เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (3)

จรัญ มะลูลีม

สําหรับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียจะประกอบไปด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้คือ

ความสัมพันธ์ด้านสังคม

ความสัมพันธ์ด้านการสื่อสาร

ความสัมพันธ์ด้านการศึกษา

ความสัมพันธ์ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

โดยมีเนื้อหาสำคัญในแต่ละด้านดังต่อไปนี้

 

ความสัมพันธ์ทางสังคม

มากกว่าครึ่งทศวรรษของความร่วมมือที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิดอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ที่มีร่วมกันและการเยือนของผู้นำของทั้งสองประเทศ ในระดับประชาชนพบว่าประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนมีความเป็นหนึ่งเดียวในทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา

ประเทศไทยและมาเลเซียในปัจจุบันมีข้อตกลงร่วมกันถึง 32 ข้อทั้งที่เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นก่อนและหลังมาเลเซียได้รับเอกราช

ทั้งสองประเทศผ่านช่วงเวลาที่ดีต่อกันมาและไม่เคยเปลี่ยนมาเป็นความรุนแรง {Chaichoke Julsiriwongs ปัญหาพรมแดนไทยและความมันคงแห่งชาติ (The Problem of Thailand Border and National Security) (Bangkok : Samphand Panich, 2533) p.29} ทั้งสองประเทศมีบันทึกความสัมพันธ์และการร่วมมือกันรับผิดชอบมาตั้งแต่อดีต ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็ง

ชาวไทยและมาเลย์ที่อยู่ตามชายแดนต่างก็มีความใกล้ชิดต่อกันและกัน เชื่อมสัมพันธ์กันด้วยความเป็นญาติและความเป็นเพื่อนบ้านก่อนที่จะมีการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์หรือวัฒนธรรม ไทยและมาเลเซียก็มีจุดหมายร่วมกัน ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะผูกพันกับสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของอีกที่หนึ่ง (Message from Nitya Pibunsonggram, Former Minister of Foreign Affairs the Kingdom of Thailand, Rajaphrueh Bunga Raja, 50 years of everlasting friendship between Thailand and Malaysia (Bangkok : Ministry of Foreign Affairs, 2007) p.10)

ประเทศไทยและมาเลเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปี 1957

ความจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียนั้นสามารถย้อนไปไกลกว่าความสัมพันธ์ทางการทูต

อันเนื่องมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์และสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ประเทศทั้งสองจึงมีความใกล้ชิดกันและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการแลกเปลี่ยนทางการค้า ธุรกิจ การศึกษา รวมทั้งการเยือนญาติพี่น้องและการเชื่อมโยงสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งสองประเทศอนุญาตให้ประชาชนของอีกชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามชายแดนใช้หนังสือผ่านแดน (border pass) ซึ่งออกให้โดยฝ่ายบริหารของแต่ละฝ่ายเดินทางไปยังชายแดนของสองประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทางได้

 

ความสัมพันธ์ด้านการสื่อสาร

ศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลไกของรัฐที่มีความสำคัญในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่จะนำไปสู่การลดความขัดแย้ง และการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้

การสื่อสารสร้างความเข้าใจ เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม และภาษา มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน และประชากรส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในวิถีชีวิตประจำวัน กลายเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่มายาวนาน

จุดมุ่งหมายข้างต้นคือเหตุผลหลัก ในการริเริ่มของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ในการปรับโฉมและยกระดับงานด้านสื่อสารใหม่ ด้วยการยกระดับการนำเสนอผ่านสื่อ ในรูปแบบของสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคภาษามลายูทั้งหมดตลอด 24 ชั่วโมง

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ภาคภาษามลายู และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบไปด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

นอกจากนี้ ยังจะรวมถึง 4 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย ที่ประกอบด้วย รัฐกลันตัน ตรังกานู เปรัก และรัฐเกดะฮ์ อีกด้วย

นับเป็นครั้งแรกที่คนในพื้นที่ชายแดนใต้จะมีพื้นที่สื่อนำเสนอเรื่องราวของตนเอง เพื่อบอกกับสังคม ไม่ใช่เฉพาะใน 3 จังหวัดเท่านั้น ยังรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ และประชากรในภูมิภาคอาเซียนอีก 600 ล้านคนที่มีการใช้ภาษามลายูอยู่ในภูมิภาคนี้มากถึง 300 ล้านคน

สำหรับการนำเสนอข่าวสารจะใช้ภาษามลายูปัตตานี (bahasa melayu Pattani) เนื่องจากสมาชิก ASEAN จำนวนมากสามารถสื่อสารกันด้วยภาษานี้ อีกทั้งจะเป็นการฟื้นฟูภาษามลายูปัตตานี ที่ไม่ได้รับการพัฒนามานานแล้ว ให้กลับมาสื่อสารในสังคม ASEAN ต่อไป

ส่วนการดำเนินการนั้นเบื้องต้นได้มีการจัดตั้ง “สถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียงมลายูแห่งประเทศไทย” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Television & Radio Bahasa Melayu, Thailand” หรือชื่อย่อว่า TRMT โดยในเบื้องต้นได้ออกอากาศไปแล้วทางสถานีโทรทัศน์ภาคมุสลิม TMTV วันละ 30 นาที ตั้งแต่เวลา 20.00-20.30 น. ทุกวัน จนกว่าจะมีการจัดตั้งโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นของตนเองในที่สุด

ทั้งนี้ รายการดังกล่าวจะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

รายการดังกล่าวได้เริ่มออกอากาศสู่สายตาประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสายตาประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ปี 2556 (See Alami Report on Melayu Television, The Alami, Magazine, January, 2013, pp.30.-31)