วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ สีรุ้งกับลูกกลิ้ง

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

สีรุ้งกับลูกกลิ้ง

 

ปัจจุบันสีรุ้งถูกใช้ทำพื้นปกหนังสือและสิ่งพิมพ์จำนวนมาก เฉพาะที่ออกมาปีนี้มี Culture is not always popular ของเจสสิกา เฮฟแฟนด์ และไมเคิล เบรุต, Lord of The Rings ของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน, แคตตาล็อกของ Ikea และโปสเตอร์อีกมากมาย

ดีไซเนอร์ชอบสีและต้องเป็นสีรุ้งด้วย จะเห็นได้ใน https://blog.spoongraphics.co.uk/articles/showcase-of-creative-designs-made-with-vibrant-gradients ซึ่งรวมปกและโปสเตอร์ที่ออกมาในรอบสี่ห้าปีนี้

สีรุ้งคือเทคนิคการพิมพ์แบบไล่สีพื้น (Color Gradients) ซึ่งกลับมาในรูปดิจิตอลราวปี พ.ศ.2552 เมื่อระบบปฏิบัติการหรือ iOS 9 ของแอปเปิ้ลให้ธีมหรือวอลล์เปเปอร์ที่ไล่สีได้ ซึ่งบางคนว่าอาจจะเพื่อการตลาดคือข่มแอนดรอยด์ที่ยังใช้พื้นสีฟ้า (หรือสีตาย) รวมทั้งมีโปรแกรมที่ทำสีอย่างนี้ได้

แต่ฮิตขึ้นมาในทันทีและมีผลต่องานออกแบบและศิลปะจำนวนมาก

จริงๆ แล้วก่อนจะกลายเป็นดิจิตอล พื้นสีรุ้งเป็นเทคนิคที่เริ่มขึ้นในสมัยที่การพิมพ์สี่สียังแพงมาก เพื่อให้ได้งานที่แตกต่างแต่ใช้งบประมาณน้อย ช่างจึงใช้วิธีกลิ้งสี นั่นคือเทหมึกสองสีตรงปลายสองข้างของลูกกลิ้ง เมื่อเดินเครื่องให้มันกลิ้งไป สีจะผสมกันเองและกระจายมาตรงกลาง ซึ่งทำให้เกิดการไล่สีหรือกลายเป็นสีที่สาม

ผลที่ได้คือ งานที่คล้ายถูกพิมพ์มาสามสี่ครั้ง แต่มีราคาเท่าการพิมพ์สองสีเท่านั้น

 

สไตล์นี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ใช้ในการพิมพ์ทั้งแบบเล็ตเตอเพรส ออฟเซ็ต และซิลก์สกรีน โดยเฉพาะใช้กับแท่นพิมพ์ที่มีลูกกลิ้ง หรือที่สตีเฟ่น เฮลเลอร์ ในบทความของนิตยสาร Print (ปี พ.ศ.2556) เรียกว่า rainbow roll หรือ the split fountain

กลับมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะสไตล์ย้อนยุคหรือเพื่อรำลึกอดีต เช่น ในปี พ.ศ.2497 โรแบร์ มาสซอง (Robert Massin) นักออกแบบกราฟิกชาวฝรั่งเศส (ผู้ออกแบบหนังสือ Letter And Image และเล่มอื่นๆ อีกมากมาย) ใช้เทคนิคนี้กับตัวพิมพ์สมัยเก่า ทำปกหนังสือชุด “L’Or” ของ Blaise Cendrars

ในช่วงทศวรรษ 1960 หลังจากที่ถูกมองว่าล้าสมัยไปแล้ว สิ่งพิมพ์ของขบวนการฮิปปี้และหนังสือใต้ดินได้เอากลับมาใช้กันใหม่ ซึ่งว่ากันว่ากลายเป็นหนึ่งในสไตล์ที่เรียกว่า “cheap chic” โดยเฉพาะหนังสือของไมเคิล เบรุต ที่ชื่อ Culture is not always popular ทำให้นึกถึง Living by Design ซึ่งรวมผลงาน ชื่อ Pentagram และออกมาเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว

นอกจากนั้น การที่ให้สีเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเรียงไล่ไปตามความเข้มและน้ำหนัก มันจึงถูกนำกลับมาใช้โดยศิลปินป๊อปและแอ๊บสแตร็ก เอ๊กซ์เพรสชั่นนิสต์ในช่วงนั้นด้วย

ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอลหรือไม่ การพิมพ์สี่สีไม่แพงกว่าสีเดียวหรือสองสีสักเท่าไรแล้ว เทคนิคนี้จึงไม่ได้ถูกใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อความประหยัด แต่ใช้เพื่อความสวยงาม และอาจจะใช้โปรแกรมต่างๆ ทำขึ้นก็ได้

