ต่างประเทศ : “วิกฤตแคชเมียร์” ปัญหาขัดแย้งสองชาติผู้ครองนิวเคลียร์

ปัญหาความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนที่คุกรุ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกต้องมีชื่อของ “รัฐจัมมูและแคชเมียร์” พื้นที่ปกครองของอินเดียในภูมิภาคแคชเมียร์

ปัญหาที่มีรากเหง้ามาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่กินเวลานานกว่า 70 ปี เขม็งเกลียวขึ้นอีกครั้งหลังเกิดเหตุ “คาร์บอมบ์” โจมตีใส่ขบวนรถเจ้าหน้าที่ทหารอินเดีย บนถนนนอกเมืองศรีนคร ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ทหารอินเดียเสียชีวิตมากถึง 46 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

กลุ่ม “จาอิช-อี-โมฮัมหมัด” (เจอีเอ็ม) กลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนที่มีฐานปฏิบัติการในพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยปากีสถาน ออกมายอมรับว่าเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

นั่นสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลอินเดียที่เชื่อมาโดยตลอดว่ารัฐบาลปากีสถานนั้นให้การสนับสนุนกลุ่มเจอีเอ็มอย่างลับๆ

แม้รัฐบาลปากีสถานจะออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องก็ตาม

 

รัฐบาลอินเดียตอบโต้ด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเข้าใส่พื้นที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นฐานปฏิบัติการของ “เจอีเอ็ม” ในพื้นที่แคชเมียร์ภายใต้การปกครองของปากีสถาน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พร้อมทั้งประกาศว่าสามารถสังหารกองกำลังเจอีเอ็มได้จำนวนมากถึง 200 ราย

อย่างไรก็ตาม ทางการปากีสถานระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีความเสียหายหรือผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด ทว่าก็แสดงความไม่พอใจที่เครื่องบินรบของอินเดียบินรุกล้ำน่านฟ้าข้ามเส้นเขตแดนหยุดยิงมายังพื้นที่ปกครองของปากีสถาน

ความรุนแรงดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับนักวิเคราะห์บางส่วนที่เกรงว่าการกระทบกระทั่งดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดชนวนขัดแย้งครั้งใหญ่ขึ้นได้

ปัญหาขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานอันเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่แคชเมียร์ มีขึ้นหลังรัฐบาลอังกฤษผ่านกฎหมายว่าด้วยอิสรภาพของอินเดียในปี 1947 ที่เปิดโอกาสให้ “แคชเมียร์” สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของชาติใดระหว่างอินเดียและปากีสถาน ซึ่งผู้ปกครองแคชเมียร์ในเวลานั้นเลือก “อินเดีย” ส่งผลให้เกิดสงครามยาวนานถึง 2 ปี

หลังจากนั้นเกิดสงครามขึ้นอีกในปี 1965 ก่อนจะมีการทำข้อตกลงเพื่อกำหนดเส้นเขตแดนควบคุม (แอลโอซี) ในแคชเมียร์ ขึ้นในปี 1972 หลังอินเดียร่วมสนับสนุนให้บังกลาเทศทำสงครามแยกตัวจากปากีสถานได้เป็นผลสำเร็จ

 

อย่างไรก็ตาม เกิดสงครามระหว่างสองชาติขึ้นใกล้กับแอลโอซีในแคชเมียร์ขึ้นอีกครั้งในปี 1999 ช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศประกาศเป็นชาติผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่

นับตั้งแต่นั้นเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียอย่างต่อเนื่อง หนึ่ง เพราะประชากรกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นเพียงรัฐเดียวในอินเดียที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังไม่พอใจอินเดีย กับการใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง จนเกิดเป็นการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

และด้วยแรงกดดันดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เกิดกลุ่มติดอาวุธอย่างเจอีเอ็ม ที่เริ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่อย่างเข้มข้นมากขึ้นหลังปี 2016 ปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอินเดียหลายครั้ง

ล่าสุดในปี 2018 มีผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบในประเทศถึง 500 คน มากที่สุดในรอบหลายสิบปี

 

แน่นอนว่าสองประเทศมีความพยายามที่จะสร้างสันติภาพในพื้นที่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ เริ่มต้นตั้งแต่การทำข้อตกลงหยุดยิงในปี 2003 หลังเกิดการสู้รบนองเลือดตลอดแนวชายแดนแอลโอซีในแคชเมียร์ โดยปากีสถานให้คำมั่นว่าจะไม่ให้งบประมาณสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ ขณะที่อินเดียยื่นข้อเสนอ “นิรโทษกรรม” หากนักรบเหล่านั้นยอมทิ้งอาวุธลง

ในปี 2014 รัฐบาลอินเดียชุดใหม่ มาพร้อมกับนโยบายแข็งกร้าวกับปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ยังคงเห็นความสำคัญของการจัดให้มีการเจรจาสันติภาพขึ้น ขณะที่นายนาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานในเวลานั้นก็เข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของนายนเรนทรา โมดี ในกรุงนิวเดลีด้วย แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดที่ผ่อนคลายลง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 เกิดเหตุโจมตีฐานทัพอากาศของอินเดียในรัฐปัญจาบ ตอนเหนือของประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียกล่าวหาว่ารัฐบาลปากีสถานหนุนหลังนั้นเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว ส่งผลให้นายโมดียกเลิกกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมระดับผู้นำสูงสุดที่จัดขึ้นที่ประเทศปากีสถาน

ความหวังที่จะมีการสานสัมพันธ์ขึ้นอีกครั้งริบหรี่ลงอีก หลังเกิดการประท้วงใหญ่ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ในปี 2016 ตามมาด้วยการถอนตัวของพรรคภารติยา จานาทา (บีเจพี) พรรคของนายโมดี ในการร่วมรัฐบาลท้องถิ่นกับพรรคประชาธิปไตยของประชาชน (พีดีพี) พรรคท้องถิ่นในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ส่งผลให้รัฐบาลกลางอินเดียปกครองรัฐจัมมูและแคชเมียร์โดยตรงผ่านผู้ว่าการรัฐ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่

นับตั้งแต่นั้นเกิดเหตุโจมตีจากกลุ่มก่อความไม่สงบโดยพุ่งเป้าเข้าใส่ฐานทัพของกองทัพอินเดียในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเหตุโจมตีครั้งใหญ่ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเหตุรุนแรงมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติปฏิปักษ์แห่งภูมิภาคเอเชียใต้ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เป็นอีกหนึ่งฮอตสปอตของการเมืองระดับโลกที่ต้องจับตา