ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
นาฏศิลป์อินเดีย
ไม่มีอิทธิพลฟ้อนรำไทย
“นาฏศิลป์และดนตรีของไทยได้แบบแผนจากอินเดีย” เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลป์ไทยอ้างนิทานอินเดียเรื่องศิวนาฏราช (พระศิวะฟ้อนรำ) ใช้ครอบงำการศึกษาไทยนานมากแล้ว (ขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง)
ทั้งๆ ไม่จริงตามนั้น เพราะไม่เคยพบหลักฐานวิชาการสนับสนุน และในความจริงนาฏศิลป์อินเดียไม่มีอิทธิพลเหนือฟ้อนรำไทย
ความขัดแย้งของคนพื้นเมืองกับอารยัน
เรื่องพระศิวะฟ้อนรำ (ศิวนาฏราช) เป็นตำนาน หรือนิทานประจำท้องถิ่นเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายเรื่องที่มีในทมิฬนาฑู (อินเดียใต้)
สะท้อนความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนพื้นเมืองคือทมิฬกับกลุ่มอารยันจากภาคเหนือของอินเดียที่แผ่อำนาจรุกลงไปปราบปรามและครอบครองภาคใต้ (จากบทความของไมเคิล ไรท์ ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนเมษายน 2532)
กลุ่มอีศวร-นารายณ์ เป็นตัวแทนของอารยันจากภาคเหนือ
กลุ่มฤๅษี-ยักษ์ เป็นตัวแทนของกลุ่มคนพื้นเมืองในภาคใต้
เมื่อปราบปรามชาวเมืองลงแล้ว พวกอารยันจากอินเดียภาคเหนือได้เป็นใหญ่ จึงประดิษฐานรูปเคารพในความเชื่อของพวกตนคือพระอิศวรขึ้นแทนที่ศาลเจ้าแม่ของคนพื้นเมือง
ต่อมามีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกหลายครั้งและหลายสาเหตุ ทำให้มีการซ่อมแปลงเทวสถานแห่งนี้บ่อยๆ และมีหลักฐานเชื่อได้ว่ารูปสลักหินเรื่องพระศิวะฟ้อนรำทั้ง 108 ท่าซึ่งประดับซุ้มประตูทางเข้าเทวสถานจิทัมพรัมแห่งนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ.1650-1700 (เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการสร้างปราสาทพนมรุ้งที่ จ.บุรีรัมย์ และประสาทนครวัดในเขมร)
แต่เรื่องของศิวนาฏราชเริ่มมีบทบาทสำคัญในอินเดียภาคเหนือแล้วตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000 จากนั้นจึงแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนกัมพูชาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (สมัยก่อนเมืองพระนคร)
ท่าฟ้อนรำศิวนาฏราชที่หน้าบันปราสาทพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์) และที่ปราสาทอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในดินแดนไทยและในดินแดนกัมพูชา เป็นท่าฟ้อนรำของท้องถิ่น (ดังที่พบในท่าฟ้อนรำของบรรดานางอัปสรทั้งที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน) ล้วนแสดงลีลาแตกต่างจากท่ารำของอินเดีย
แบบแผนนาฏยศาสตร์ หรือนาฏศิลป์อินเดียโบราณ มิได้มีอิทธิพลเหนือแบบแผนฟ้อนระบำรำเต้นอุษาคเนย์ (ซึ่งมีไทยอยู่ด้วย) ที่มีพัฒนาการเป็นของตนเองมาแต่ดั้งเดิม
นิทานศิวนาฏราช
ในสมัยกาลครั้งหนึ่ง มีฤๅษีพวกหนึ่งตั้งอาศรมอยู่กับภรรยาที่ในป่าตารกะ อยู่มาฤๅษีพวกนั้นประพฤติอนาจารฝ่าฝืนเทวบัญญัติ ไม่ยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า พระศิวะทรงขัดเคืองจึงชวนพระนารายณ์เสด็จลงมายังมนุษยโลกเพื่อจะทรมานฤๅษีทรยศพวกนั้น แล้วก็ทำสำเร็จ
พระศิวะเห็นว่าพวกฤๅษีสิ้นฤทธิ์แล้ว จึงทรงฟ้อนรำทำปาฏิหาริย์
ขณะนั้นมียักษ์ค่อมตนหนึ่งชื่อ “มุยะกะละ” (บางทีเรียกว่า “อสูรมูลาคนี”) มาช่วยพวกฤๅษี พระศิวะก็เอาพระบาทข้างหนึ่งเหยียบยักษ์ค่อมนั้นไว้ แล้วทรงฟ้อนรำต่อไปจดหมดกระบวน
