ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ไม่ดีเบทคือการสืบทอดระบอบที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปกครองตามอำเภอใจ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ไม่ดีเบทคือการสืบทอดระบอบปกครองประเทศตามอำเภอใจ พล.อ.ประยุทธ์

คนไทยทั้งประเทศกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการเดินเข้าคูหาเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม เพื่อไปเลือกพรรคการเมืองเป็นตัวแทนในการบริหารบ้านเมือง แต่เมื่อสืบสาวความรู้สึกนึกคิดของผู้คนโดยทั่วไป ความไม่มั่นใจว่าจะมีเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาฯ กลับมีสูงอย่างที่ไม่เคยพบในการเลือกตั้งสมัยอื่นเลย

นอกจากความกังวลว่าจะไม่มีเลือกตั้งจะเป็นประเด็นที่พูดกันทั่วไป คนจำนวนมากยังวิตกว่าการเลือกตั้งปีนี้จะมีการโกงแบบที่ไม่เคยมีในการเลือกตั้งครั้งอื่นๆ เช่นเดียวกับการคาดคะเนว่าการตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะยุ่งยากอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผลเลือกตั้งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกต่อไป

เมื่อดุสิตโพลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ความกังวลใจทางการเมือง” ในวันที่ 20 ม.ค. ผลก็คือการไม่มีเลือกตั้งเป็นปัญหาที่ประชาชนกังวลที่สุด และเมื่อโพลเดิมสำรวจเรื่องเดียวกันในวันที่ 17 ก.พ.ผลปรากฎว่าประชาชนกังวลเรื่องโกงเลือกตั้งและรัฐประหารกว่าเรื่องปากท้องหรือใครเป็นนายกด้วยซ้ำไป

พูดง่ายๆ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาฯ โดยคนมหาศาลเชื่อว่าผู้มีอำนาจจะล้มเลือกตั้งหรือทุจริตด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าผู้มีอำนาจนั้นจะเป็นพลเอกประยุทธ์เอง , เป็นคณะรัฐประหารซึ่งตั้งตัวเองเป็นรัฐมนตรีทุกคน หรือเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่ต่อมาถูกตั้งเป็นเลขาฯ คสช.ก็ตาม

ท่ามกลางความคลางแคลงใจของประชาชนมีต่อผู้มีอำนาจจนมองคนกลุ่มนี้เป็น “เครือข่าย” ซึ่งพร้อมทำทุกอย่างตั้งแต่โกง, ล้มเลือกตั้ง หรือรัฐประหารทำลายผลเลือกตั้งไปเลย ความรู้สึกนึกคิดที่เติบโตคู่ขนานกันไปคือความไม่ไว้ใจ พล.อ.ประยุทธ์ และ “เครือข่าย” ระดับที่ไม่เคยเกิดแก่รัฐบาลช่วงเลือกตั้งชุดใดๆ

ก่อนที่ กปปส.จะขัดขวางการเลือกตั้ง 2557 จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสียงประชาชนกว่า 20 ล้านเป็นโมฆะ สังคมไม่เคยหวาดระแวงว่าพรรคเพื่อไทยจะโกงหรือล้มเลือกตั้งแบบนี้ และเมื่อประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลช่วงเลือกตั้งปี 2554 คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่เคยถูกมองว่าจะโกงหรือทำลายผลการเลือกตั้งเลย

เท่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ พยายามแก้ตัวว่ารัฐบาลไหนๆ ก็ถูกประชาชนหวาดระแวงเหมือนกัน แต่กระทั่งรัฐบาลอดีตนายกทักษิณช่วงก่อนถูก พล.อ.สนธิ รัฐประหารในปี 2549 ก็ไม่เคยถูกมองว่าจะโกงเลือกตั้งแบบนี้ และแม้แต่รัฐบาลจากการรัฐประหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ไม่มีใครมองแบบนี้เหมือนกัน

