อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : เมื่อกุมภาพันธ์เปลี่ยนไป

เช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ฉันตื่นตีห้าครึ่ง อุณหภูมิ 12 องศาถือว่าหนาว แต่สำหรับฉัน คือหนาวสุดหนาว การแต่งตัวของฉันเหมือนไส้อั่ว มีอะไรก็พอกๆ เข้าไปให้อุ่น ไม่ต้องสวย เน้นไม่ป่วย ไม่ตาย ใส่ทั้งหมวก ทั้งถุงเท้า ใครจะว่าเว่อร์วังก็ช่าง ฉันต้องสวมเสื้อผ้าให้พอ ประมาทกับความหนาวไม่ได้เด็ดขาด

ราว 06.30 น. ฟ้าสีดำก็คลี่แสงแรก…ฉันรู้สึกถึงชีวิต

สูดลมหายใจเข้ายาว ไม่ใช่ทุกวันที่จะตื่นเช้า การลุกจากที่นอนตอนตีห้าคือการต่อสู้กับตัวเอง หากชนะ ฉันจะได้รางวัลเป็นแสงแรกและอากาศสดชื่น

กุมภาพันธ์ของฉันเปลี่ยนไป

กี่กุมภาพันธ์ที่ฉันต้องตั้งสติ ไม่เผลอแช่ใจในความอาวรณ์ ฉันพยายามหนี ไม่คิดถึง ไม่ตั้งคำถาม พยุงความสูญเสียในระดับที่ดูแลตัวเองได้

ความเศร้าจะกลายเป็นของล้ำค่าเมื่อเราผ่านมันมาด้วยตัวเอง

ฉันยืนอยู่ตรงนี้ มองกลับไป ได้ข้อสรุปว่า หากไม่แหลกสลายในสิบกว่าปีก่อนหน้า ฉันย่อมไม่เป็นฉันคนนี้

ไม่รู้ว่าด้วยอะไร และทำเช่นไร ในที่สุดฉันก็ข้ามมันมาได้ แล้วกุมภาพันธ์ก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันกลายเป็นเดือนแห่งการรำลึก

 

เขาเกิดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และจากไปในวันที่ 13 กุมภาพันธ์-วันพระใหญ่ของปี 2549

เราเป็นไข้หวัดใหญ่ไล่เลี่ยกัน เป็นหนักพอกัน อาศัยในบ้านหลังเดียวกัน ฉันสร่างไข้ แต่ไข้หวัดใหญ่พาเขาจากไป-ไม่หวนคืน

เมื่อกุมภาพันธ์เวียนมาถึง ฉันคล้ายจะขาดใจ

อย่างกับว่าเขาจากไปวันนี้ เดี๋ยวนี้

เสียงลมหายใจสุดท้าย-ยังดังก้องในหู

กี่ครั้งกันนะ ที่ฉันตั้งคำถาม-เหตุผลใด หรือใคร ที่เลือกให้ฉันอยู่ กี่ครั้ง-ที่ฉันโยนความโกรธลงในความเศร้า ตะคอกคำหยาบใส่โชคชะตา

ดูฉันในวันนี้สิ หน้าเปลือย ใส่เสื้อกันหนาวสามชั้น ยืนมองขอบฟ้าสีแดง

ฉันไม่ต้องการคำตอบ

กุมภาพันธ์ทำอะไรฉันไม่ได้อีก รวมทั้งรูปถ่ายของเขา งานของเขา เรื่องเล่าขาน (จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง) ของเขา การมีคนพูดถึง หรือไม่พูดถึงเขา

มันหมายรวมความตายของเขาด้วย

ความตายซึ่งเคยเป็นเงาดำขวางทางฉันอยู่ บัดนี้มันหายไป เหลือเพียงเขา ชายผู้มีอีกชีวิตในร่างฉัน

พ้นเสียจากความอาลัยอาวรณ์ ฉันได้เขากลับมา ไม่ใช่ในแบบที่มีเลือดเนื้อ แต่เป็นเขาซึ่งอยู่เหนือกาลเวลา

มีเหตุผลมากมายที่จะอยู่ มือของฉันเขียนนิยายได้ ขุดดินได้ ปลูกต้นไม้ได้ จัดบ้านได้ ล้างส้วมก็ได้ ผสมปูนก็ได้ และฉันทำอาหารได้

