จัตวา กลิ่นสุนทร : ความเป็นกลาง-มารยาททางการเมืองไทย

ถึงวันนี้หากไม่เขียนถึงเรื่องการ “เลือกตั้ง” เห็นจะเป็นคนไม่เอาไหน ไม่ใส่ใจเหตุการณ์บ้านเมืองของเรา เพราะการ “หาเสียง” กำลังดำเนินไปอย่างเร่งรีบ เนื่องด้วยเวลามีจำกัด

ขณะเดียวกันการโจมตีบ่อนทำลายคู่แข่งเกิดขึ้นเสมอๆ ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะใกล้ถึงเวลาเข้าคูหากาบัตรกันแล้ว

ส่วนเรื่องนโยบายบริหารประเทศได้พยายามติดตามทุกมิติตามแบบฉบับของคนสนใจการเมืองชนิดเข้าเส้นเลือด กลับจับไม่ค่อยติด แยกแยะกันไม่ออกว่าชัดเจนแค่ไหน เพราะแต่ละพรรคออกจะคล้ายๆ แบบใกล้เคียงกันจนไม่สามารถแยกแยะว่าใครลอกใคร?

อย่างนโยบายรัฐบาล “เผด็จการ” ซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” แล้วขนพวกเข้ามาบริหารบ้านเมือง เสวยอำนาจรับเงินเดือนแพงๆ ใช้เวลายาวนานเกิน 4 ปี กลับไม่เห็นจะมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

แต่พยายามสาดใส่ด่าว่ารัฐบาลก่อนๆ ว่าประชานิยม แต่รัฐบาล “ลากตั้ง” กลับไม่แตกต่าง ไม่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาชนชั้น ความแตกแยก ความยากไร้ไม่ได้

 

รัฐบาลซึ่งมีทุกอย่างครบครัน มีอำนาจล้นฟ้า กฎหมายเผด็จการเด็ดขาด ไม่มีฝ่ายค้านตรวจสอบ คิดจะทำอะไรกับฝ่ายตรงข้ามย่อมได้ทั้งนั้น อยากได้องค์กรอิสระใดไว้เป็นพวกก็ช่วยเหลือเกื้อหนุนให้คงอยู่ บางคนผิดกฎเกณฑ์กลับมองข้ามทำไม่เห็น องค์กรไหนไม่ใช่พวก สั่งไม่ได้ก็ยุบมันทิ้งไปเสีย แต่การบริหารประเทศกลับล้มเหลว แก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้

เมื่อไม่สามารถยื้อไปได้มากกว่านี้แล้วสืบเนื่องมาจากความกดดันทั่วโลก ความจนของราษฎรกับปัญหา “เศรษฐกิจ” ซึ่งเขาต้องการเปลี่ยนแปลง อยากได้ “รัฐบาลของประชาชน” อย่างแท้จริง จึงต้องปล่อยให้มีการ “เลือกตั้ง” ขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562

แต่หัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการ “ยึดอำนาจ” โดดลงสู่สนาม “เลือกตั้ง” ด้วยความมั่นใจเพราะกฎกติกาต่างๆ ได้จัดทำกันขึ้นใหม่เพื่อเอื้ออำนวยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

คนของรัฐบาล รัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, โดดลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง ยังคงกุมอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ “ยุบพรรคการเมือง” ได้ แจก “ใบแดง” กับผู้สมัครผู้แทนราษฎรได้

ขณะที่ “นายกรัฐมนตรี” ยังสามารถแจก “ใบแดง กกต.” ได้ ลองคิดกันดูเอาเถอะครับ? แม้จะเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก นายทหารนอกราชการ แต่ยังคงตำแหน่งหัวหน้า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.)

 

เมื่อพรรคการเมืองนำชื่อเสนอเป็นแคนดิเดต (Candidate) “นายกรัฐมนตรี” ย่อมได้เปรียบคู่แข่ง มีโอกาสเหนือกว่าใคร จึงอยากตั้งคำถามแบบตรงๆ ซื่อๆ ว่า การ “เลือกตั้ง” ตามระบอบ “ประชาธิปไตย” ควรแข่งขันกันด้วยความยุติธรรมในสนามการเมืองแบบมีกฎ กติกา มารยาทเป็นสากลเพื่อให้ประชาชนเจ้าของประเทศเป็นผู้ตัดสิน?

ทำไมไม่ลาออกมาซดกันตรงๆ ถ้ามั่นใจในผลงานที่ทำมา และ “ผู้รับใช้” ซึ่งวางแผนจัดร่าง “รัฐธรรมนูญ” 2560 กันตลอดมาหลายปี?

ความได้เปรียบของ “นายกรัฐมนตรี” คนปัจจุบันที่ยังรับเงินเดือนหลายตำแหน่งอยู่ สามารถใช้ทรัพย์สินของทางราชการเดินทางไปไหนต่อไหนได้อย่างเสรี โดยบอกว่าไปในงานราชการ แต่มันกลับซ้อนทับกับการหาเสียงช่วยพรรคการเมืองที่เสนอชื่อตัวท่านอย่างแยกไม่ออก

ยังแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ มีอิทธิพลแผ่คลุมเข้าไปยัง “กองทัพ” เพราะฉะนั้น แม้ในระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกต่างยอมรับกันว่าเป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เมื่อมีการ “เลือกตั้ง” ทั่วไปบรรดาข้าราชการจะต้องวางตัวเป็นกลาง แต่สำหรับประเทศไทย กลับมิได้เป็นอย่างนั้น

เชื่อว่าความเป็นกลางคงหาได้ยากลำบาก แต่ควรมีมารยาท มีความละอายกันบ้าง จะสนับสนุนควรแอบทำอย่างลับๆ น่าจะเคารพกฎหมาย มิใช่เปิดหน้าวางอำนาจสาดใส่อย่างไม่เกรงใจดังที่ผู้นำเหล่าทัพสวนกลับการหาเสียงของพรรคการเมืองซึ่งมีนโยบายจะขอตัดลดงบประมาณกองทัพจึงไม่เป็นที่พอใจของ “ผู้นำกองทัพ”

 

ในยุค 40-50 ปี ซึ่งแบ่งกันเป็นฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา, ซ้าย หมายถึงพวกชอบลัทธิสังคมนิยม ส่วนฝ่ายขวาหมายถึงชนชั้นสูง ขุนศึกศักดินา ฝ่ายขวายัดเยียดให้พวกซ้ายเป็น “คอมมิวนิสต์” การต่อสู้ ปลุกระดมในทุกๆ ทางจึงเกิดขึ้นกระทั่งมีเพลงร้องปลุกใจ ชื่อ “หนักแผ่นดิน” ก็เป็นเพลงหนึ่งที่ใช้กันในเวลานั้น

ได้ยินได้ฟังเพลงนี้มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นเพิ่งก้าวเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มรู้จัก “ซ้าย-ขวา” จนกระทั่งได้เห็น “ขวาพิฆาตซ้าย” โดยการเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อนทารุณทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท้องสนามหลวง และ ฯลฯ โดยปลุกระดมกลุ่มผู้คนที่จัดตั้งไว้ว่านักศึกษาที่มาชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ “คอมมิวนิสต์”

ถึงวันนี้ชีวิตเดินทางเข้าสู่ปัจฉิมวัย ไม่นึกว่าจะได้ยินคนพูดถึงเพลง “หนักแผ่นดิน” ซึ่งเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” ซึ่งน่าจะมีอายุยังไม่ถึง 20 ปีระหว่างเกิดเหตุการณ์เพลงนี้โด่งดังใช้ปลุกระดมให้คนไทยฆ่ากันเอง

ความจริงพวก “หนักแผ่นดิน” ควรจะเป็นพวกที่กดขี่ข่มเหงรังแกประชาชนคนยากไร้ พวกโกงกินบ้านเมือง คอร์รัปชั่นงบประมาณแผ่นดิน เบียดบังรับคอมมิสชั่น คอร์รัปชั่นงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธ งาบงบฯ สวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อยมากกว่า จึงเกิดความรู้สึกเตลิดเลยเถิดต่อไปอีกว่า “ผู้บัญชาการทหารบก” เป็นข้าราชการประจำ ทำไมไม่วางตัวเป็นกลางในการ “เลือกตั้ง”?

คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีอายุครบ 18 ปี มีสิทธิ์ได้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมาตั้งแต่ 10 ปีที่ก่อน หากแต่บ้านเมืองของเราไม่มีการเลือกตั้ง คงจะรู้สึกตื่นเต้น และอาจไม่รู้สึกในเรื่องของการแบ่ง “เขตเลือกตั้ง” เพราะมันเป็นครั้งแรก

แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้โยกย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปไหนจะรู้สึกแปลกๆ ไปกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ผ่านๆ มา เนื่องจากการแบ่งเขต ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่า “หน่วยเลือกตั้ง” จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

 

“กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์ 2540) หัวขบวนในการนำพา “ศิลปินแห่งชาติ” ทั้งหลายเดินสายสัญจรเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยไปทั่วประเทศ เดินทางกลับถึงยังบ้านพักที่สหรัฐแล้ว หลังปฏิบัติภารกิจในเมืองไทย 4 เดือน ได้ส่งข่าวมาว่ารีบไปลงทะเบียน “เลือกตั้ง” นอกราชอาณาจักร และคงจะพักอยู่อยู่ในสหรัฐอีกระยะหนึ่งเพื่อรอรับคณะ “ครูศิลป์” ครู อาจารย์ผู้สอนศิลปะ นักศึกษาศิลปะ “ยุวศิลปิน” ซึ่งได้รับการคัดเลือกไว้เรียบร้อยขณะเขาเดินทางมาทำงานในเมืองไทย เดินทางไปแสดงงาน และทัศนศึกษาในนคร “ลอสแองเจลิส” (Los Ageles, California Usa) และมลรัฐใกล้เคียง

เวลาเดินทางรวดเร็ว ขณะที่โลกทุกวันนี้แคบลง การติดต่อสื่อสารว่องไว เมื่อเขามีเวลาพักได้ย้อนเวลาหาอดีตมาพูดคุยกันทางไลน์ส่งข่าวคราวเมื่อครั้งเดินทางไปเปิดบ้าน “ศิลปินแห่งชาติ” ของอาจารย์ “ประหยัด พงษ์ดำ” ที่ปากช่อง เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อกว่า 5-6 ปีผ่านเลย ซึ่ง (ท่านพี่) “ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์ 2541) ท่าน “หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง 2551) ได้นั่งวีลแชร์ (Wheel Chair) ไปร่วมงานด้วย

กมลส่งภาพถ่ายความหลัง (ท่านพี่) ถวัลย์, คุณชายถนัดศรี, อาจารย์ประหยัด, โดยมีผมร่วมอยู่ในงานนั้นด้วย เห็นแล้วค่อนข้างใจหายเพราะ 2 ท่านในภาพได้เดินทางล่วงหน้าไปสู่ที่หมายสุดท้ายเสียแล้ว เหลือเพียงผมและคุณชายถนัดศรี (คุณชายหมึก) ซึ่งวันนี้อายุเกิน 90 ปีแล้ว ยังมีชีวิตอยู่

 

กมล “ศิลปินแห่งชาติ” เจ้าของ “หอศิลป์” หรือ “บ้านศิลปินแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่” ยังย้อนความหลังถึง “ประเทือง เอมเจริญ” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์ 2548) อีกท่านหนึ่งซึ่งรู้จักคุ้นเคยแบบสนิมสนมกันมากปัจจุบันสูงวัยมากแล้วแถมพกด้วยโรคภัยไข้เจ็บมาเยือนเข้าอีก ด้วยการส่งรูป “เคิร์ก ดักกลาส” (Kirk Douglas) ซูเปอร์สตาร์ในวันเกิด (17 กุมภาพันธ์ 2562) อายุครบ 104 ปี และลูกชาย “ไมเคิล ดักกลาส” (Michael Dauglas) ซูเปอร์สตาร์ผู้ลูกอายุ 74 ปีมาให้ดู

“เพราะว่า เคิร์ก ดักกลาส” เป็นผู้แสดงนำเป็น “วินเซนต์ แวน โก๊ะ” (Vincent Van Gogh) (1853-1890) ในหนังชีวิตของศิลปินผู้อาภัพ ยากไร้ ไม่เคยขายงานได้เลยระหว่างยังมีชีวิต แต่ทุกวันนี้งานของเขาราคาแพงที่สุดในโลก เนื่องจากเมื่อกว่า 50 ปี– “ประเทือง เอมเจริญ” ซึ่งเป็นพนักงานเขียนโปสเตอร์หน้าโรงหนังได้ “เปลี่ยนชีวิต” ตั้งแต่ได้ดูหนังเรื่องนั้นจบ หันมาศึกษา “ศิลปะ” ด้วยตัวเอง และทำงาน “ศิลปะร่วมสมัย” อย่างจริงจังจนกระทั่งประสบความสำเร็จ

ซึ่งกว่า “ประเทือง เอมเจริญ” จะมีวันนี้ เขาต้องใช้ความพยายาม ความมานะอดทนมาทั้งชีวิต