หนุ่มเมืองจันท์ | เพนกวิน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมจัดชั้นหนังสือ เจอหนังสือเก่าเรื่อง The Last Lecture ที่เคยเป็นหนังสือขายดีเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน

ในเล่มมีรอยพับ รอยขีดของผมเต็มเล่ม

แบบนี้แสดงว่า “หนังสือดี”

หยิบมาพลิกอ่านอีกครั้งก็ได้ความรู้สึกดีเช่นเดิม

เผลอแป๊บเดียวจบเล่มเลยครับ

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของ “แรนดี้ เพาช์” ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน

เขาเป็นโรคมะเร็งในตับอ่อนระยะสุดท้าย

หมอบอกว่าเขาจะมีชีวิตในโลกนี้อีกไม่นาน

“เพาช์” มีภรรยาและลูกเล็กๆ อีก 3 คน

เขาเลือกที่จะเผชิญหน้ากับ “ความตาย” อย่างมีความสุข

จัดการทุกอย่างแบบไม่ตีโพยตีพาย

และหนึ่งในภารกิจสุดท้ายที่ “เพาช์” เลือกคือ การบรรยาย

มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะมีการบรรยายหัวข้อหนึ่งชื่อว่า The Last Lecture

ศาสตราจารย์ทุกคนจะได้รับเชิญมาปาฐกถาโดยขอให้ครุ่นคิดถึงเรื่องความตายของตัวเอง

อะไรที่สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญที่สุด หรือมีคุณค่าที่สุดในชีวิต

คนอื่นอาจจะต้องจินตนาการ

แต่ “แรนดี้ เพาช์” ไม่ต้อง

เพราะเขากำลังจะตายจริงๆ

เวลาที่เหลือในโลกอันน้อยนิด เขาเลือกที่จะแบ่งปันมาใช้กับการเตรียมตัวปาฐกถาครั้งนี้

“เจ” ภรรยาของเขาไม่เห็นด้วย

เธอต้องการเวลาทั้งหมดที่เหลืออยู่ของ “เพาช์” ให้อยู่กับเธอและลูกๆ

แต่เขาไม่ยอม

“เพาช์” ขอร้อง “เจ” ด้วย 2 เหตุผล

เหตุผลหนึ่ง คือเมื่อสิงโตบาดเจ็บ มันก็ยังอยากคำราม

สนามของเขาคือการบรรยายให้นักศึกษาฟัง

แต่เหตุผลที่สำคัญกว่า คือลูกยังเล็กอยู่ ทุกคนจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับ “พ่อ” เลย

การบรรยายครั้งนี้ เขาตั้งใจบรรยายให้ลูกฟังตอนโต

จะได้รู้ว่าพ่อเป็นใคร เป็นคนแบบไหน มองโลกอย่างไร

เขาอาจจะตั้งกล้องอัดคลิปเก็บไว้ก็ได้

แต่ “เนื้อหา” คงไม่น่าเชื่อถือเท่ากับการบรรยายที่มีคนปรบมือ หรือหัวเราะในสิ่งที่พ่อพูด

เขาตั้งชื่อหัวข้อการบรรยายครั้งสุดท้ายของชีวิต

“ทำความฝันวัยเด็กของคุณให้เป็นจริงได้อย่างไร”

เรื่องราวที่เขาบรรยายไม่เศร้าเลย

สนุกและเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน

มี “คำสอน” มากมายแบบอาจารย์ที่เก่งทั้งความรู้และวิธีการสอน

หัวข้อหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ “คุณจะใช้ชีวิตของคุณอย่างไร”

“เพาช์” บอกว่า “ประสบการณ์” คือสิ่งที่คุณได้รับเมื่อคุณไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ

ในชีวิตของเรา ไม่มีใครชนะทุกครั้ง

ไม่มีใครได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการทุกครั้ง

ทุกคนเคยล้มเหลว

ทุกคนเคยพ่ายแพ้

แต่ทุกครั้งที่ล้มเหลว ไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ

สิ่งหนึ่งที่คุณได้รับเสมอ คือ “ประสบการณ์”

“ประสบการณ์” เรียนรู้ในตำราไม่ได้

ต้องลงเล่นในสนามจริงเท่านั้น

“เพาช์” ได้หลักคิดนี้จากช่วงที่เขาลาสอนไปทำงานที่บริษัทผลิตวิดีโอเกมแห่งหนึ่ง

“ความล้มเหลวไม่ใช่เป็นแค่สิ่งที่ควรยอมรับ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเผชิญ”