พวกฤๅษีก็สิ้นทิฐิ ยอมรับผิด ทูลขอขมาโทษแก่พระเป็นเจ้าทั้งสอง
เมื่อทรมานฤๅษีสำเร็จแล้ว พระศิวะเสด็จกลับคืนไปยังเขาไกรลาส พระนารายณ์ก็เสด็จกลับคืนไปยังเกษียรสมุทร
ครั้งนั้น พระยาอนันตนาคราชได้โดยเสด็จพระผู้เป็นเจ้าเมื่อไปปราบพวกฤๅษี ได้เห็นพระศิวะทรงฟ้อนรำงามพิศวงติดใจ ครั้นตามพระนารายณ์กลับไปถึงเกษียรสมุทร ยังอยากใคร่ดูพระศิวะทรงฟ้อนรำอีก จึงทูลวอนพระนารายณ์
พระนารายณ์ตรัสว่า ที่จะให้ทูลเชิญพระศิวะทรงฟ้อนรำอีกนั้นไม่ได้ ถ้าพระยาอนันตนาคราชอยากจะดูฟ้อนรำอีก ก็จงไปตั้งตบะกิจพิธีบูชาที่เชิงเขาไกรลาสให้พระศิวะทรงพระเมตตาประทานพร จึงทูลขอพรให้ได้ดูทรงฟ้อนรำตามประสงค์
พระยาอนันตนาคราชก็ทำตามพระนารายณ์ทรงแนะนำ
ด้วยอำนาจตบะกิจพิธีของพระยาอนันตนาคราช ร้อนถึงพระศิวะ ก็เสด็จลงมาประทานพร ว่าแล้วแต่จะต้องการสิ่งใดให้เลือกเอา จะทรงประสาทให้สมประสงค์
พระยาอนันตนาคราชกราบทูลว่า สิ่งอันใดในไตรภพนั้นไม่อยากได้ทั้งนั้น ขอประทานพรข้อเดียว แต่ให้ได้เห็นพระเป็นเจ้าฟ้อนรำอีกสักครั้งหนึ่ง
พระศิวะก็รับคำ แล้วตรัสว่าจะลงไปรำให้ดูในมนุษยโลก ณ ตำบลจิทัมพรัม อันเป็นที่ท่ามกลางโลก (คือสะดือจักรวาล)
ครั้นถึงวันกำหนด พระศิวะก็เสด็จลงมายังตำบลจิทัมพรัม พร้อมด้วยเทพนิกรเป็นบริวาร ทรงนฤมิตสุวรรณศาลาขึ้นแล้วฟ้อนรำตามที่ได้ประทานพรแก่พระยาอนันตนาคราช
ในสมัยต่อมากาลอื่นอีก พระศิวะเป็นเจ้าเสด็จประทับอยู่ท่ามกลางเทวสภาบนเขาไกรลาส มีพระประสงค์จะทรงแสดงการฟ้อนรำให้เป็นแบบฉบับ จึงเชิญพระอุมาให้ประทับเป็นประธานเหนือสุวรรณบัลลังก์ ให้พระสรัสวดีดีดพิณ ให้พระอินทร์เป่าขลุ่ย ให้พระพรหมตีฉิ่ง ให้พระลักษมีขับร้อง และให้พระนารายณ์ตีโทน แล้วพระศิวะก็ทรงฟ้อนรำให้เทยพดาและฤๅษีคนธรรพ์ยักษ์นาคทั้งหลาย ซึ่งขึ้นไปเฝ้าได้ชมอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพระศิวะทรงฟ้อนรำครั้งนี้ พระฤๅษีนารทได้รับเทวบัญชาให้แต่งตำรารำสั่งสอนเหล่ามนุษย์
[จากหนังสือ ตำราฟ้อนรำ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2466) อ้างถึงคัมภีร์ “นาฎยศาสตร์” ของอินเดีย แต่งโดยพระภารตฤๅษี ว่าพระศิวะ (คือ พระอิศวร) เป็นเจ้าผู้สอนการฟ้อนรำให้มนุษยโลก มีท่ารำเบื้องต้น 32 ท่า แล้วเอาท่าเหล่านั้นมาประสมกันเป็นท่าต่างๆ ขึ้น 108 ท่า บัญญัติชื่อสำหรับเรียกและมีคำอธิบายบอกไว้ เป็นภาษาสันสกฤต มีเรื่องราวเล่าเป็นนิทาน]
เมืองจิทัมพรัม อินเดียใต้
อาศัยเรื่องนิทานที่ยกมานั้น ชาวอินเดียจึงถือว่าที่เมืองจิทัมพรัม แคว้นทมิฬนาฑูอินเดียใต้ เป็นที่พระศิวะได้เสด็จลงมาแสดงตำราฟ้อนรำในมนุษยโลก
ครั้นนานมาก็คิดสร้างเทวรูปพระศิวะ ปางเมื่อทรงแสดงการฟ้อนรำ เรียกว่า “นาฏราช” (หรือศิวนาฏราช บางทีเรียกเทวรูปนี้ว่าปางปราบอสูรมูลาคนี) แล้วถ่ายแบบสร้างกันต่อๆ ไปจนแพร่หลาย เป็นเหตุให้ที่เมืองจิทัมพรัมมีเทวสถานใหญ่และสำคัญที่สุดของเมืองแห่งหนึ่ง มีลายประดับซุ้มประตูทางเข้า (ที่เรียกว่า “โคปุรัม” หรือ “โคปุระ”) จำหลักบนแผ่นหินเป็นรูปพระศิวะทรงฟ้อนรำครบทั้ง 108 ท่า ตามที่มีอยู่ในตำราของพระภรตฤๅษี (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ นาฏยศาสตร์ โดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลจากคัมภีร์ของภรตมนี กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2511)