นอกจากความหวาดระแวงเรื่องโกงเลือกตั้งโดยคุณประยุทธ์และ “เครือข่าย” จะรุนแรงจนเกิดผลดุสิตโพลอย่างที่เห็นติดต่อกันสองเดือน ความหวาดระแวงนี้ยังไม่เคยเกิดในรัฐบาลอื่นๆ ถึงขั้นที่สื่อเริ่มเทียบเทียบการเลือกตั้งปีนี้กับการเลือกตั้งปี 2500 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ “โคตรโกง” ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนเห็นตรงกันหมดว่าใครควรเป็นนายกหรือรัฐบาล การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกให้ทุกฝ่ายตกลงว่าอะไรคือข้อยุติของเรื่องที่เห็นต่างกันทั้งหมด สังคมสันติจึงจะบังเกิดได้ก็แต่ในเงื่อนไขที่การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมอย่างยิ่งยวด หาไม่การเลือกตั้งก็จะเป็นชนวนใหม่ของความขัดแย้งในสังคม

โดยประสบการณ์ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา การเลือกตั้งมีส่วนสำคัญในการยุติความขัดแย้งเรื่องนายก, รัฐบาล หรือแม้แต่นโยบายสาธารณะด้านต่างๆ เสียงประชาชนที่แสดงออกในวันเลือกตั้งจึงเป็นเสมือนการ Reset ประเทศไปด้วย อย่างน้อยก็จนกว่าความเห็นต่างรอบใหม่จะปะทุจนมีเลือกตั้งใหม่อีกที

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ตอนนี้ สังคมไทยหลังเดือนมีนาคมไม่ใช่สังคมที่เดินหน้าสู่สภาวะสันติแน่ๆ เพราะความระแวงพลเอกประยุทธ์และ “เครือข่าย” ได้ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งขึ้นแล้ว และหากวันเลือกตั้งมีอะไรผิดปกตินิดเดียว ความไม่ยอมรับผลเลือกตั้งจะเกิดขึ้นทันที

ภายใต้ความไม่ไว้ใจพลเอกประยุทธ์และ “เครือข่าย” จนประเด็นว่าจะมีเลือกตั้งวันที่ 24 หรือไม่เป็นเรื่องพูดคุยในชีวิตประจำวัน สิ่งที่อยู่ใต้ความไม่ไว้ใจนี้คือกระแสสำนึกว่าพลเอกประยุทธ์มีพฤติกรรมแสวงหาอำนาจโดยเอาเปรียบฝ่ายอื่นอย่างที่สุด จะโดยใช้อำนาจรัฐตรงๆ หรือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือก็ตาม

ไม่ว่าจะอวย คสช.เพียงไร การที่พล.อ.ประยุทธ์มีตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร, นายกฯ ที่สั่งข้าราชการหรือใช้งบได้ตามใจชอบ, ผู้อำนวยการสร้างรัฐธรรมนูญ, แคทดิเดทนายกพลังประชารัฐ, คนตั้งวุฒิสมาชิกไปเลือกนายก ฯลฯ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ใช้ตำแหน่งตอนนี้เพื่อแสวงหาอำนาจในอนาคตได้ตลอดเวลา

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกที่ใช้อำนาจรัฐเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเองได้เพียงคนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกคนเดียวที่ใช้กฎหมายเอาเปรียบคู่แข่งคนอื่นแทบทั้งหมด ตัวอย่างเช่นการห้ามทุกพรรคทำกิจกรรมจนคุณอภิสิทธิ์, คุณหญิงสุดารัตน์ ฯลฯ เพิ่งจะทำงานการเมืองเต็มที่หลังคำสั่ง “ปลดล๊อค” เดือนธันวาคม

เพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้ง 2562 ช่วยสร้างสังคมสันติด้วยวิธี Reset ประเทศอย่างที่เคยเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศลดความหวาดระแวงเรื่องการเอาเปรียบทุกฝ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำให้สังคมเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนอย่างที่ผ่านมา

ด้วยพฤติกรรมของพล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นมาตั้งแต่ตั้งตัวเองเป็นนายก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คนแบบที่จะลาออกจากหัวหน้า คสช.เพื่อละทิ้งอำนาจตาม ม.44 อย่างที่สังคมเรียกร้องแน่ๆ เช่นเดียวกับการบังคับให้ทีวีทุกช่องถ่ายทอดรายการโฆษณา คสช.หลัง 18.00 น.ซึ่งไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมยกเลิกแต่โดยดี

