ขุนคลังฟันธงปี “60 ปัง! “เมกะโปรเจ็กต์-อัดฉีดท้องถิ่น-ช่วยคนจน” เงินสะพัด-เศรษฐกิจฟื้น

“ปี2560 น่าจะเป็นปีซึ่งสิ่งที่เราทำมาเห็นดอกเห็นผลดี เรื่องดูแลเศรษฐกิจทำตั้งแต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ทุกอย่างเดินช้า ปีหน้าก็ตั้งใจทำให้เยอะขึ้น”

ขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจปีหน้า “ดีกว่า” ปี 2559 ที่กำลังจะหมดสิ้นปี ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า ปี 2560 อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโต 3.4%

จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้บรรยากาศปัจจุบัน หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เศรษฐกิจคงโตต่ำแน่

แม้ว่าที่ผ่านมาจะเติมเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน หรือผ่านโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท และการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ อย่างมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐไว้ คนละ 1,500-3,000 บาท

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการเจาะตรงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอีกรอบเพื่อดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้ขับเคลื่อนต่อเนื่องไปถึงปีหน้าได้ รวมถึงได้เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูทิ้งทวนปลายปีนี้แล้ว และจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มตามมาอีก

 

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกมาตรการทิ้งทวนทุ่มเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่ออัดฉีดใส่มือคนจน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งท้ายปี 2559 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาษีทั้งท่องเที่ยว รวมไปถึงมาตรการช็อปช่วยชาติที่กำลังจะออกมาในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ จะเป็นอีกแรงส่งหนึ่งที่หวังให้ด้านการใช้จ่ายบริโภคขับเคลื่อนต่อเนื่องในปีหน้า

ขุนคลัง แจกแจงว่า รัฐบาลต้องคิดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีกกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อจัดสรรให้แก่ 18 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 5,000-6,000 ล้านบาท หรือมากกว่าที่เคยได้ถึง 10 เท่าตัว สำหรับใช้ทำโครงการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยมีการดึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามาร่วมคิดโครงการในลักษณะ “ประชารัฐ”

“ถ้าเศรษฐกิจโตต่ำ ระยะเวลาการแก้ปัญหาก็ยืดไปอีก เราก็เลยให้ดูว่ามีวิธีการที่จะทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสที่ดีขึ้น และสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เร็วขึ้น ซึ่งก็แน่นอน มีนักวิชาการต่างประเทศบอกว่า อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวที่แก้ได้ทุกอย่าง ฉะนั้น ถ้าเราทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ปัญหาอื่นๆ ก็จะค่อยลดลงไปได้”

สำหรับการทำงบฯ รายจ่ายเพิ่มเติม รัฐจะต้องกู้เงินเพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาท จากเดิมที่ปีงบประมาณ 2560 ขาดดุลอยู่แล้ว 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะรัฐยังมี “ช่องว่าง” ให้กู้ได้เต็มเพดานถึง 2.2 แสนล้านบาทตามกฎหมาย ซ้ำยิ่งกว่านั้น ขุนคลังยังคิดว่า หากจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเพิ่มเติม รัฐบาลก็พร้อมขาดดุลเพิ่มได้อีก

นายอภิศักดิ์ประเมินว่า การเติมเงินลงระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท หากเงินส่วนนี้หมุนรอบเดียว ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัวอีกราว 0.3% จีดีพีขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% ในปีหน้า ซึ่งเงินส่วนนี้จะเห็นลงไปราวเดือนกุมภาพันธ์ได้ แต่สิ่งที่หวังไปกว่านั้น คือ เงินจากมาตรการนี้ลงไปสะพัดในระดับกลุ่มจังหวัด จึงน่าจะมีผลต่อภาคเอกชนขยับการลงทุนตามมาในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเกิดผลได้มากกว่าอดีตที่โครงการต่างๆ มักจะถูกคิดมาจากส่วนกลาง อาทิ ตู้น้ำหยอดเหรียญ สนามฟุตซอล เป็นต้น

ทั้งนี้ เป้าหมายการอัดฉีดเม็ดเงินตรงในกลุ่มระดับจังหวัด จะเป็นการพยุงเศรษฐกิจและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคนตกงานเพิ่มขึ้น เพราะจะกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามใส่มาตรการด้านภาษีกระตุ้นเอกชนเร่งลงทุนในปี 2559 แต่พบว่ามีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นลงทุน ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กไม่มีใครลงทุน จึงเป็นบทเรียนสำหรับภาครัฐให้หันมาใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจเองดีกว่า

“พอเราเห็นอย่างนี้ ก็คือต่อให้เราให้แรงจูงใจเขาสูงมากแค่ไหน เอกชนก็ไม่ลงทุน ดังนั้น รัฐบาลเอาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจเองดีกว่า ไม่ต้องเอาไปให้เอกชน เพราะในที่สุดพอเศรษฐกิจดี เอกชนเขาก็ลงเอง” รมว.คลัง กล่าว

 

อีกสิ่งที่รัฐบาลจะทำ คือ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยรัฐบาลจะสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เกิดขึ้น ด้วยการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา เพื่อให้เป็น “แม่เหล็ก” ในการดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศได้มากขึ้นได้ และเป็นการรองรับอนาคตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นอีกแรงที่ทำให้เอกชนไทยเข้ามาลงทุนตาม

และในปีหน้า จะได้เห็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องในโครงการ EEC นี้อย่างชัดเจนมากขึ้นแน่นอน

“เมื่อ 20 ปีที่แล้วเรามีอิสเทิร์นซีบอร์ด ปีนี้สิ่งที่เราดีไซน์คือ EEC ซึ่งผมหวังมาก และเชื่อว่าถ้าดีไซน์ดีๆ จะเป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามา แล้วถ้าต่างชาติมา คนไทยก็จะลงตาม ซึ่งเราส่งเสริมเต็มที่ มีทั้งการขนส่งทางรถไฟ ทางเรือ ทางเครื่องบิน ครบถ้วน”

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจในปีหน้าจะขับเคลื่อนด้วยนโยบายการคลังเชิงรุกมากกว่าปีนี้ โดยเฉพาะด้านการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนอกจากที่มีมาตรการอัดฉีดเงินเจาะตรงคนจนแล้ว ยังได้ทำเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หากเป็นผู้มีรายได้ต่ำไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะได้รับเงินดังกล่าว รายละ 1,500-3,000 บาท เพราะถือเป็นกลุ่มที่ดำรงชีวิตอย่างยากลำบากในขณะนี้

“มาตรการนี้ ไม่ใช่เฮลิคอปเตอร์มันนี่ มันเป็นการไปช่วยคนที่เขาลำบาก เขาจำเป็นต้องครองชีพ” รมว.คลัง กล่าว และว่า เดิมการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ มีแนวคิดว่าจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม เป็นต้น แต่เนื่องจากยังต้องรอระบบการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เสร็จก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกราว 6 เดือนข้างหน้า บวกกับเรื่องตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม และ Electronic ticket บนรถเมล์ด้วย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐได้สอบถามผู้ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐถึงความต้องการในช่วงนี้ ซึ่งก็ได้คำตอบว่า ผู้มีรายได้น้อยต้องการมีเงินสำหรับไปใช้จ่ายมากกว่า ดังนั้น จึงมีมาตรการเพิ่มรายได้นี้ออกมา

“ช่วงนี้เราพยายามบรรเทาความเดือดร้อนก่อน ต่อไปมีสวัสดิการอื่นแล้ว ก็ไม่ต้องให้เงินแบบนี้แล้ว”

ดังนั้น ในอีกราว 6 เดือนข้างหน้า รัฐบาลจะมีการจัดทำบัตรผู้มีรายได้น้อยในลักษณะ “E-ticket” โดยต่อไปผู้ที่ถือบัตรดังกล่าวทั้งคนในเมืองและในชนบท ก็จะได้รับสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ อาทิ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี (ฟรีบางเส้นทาง อาทิ เส้นทางจากนอกเมืองเข้าในเมือง เป็นต้น หรือลดราคาให้ในบางเส้นทาง) รวมถึงได้รับส่วนลดจากค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมัน

“อภิศักดิ์” กล่าวย้ำว่า รัฐบาลจะต้องพยายามคัดกรองผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้ละเอียดขึ้น เนื่องจากในการเปิดให้ลงทะเบียนที่ผ่านมา พบบางรายเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปีจริง แต่ปรากฏว่ายังมีสินทรัพย์อื่นอีกมาก อาทิ มีเงินในบัญชีที่มากถึง 10-20 ล้านบาท มีที่ดิน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 2 แสนคน ถือว่าไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยจริง แต่ก็ยังมาลงทะเบีย

 

เราต้องการให้คนที่จนจริงๆ เพราะเราต้องใช้เงินให้คุ้มค่า เป็นสวัสดิการให้คนจนจริงๆ” นายอภิศักดิ์ กล่าว

พร้อมกับขอร้องว่า ผู้ที่มีทรัพย์สินมาก และไม่ได้ถือว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย ควรจะพิจารณาว่าไม่ควรมาลงทะเบียน เพราะภาครัฐเองก็เสียเวลาไปตรวจสอบ เหมือนกับ “แมวไล่จับหนู” ซึ่งก็มีข้อเสนอให้นำบทลงโทษมาใช้กับผู้ที่ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยจริงแล้วมาลงทะเบียนอยู่เหมือนกัน

สำหรับความล่าช้าในการจ่ายเงิน 1,500-3,000 บาท จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้เร่งจ่ายภายในเดือนธันวาคม ก็สืบเนื่องจากเหตุผลที่มีผู้ที่ไม่จนจริงมาลงทะเบียนจำนวนมากนี่เอง อย่างไรก็ดี ขุนคลังยืนยัน รัฐบาลไม่ได้ผิดสัญญา และจะเร่งจ่ายภายในเดือนธันวาคมนี้แน่นอน

เพราะ ครม. กำหนดว่าให้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ไปจนถึง 30 ธันวาคมนี้นั่นเอง