เขาบอกว่า ทุกครั้งที่วิ่งปะทะกำแพง หรือชนกับความผิดหวังต้องเผชิญกับมันให้ได้

เมื่อกลับมาสอนวิชา “การสร้างโลกเสมือนจริง” เขาสนับสนุนให้นักศึกษาลองทำสิ่งที่ยากๆ โดยไม่ต้องกังวลกับ “ความล้มเหลว”

ปลายภาคเรียน “เพาช์” เตรียมตุ๊กตานกเพนกวิน 1 ตัวเป็นรางวัล

ตั้งชื่อรางวัลว่า “นกเพนกวินตัวแรก”

ผู้ชนะ คือกลุ่มที่กล้าเสี่ยงกับความคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ

แต่ล้มเหลว

รางวัลนี้จึงมอบให้กับ “การล้มเหลวที่สง่างาม”

“เพาช์” เชื่อว่าผู้ที่ได้รางวัลแม้จะล้มเหลวในวันนี้

แต่เขาจะประสบความสำเร็จในอนาคต

ชื่อของรางวัลมาจากเรื่องราวของนกเพนกวินที่จะกระโดดลงไปในน้ำทั้งที่ในน้ำอาจมีสัตว์ที่เป็นอันตรายรอกินเขาอยู่

แม้จะรู้ว่าอันตราย แต่ก็จะมีนกเพนกวินตัวแรกกระโดดลงน้ำเสมอ

เขาสรุปซ้ำอีกครั้งว่า “ประสบการณ์” เป็นสิ่งที่คุณได้รับเมื่อคุณไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ

และ “ประสบการณ์” จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด

“เมื่อคุณแบ่งปันให้กับผู้อื่น”

“แรนดี้ เพาช์” มีคำ 2 คำที่เป็น “หลักคิด” ประจำตัว

“เพาช์” ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ถาวรเร็วกว่าคนอื่น

เมื่อมีคนถามเคล็ดลับของเขา

“เพาช์” พูดเล่นๆ ว่าเรื่องนี้ง่ายมาก ให้โทร.มาหาเขาคืนวันศุกร์ไหนก็ได้ตอนสี่ทุ่ม

“แล้วผมจะบอกคุณ”

ครับ เขากำลังบอกว่าเขาทำงานหนักกว่าคนอื่น

วันศุกร์ที่คนอื่นไปเที่ยว

4 ทุ่มเขายังทำงานอยู่เลย

“เพาช์” บอกว่าคนทั่วไปชอบ “ทางลัด”

“แต่ผมพบว่าเส้นทางลัดที่ดีที่สุด คือเส้นทางที่ยาวไกล”

คำง่ายๆ ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมี 3 พยางค์

“ทำงานหนัก”

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน

ทุกปีจะมีใบสมัครเยอะมาก

มีเด็กสาวคนหนึ่ง แม้จะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่เกรด คะแนนสอบ และแฟ้มผลงานของเธอไม่ดีพอที่จะผ่านเกณฑ์

“เพาช์” พลิกดูแฟ้มของเธอครั้งสุดท้ายก่อนจะโยนเข้ากอง “ไม่ผ่าน”

ในแฟ้มมีการ์ดขอบคุณใบหนึ่งเขียนด้วยลายมือของเธอ

ไม่ได้ขอบคุณเขา หรือผู้บริหารคนใด

แต่เขียนขอบคุณเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ช่วยนัดหมายให้เธอตอนมาดูมหาวิทยาลัย

เป็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจในการคัดเลือก

บังเอิญการ์ดใบนี้อยู่ในแฟ้ม

“เพาช์” บอกกับกรรมการว่าการ์ดใบนี้บอกความเป็นตัวเธอมากกว่าเอกสารทั้งหมดในแฟ้ม

เด็กคนนี้น่าจะได้ “โอกาส”

กรรมการทุกคนเห็นด้วย

“เพาช์” บอกว่า คำ “ขอบคุณ” เป็นคำง่ายๆ ที่ทรงพลังที่สุดที่มนุษย์พึงให้แก่กัน

ครับ ขอบคุณ “แรนดี้ เพาช์”

สำหรับ The Last Lecture ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

แต่เขาคงไม่ได้ยิน

เพราะ 9 เดือนหลังการบรรยายครั้งนี้

“แรนดี้ เพาช์” เสียชีวิต