หนึ่งในเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเริ่มทำคือการเสนอตัวให้ประชาชนเลือกเหมือนคนอื่นให้มากที่สุด ภาพคุณหญิงสุดารัตน์, คุณอภิสิทธิ์, คุณธนาธร, คุณชัชชาติ ฯลฯ ลงพื้นที่หาเสียงนั้นน่านับถือเมื่อเทียบกับภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเครื่องบิน C-130 ด้วยงบหลวงไปกวนกาละแม, โล้ชิงช้า, ชิมลองกอง ฯลฯ แล้วอ้างว่าปฏิบัติราชการ

ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะหยุดพฤติกรรมแบบนี้ได้หรือไม่ และภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าใครก็กดดันให้พล.อ.ประยุทธ์ ทำเรื่องที่ควรทำไม่ได้ด้วย แต่พฤติกรรมที่แสดงอภิสิทธิ์เหนือผู้ชิงตำแหน่งนายกคนอื่นๆ มีผลแน่กับความรู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมและการไม่ยอมรับผลเลือกตั้งในระยะยาว

การแสดงวิสัยทัศน์เป็นอีกเรื่องที่สังคมเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรทำอย่างผู้ชิงตำแหน่งนายกจากพรรคอื่นๆ เพราะนายกคือคนบริหารเงินภาษีจากประชาชนปีละ 2-3 ล้านล้านบาท รวมทั้งมีอำนาจออกกฎหมายบังคับใช้กับคนทั้งหมด ประชาชนจึงมีสิทธิรู้ว่าผู้ชิงตำแหน่งนายกคนไหนจะทำอะไรกับประเทศไทย

ขณะที่ผู้ชิงตำแหน่งนายกทุกคนแสดงวิสัยทัศน์ให้ประชาชนรู้ว่าจะทำอะไรเรื่องบัตรทอง, งบทหาร, คมนาคม, เศรษฐกิจนวัตกรรม, กระจายรายได้ ฯลฯ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยบอกประชาชนว่าคิดอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ นั่นเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเดียวที่จะใช้อำนาจเหมือนเช็คเปล่าที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจ

เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 2562 โดยนายกคนปัจจุบันซึ่งอยากเป็นนายกต่อไปอีกด้วยกติกาที่เอารัดเอาเปรียบต่างๆ ไม่ยอมแม้แต่จะประกาศวิสัยทัศน์ให้ประชาชนรู้ว่าจะบริหารงบประมาณปีละหลายล้านล้านอย่างไร, ใครจะเป็นรัฐมนตรี, ซื้อเรือดำน้ำอีกกี่ลำ หรือเมื่อไรจะขึ้นค่าแรง?

ภายใต้กติการเลือกตั้งและสภาพที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้คือผู้ชิงตำแหน่งนายกทุกคนแข่งกันเสนอนโยบายให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ทุกพรรคแข่งกันอย่างเสมอภาคเพื่อให้เจ้าของประเทศเลือกในวันที่ 24 มีนาฯ ส่วนผู้ชิงนายกจากพลังประชารัฐไม่แคร์แม้แต่จะเสนอนโยบายให้ประชาชน

จริงอยู่ว่าพลังประชารัฐอาจอ้างว่าพรรคแสดงวิสัยทัศน์หลายเรื่องต่อประชาชน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่สมาชิกพรรค นโยบายพรรคจึงไม่มีผลผูกพันกับพล.อ.ประยุทธ์ การแสดงวิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นกลไกเดียวที่จะกำกับให้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดและรับปากว่าจะทำอะไรเมื่อมีอำนาจอีกที

แฟ้มภาพ

ประเทศไทยหลังรัฐประหาร 2557 กดบังคับให้คนส่วนใหญ่ยอมจำนนต่อสภาพที่พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนราว 15 ล้านล้านบาท โดยจัดสรรให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ตามใจชอบ แต่วิธีบริหารประเทศแบบนี้ผิดปกติ และการเลือกตั้งปี 2562 ไม่ควรเป็นแค่ช่องทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดการปกครองตามอำเภอใจต่อไป

อนึ่ง คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องไม่ดีเบทเพราะพูดมาตลอดห้าปีคือคำกล่าวที่น่าละอาย เพราะการพูดสไตล์น้ำท่วมทุ่งที่ปราศจากแก่นสารนั้นไม่ใช่วิสัยทัศน์ และการป่าวประกาศว่าวิสัยทัศน์ตัวเองคือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แสดงให้เห็นความไม่รู้เรื่องว่า “คำขวัญ” ต่างจาก “วิสัยทัศน์” ราวฟ้ากับดิน