ต่างประเทศ : บันทึกจากเกาหลีเหนือ ขอ “อาหาร” หรือเรื่องอื่น

ขณะที่ทั่วโลกให้ความสนใจการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกา-เกาหลีเหนือ ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ กับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์

ก็มีการเปิดเผยรายงานจากทางการเกาหลีเหนือเกี่ยวกับตัวเลขผลิตผลทางการเกษตรที่ออกมาเตือนว่า เกาหลีเหนือกำลังเผชิญกับภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่ลดต่ำลงอย่างมาก

โดยในบันทึก หรือเมโม ซึ่งเป็นเอกสารนำเสนอโดยเกาหลีเหนือต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ทางสำนักข่าวรอยเตอร์สได้รับ ระบุว่าเกาหลีเหนือได้ออกมาเตือนว่า ในปี 2019 นี้ปริมาณอาหารของเกาหลีเหนือจะหดหายไปถึงราว 1.4 ล้านตัน ทำให้การปันส่วนอาหารต้องหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่แห้งแล้ง น้ำท่วม และมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

บันทึกดังกล่าวซึ่งมีความยาว 2 หน้ากระดาษ มีขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ครั้งที่ 2 เพื่อหารือกันเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี

โดยในเมโมของเกาหลีเหนือระบุว่า เกาหลีเหนือขอเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศเร่งตอบสนองต่อสถานการณ์อาหารของเกาหลีเหนือ พร้อมกับระบุว่า ผลิตภัณฑ์อาหารของเกาหลีเหนือเมื่อปี 2018 อยู่ที่ 4.951 ล้านตัน ลดลงจากปี 2017 ราว 503,000 ตัน

เกาหลีเหนือระบุด้วยว่า เกาหลีเหนือจะต้องนำเข้าอาหาร 200,000 ตัน และผลิตพืชผลทางการเกษตรให้ได้ 400,000 ตัน เท่ากับว่ายังคงขาดอีกจำนวนมาก ทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางการเกาหลีเหนือต้องปรับลดการปันส่วนอาหารแต่ละวันให้เหลือเพียงคนละ 300 กรัม จากเดิมให้อยู่ที่ 550 กรัม

 

นายสตีเฟ่น ดูจาร์ริก โฆษกของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยว่า เกาหลีเหนือได้ออกมาร้องขอให้หน่วยงานด้านการให้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติเข้าไปช่วยแก้ไขวิกฤตขาดแคลนอาหารในเกาหลีเหนือ หลังจากการคาดการณ์ผลผลิตภาคการเกษตรของปีนี้ลดลงอย่างมาก โดยรัฐบาลเปียงยางแจ้งกับทางยูเอ็นว่า เกาหลีเหนือกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนอาหารที่จะหายไปถึง 1.4 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งรวมทั้งข้าว ข้าวสาลี มัน และถั่วเหลือง

นายดูจาร์ริกกล่าวด้วยว่า รัฐบาลเปียงยางได้ร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้ช่วยเข้าไปดูผลกระทบจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทางหน่วยงานด้านการช่วยเหลือของยูเอ็นจะทำการพูดคุยกับรัฐบาลเปียงยางเพื่อหาทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเบื้องต้นก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม นายดูจาร์ริกกล่าวว่า ยูเอ็นและหน่วยงานด้านการให้ความช่วยเหลือจะสามารถช่วยประชากรราว 1 ใน 3 จากประชากรทั้งหมดราว 6 ล้านคนของเกาหลีเหนือที่ต้องการความช่วยเหลือ อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนงบประมาณช่วยเหลือ

ขณะที่ยูเอ็นประมาณการว่า ในเกาหลีเหนือมีประชากรถึง 10.3 ล้านคนที่อยู่ในภาวะ “ขาดสารอาหาร” หรือคิดเป็นราว 41 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดราว 25.49 ล้านคนของเกาหลีเหนือ

 

โดยนอกเหนือไปจากสภาพอากาศที่เกาหลีเหนือระบุว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรเพื่อผลิตอาหารลดน้อยลงแล้ว ในบันทึกของเกาหลีเหนือยังระบุถึงสาเหตุของการขาดแคลนอาหารว่า เป็นเพราะมาจากมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็น ที่จำกัดการขนส่งเครื่องมือด้านการเกษตรและขัดขวางการจ่ายเชื้อเพลิงให้แก่ภาคการเกษตรของเกาหลีเหนือ

นายสตีเฟ่น บีกัน ผู้แทนพิเศษดูแลเกาหลีเหนือของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม นายเบนจามิน ซิลเบอร์สตีน บรรณาธิการร่วมของนอร์ธ โคเรียน อีโคโนมี วอตช์ และนักวิชาการจากสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่าผลผลิตจะเลวร้าย แต่ก็ยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะต้องถึงขั้นฉุกเฉิน

และแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

แต่หากดูคำในบันทึก จะเห็นได้ว่า เกาหลีเหนือต้องการจะบอกว่า การคว่ำบาตรมีค่าเท่ากับการอดอยาก

ดังนั้น สหรัฐอเมริกาควรจะยกเลิกการคว่ำบาตรเสีย

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคิม ยัง ฮี ชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเกาหลี ในกรุงโซเล เกาหลีใต้ ที่คิดว่าบันทึกดังกล่าว จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการร้องขอ “อาหาร”

“บันทึกนี้เหมือนกับการส่งข้อความว่า แม้ว่าการคว่ำบาตรของยูเอ็นจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นผู้อยู่ของประชาชนโดยตรง แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ความเป็นผู้อยู่ของประชาชนก็ย่ำแย่ลง ดังนั้น จะดีกว่าไหมหากมีการผ่อนคลายการคว่ำบาตร” นางคิมกล่าว

ส่วนความเป็นจริงเป็นอย่างไรนั้น ท่านคิมเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด