างภาพของความเป็น “ฐานทัพ” ไปได้อยู่ดี
การลงทุนของจีนที่มีท่าทีคล้ายกับที่เกิดในศรีลังกาและจิบูตียังมีอีกหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน ลาว หรือกัมพูชา ประเทศเหล่านี้ (โดยเฉพาะในแอฟริกา) ต้อนรับการลงทุนของจีนที่ดูเหมือนจะมีวาระแฝงซ่อนอยู่
เช่น ถ้าเป็นกรณีศรีลังกาจะถูกเรียกว่ากับดักหนี้ (debt trap) ถ้าเป็นกรณีจิบูตีน่าจะเรียกว่า กับดักความมั่นคง (security trap) เป็นต้น
แต่ที่เป็นจุดร่วมในการลงทุนของจีนในประเทศเหล่านี้เรื่องหนึ่งคือ การใช้แรงงานจีนแทนที่จะเป็นแรงงานของประเทศเจ้าบ้าน กรณีนี้เกิดขึ้นมากในแอฟริกา ลาว และกัมพูชา
ที่จีนทำเช่นนั้นได้ก็เพราะผู้นำของประเทศเหล่านี้ต่างมีความสนิทสนมแนบแน่นและรับความช่วยเหลือจากจีนมานาน และที่รับจากจีนเป็นหลักก็เพราะเป็นความช่วยเหลือที่ปราศจากเงื่อนไข คือจีนจะไม่มาตรวจสอบว่าประเทศที่รับความช่วยเหลือจะนำเงินไปใช้ในโครงการนั้นๆ จริงหรือไม่
ผิดกับชาติตะวันตกหรือญี่ปุ่นที่ถือว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้นำประเทศที่รับความช่วยเหลือจะไม่นำเงินช่วยเหลือเข้าพกเข้าห่อเป็นของตนเอง จากนโยบายการให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ของจีนจึงทำให้เห็นว่า หากผู้นำประเทศใดฉ้อฉลเงินที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว
ก็ย่อมถือว่าเป็นกรรมของประชาชนในประเทศนั้นๆ ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม นอกจากความช่วยเหลือที่ดำเนินควบคู่ไปกับการใช้แรงงานจีนเป็นหลักแล้ว ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เกิดแก่ประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนหรือช่วยเหลือก็คือ ปัญหามลพิษหรือสิ่งแวดล้อมที่จีนนำเข้าไปด้วย
โดยในปัจจุบันจีนได้สนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน 79 โรงนอกประเทศจีน ซึ่งสามารถให้พลังงาน 52 กิกะวัตต์ (1) โดยจีนมีแผนจะปิดโรงงานที่ใช้ถ่านหินในประเทศที่ให้พลังงาน 46 กิกะวัตต์ในปี 2020 โดยบริษัทใหญ่ที่ผลิตถ่านหินของจีนจะขยายฐานการผลิตไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศในยุโรปตะวันออก รัสเซีย และเคนยา
โรงงานเหล่านี้ไม่ได้ใช้มาตรฐานการควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวด (ในขณะที่ในจีนกำลังควบคุมอย่างเข้มงวด) ดังจะเห็นได้จากโรงงานที่เคนยาจะตั้งห่างจากเขตที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นเขตมรดกโลกราว 50 ไมล์ ซึ่งได้รับการประเมินว่า หลังจากนี้จะเป็นเขตที่มีมลภาวะสูงที่สุดในโลก เป็นต้น
เหตุดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีนจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พึงศึกษาไม่น้อย