 

ไม่นานมานี้ เดวิด จูรี่ ผู้เขียน Graphic design before graphic designers: the printer as designer and craftsman 1700-1914 ได้รวบรวมงานสิ่งพิมพ์เก่า และประวัติของวิชาชีพที่เรียกว่าช่างพิมพ์ของยุโรปในศตวรรษที่ 18-20

ผู้เขียนบอกว่าช่างพิมพ์เหล่านี้เป็นอาชีพใหม่

เพราะไม่ได้เป็นของทั้งราชสำนักหรือของศิลปิน

ช่างพิมพ์เหล่านี้จะออกแบบและผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยตนเอง

ลักษณะสำคัญของสิ่งพิมพ์เหล่านี้คือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งหมายความว่าต้องรวดเร็ว ใช้คนน้อยและไม่มีตารางทำงานที่แน่นอน โดยทั่วไป นักออกแบบนิรนามเหล่านี้ต้องเป็นพ่อค้าด้วย

และโรงพิมพ์ของเขาจะใช้หน้าร้านขายของจิปาถะอื่นๆ เช่น เครื่องเขียน หนังสือพิมพ์ ตั๋วละคร/หนัง และล็อตเตอรี่ ซึ่งบางส่วนก็เป็นผลงานการพิมพ์ของตนเองด้วย

จูรี่เสนอว่า ศตวรรษที่ 18 และ 19 เป็นสมัยที่กราฟิกดีไซน์ยังไม่เป็นอาชีพ พัฒนาการของสไตล์ขึ้นต่อช่างพิมพ์มาก

และช่างแบบนี้แหละที่เป็นบรรพบุรุษของกราฟิกดีไซเนอร์ แต่หลังจากนั้นจะถูกมองว่าต่ำต้อยกว่า

ในไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจใหญ่เล็กต้องมีการบันทึกข้อมูล สิ่งที่ตามมาคือ สเตชั่นเนอรี่หรือกระดาษจดหมายที่มีหัว, นามบัตร, ป้ายบอกราคา, ใบปลิว, ใบปิด และแบบฟอร์มหรือสัญญาทางกฎหมายเป็นที่ต้องการมาก โรงพิมพ์และช่างพิมพ์ที่ผลิตงานลักษณะดังกล่าวจึงเกิดขึ้นมากมาย

สีรุ้งหรือการพิมพ์ไล่สีของไทยนั้นมีอยู่บ้างในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ถูกนำกลับมาใช้เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังสงครามและเพื่อสร้างอารมณ์ย้อนยุค สิ่งพิมพ์เหล่านี้อาจจะมีอยู่มากมาย แต่ที่จำได้คือหน้าหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชื่อ สมานมิตร ปี พ.ศ.2514

และถ้าถือว่าการเน้นความหลากหลายของสีเป็นองค์ประกอบสำคัญ ก็ต้องยกย่องให้นิตยสารชุดความรู้คือประทีปของวิตต์ สุทธิเสถียร และนิตยสารรายเดือนชุด “เฟื่องนคร” ของกลุ่ม “’รงค์ วงษ์สวรรค์ และเพื่อนหนุ่ม” เป็นสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในเทรนด์นี้ด้วย

ความพิเศษของเฟื่องนครคือเป็นหนังสือขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กและมีการจัดหน้าที่สวยงาม ปกใช้แพตเทิร์นเช่นแถบสีเรียงกันในแนวนอนโดยเล่นชุดสีที่ไม่ซ้ำกันเป็นปกของทุกฉบับ บนแถบสีดังกล่าวจะมีชื่อหนังสือและนักเขียนเด่นประจำฉบับเรียงด้วยตัวประดิษฐ์

 

ทุกวันนี้ในการทำสื่อ มีข้อสงสัยว่าทำไมต้องดีไซน์? ในขณะที่วิชานี้กลายเป็นความรู้ที่ “ใครๆ ก็ทำได้” นั่นคือ ไม่ต้องใช้นักออกแบบ แต่ใช้ช่างหรือคนที่จบมาทางด้านเทคโนโลยีก็ได้

พูดอีกอย่างคือ ทำไมต้องจ้างคนจบดีไซน์? และในฐานะอาชีพหนึ่ง กราฟิกดีไซน์ไม่น่าจะอยู่รอดได้ในบรรยากาศอย่างนี้

การพิมพ์เป็นทักษะพื้นฐานที่นักออกแบบจะต้องมี การพิมพ์สีรุ้งซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแบ่งหน้าที่กันระหว่างช่างพิมพ์กับนักออกแบบจึงน่าสนใจขึ้นมา

และความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับดีไซน์ดังกล่าว ศึกษาได้จากการพิมพ์สมัยก่อน