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า จีนไม่เพียงไม่ปฏิเสธโลกาภิวัตน์เท่านั้น หากยังเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น และเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก การใช้โลกาภิวัตน์ในแต่ละช่วงเวลาจีนมักมีเหตุผลของตนเองเสมอ ซึ่งโดยหลักแล้วก็คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ที่จีนย้ำเสมอว่าทุกฝ่ายต่างสมประโยชน์ (win-win) ร่วมกัน
ในยุคของสีจิ้นผิงก็เช่นกันที่ได้ใช้ประโยชน์จากการอ้างประวัติศาสตร์ของเส้นทางสายไหม อันเป็นคำที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาไม่ถึงสองร้อยปีโดยนักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน ทั้งที่แต่เดิมเส้นทางนี้มักถูกเรียกว่าถนนสู่ซามาร์คันด์ หรือสุดแท้แต่ว่าเมืองใหญ่ถัดไปจะเป็นเมืองอะไรก็เรียกตามชื่อเมืองนั้น หรือบางครั้งก็เรียกเส้นทาง “เหนือ” หรือเส้นทาง “ใต้” ที่อยู่รอบๆ ทะเลทรายทาคลามาคัน อันเป็นภูมิศาสตร์ในแถบเอเชียกลางหรือตะวันออกกลาง
หรือที่เรียกรวมๆ กันว่ายูเรเชีย
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตอนที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงเส้นทางสายไหมเป็นครั้งแรกนั้น เขาก็กล่าวในขณะที่เขาอยู่ในดินแดนแถบที่ว่านี้ และทำให้ดูเหมือนว่าเวลานั้นจีนยังไม่ได้คิดเรื่อง “แถบและทาง”
แต่หลังจากนั้นต่อมาเมื่อมีการกล่าวขึ้นมาอีกหลายครั้ง แนวคิดเรื่อง “แถบและทาง” จึงเกิดและถูกประกาศเป็นวาระอย่างที่เห็น เช่นนี้แล้วจีนจึงชูข้อริเริ่มแถบและทางเรื่อยมาดังที่เห็น แต่ในเมื่อผลในทางปฏิบัติมีปัญหาดังเช่นที่กล่าวมา
ข้อริเริ่มแถบและทางจึงเป็นนโยบายที่ชวนให้สงสัยในวัตถุประสงค์แฝงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คําถามจึงมีว่า แล้วจีนได้อธิบายหรือแก้ข้อสงสัยดังกล่าวอย่างไร แต่สิ่งที่พบคือ จีนยังคงนิ่งเฉยโดยไม่มีคำตอบใดๆ และยังคงชูข้อริเริ่มแถบและทางต่อไปอย่างสูงเด่น ข้างผู้นำประเทศที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนก็ยังคงขานรับข้อริเริ่มนี้ พร้อมกับผายมือต้อนรับการเข้ามาของจีนด้วยความลิงโลด
ผู้นำบางประเทศถึงกับกล่าวอย่างเปิดเผยว่า หากไม่มีจีนแล้วประเทศของตนคงไม่เจริญดังที่เห็นในวันนี้ แม้ความเจริญที่จีนนำเข้ามาให้นี้จะทำให้ผู้นำประเทศเหล่านี้ขับไล่พลเมืองของตนออกจากพื้นที่
แล้วให้แรงงานจีนมาอาศัยอยู่แทนก็ตาม
———————————————————————————————————————
(1) หน่วยนับพลังงานไฟฟ้าคือวัตต์ (watt, ซึ่งตั้งชื่อตาม James Watt วิศวกรผู้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ) โดย 1 วัตต์จะเท่ากับพลังงานที่ยกแอปเปิลน้ำหนัก 102 กรัมขึ้นสูงจากพื้น 1 เมตร จากเกณฑ์พลังงานนี้หากวัดต่อไปก็จะเป็น 1 กิโลวัตต์เท่ากับ 1,000 วัตต์, 1 เมกะวัตต์เท่ากับ 1,000 กิโลวัตต์ (1,000,000 วัตต์) และ 1 กิกะวัตต์เท่ากับ 1,000 เมกะวัตต์ (1,000,000,000 ล้านวัตต์) หรือเท่ากับพลังงานในการยกแอปเปิลหนึ่งพันล้านลูกขึ้นสูงจากพื้นโลก 1 เมตร