ฉันชอบทำอาหาร ฉันจึงตื่นแต่เช้า ทำอาหารให้แขกกิน

นี่อาจเป็นเหตุผลของการเปิดบ้านให้คนพัก ฉันได้ทำอาหารเพื่อคนอื่น

อาหารเป็นงานที่เห็นผลสำเร็จทันที ทำแล้วยกไปเสิร์ฟ ถ้าคนกินบอกว่าอร่อย หัวใจก็ฟูคับอก

 

Dimlama คือสตูผักแบบเอเชียกลาง ฉันชอบทำในฤดูหนาว เพราะฤดูหนาวผักอร่อย ถือเป็นของขวัญจากฤดูกาล เราควรอ้าแขนรับไว้อย่างปรีดา

ใช้ทั้งกะหล่ำ แคร์รอต มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ และพริกระฆัง ทุกชนิดหั่นชิ้นใหญ่

ฉันใช้กะหล่ำ 1 หัว แคร์รอต 2 หัว มันฝรั่ง 3 หัว หอมหัวใหญ่ 3 หัว มะเขือเทศ 4 ลูก พริกระฆัง 2 ลูก หั่นเตรียมไว้ในถาด

สำหรับกะหล่ำ นอกจากหั่น ฉันคลี่มันออกด้วย

อาหารเอเชียกลางมีความโดดเด่นที่เครื่องเทศ ใช้ทั้งยี่หร่า เม็ดผักชี ปาปริก้า พริกไทยดำ และใบกระวาน

ตำยี่หร่ากับเม็ดผักชีรอไว้ ปาปริก้ามาเป็นผง ส่วนพริกไทยดำ ฉันใช้แบบเม็ดมาบดหยาบๆ

ใช้ไก่หรือเนื้อวัวก็ได้ แต่ควรเป็นส่วนที่ติดกระดูก และมีไขมันแทรกพองาม โดยสับเป็นชิ้นใหญ่สักหน่อย

ปรุงในหม้อก้นหนาใบใหญ่ ใส่น้ำมันพอเคลือบหม้อ ใช้ไฟกลาง รอน้ำมันร้อน จึงวางไก่ในหม้อ โดยเอาด้านที่มีหนังลง ย่างจนหนังไก่สีสวย ค่อยใส่หอมหัวใหญ่และเครื่องเทศที่เตรียมไว้อย่างละนิดละหน่อย ผัดให้เข้ากัน

ตอนนี้ล่ะ กลิ่นเครื่องเทศจะคลุ้งไปทั้งครัว นำทีมโดยยี่หร่า

เบาไฟเป็นไฟอ่อน แล้วใส่ผักทีละชนิด โดยเริ่มจากผักที่สุกยากคือแคร์รอต ตามด้วยมันฝรั่ง พริกระฆัง มะเขือเทศ ไม่ลืมโรยเครื่องเทศกับเกลือด้วย ให้กะหล่ำอยู่ด้านบนสุด

ก่อนปิดฝาหม้อ ฉันเติมน้ำหนึ่งถ้วยตวง วางใบกระวานสองใบ ผักชีลาวสี่ช่อ

เราจำต้องวางใจในไฟอ่อน ฝากอาหารไว้บนเตาจนกว่าจะครบ 45 นาที

 

เปิดฝาหม้อ จะเห็นผักยุบลงเกินครึ่ง ทั้งยังส่งน้ำสีสวยออกมา ถ้าไฟอ่อนไป ผักยังไม่นิ่มพอ ก็ปิดฝา แล้วเคี่ยวต่อราว 15 นาที

ใช้เครื่องปรุงรสชนิดเดียวคือเกลือ แต่ Dimlama ซับซ้อนด้วยเครื่องเทศ แถมสีซุปก็สวยเพราะปาปริก้า อีกทั้งผักหลายชนิดที่เราเคี่ยวจนได้ที่ก็ส่งรสออกมา รวมเป็นความกลมเกลี้ยงในหม้อเดียว

ขณะวางช่อผักชีลาวบนถ้วยซุป ฉันนึกถึงยาย

ยายตื่นก่อนตะวันทุกเช้า ยายคงรู้สึกคล้ายฉันตอนนี้ วันเริ่มต้นแล้ว ด้วยการเสิร์ฟอาหารอร่อยๆ อาหารที่คัดสรรวัตถุดิบอย่างดี ปรุงอย่างตั้งใจ

แน่นอน-เสิร์ฟด้วยความเชื่อมั่น และเก็บถ้วยว่างเปล่ากลับมาพร้อมรอยยิ้ม

อา…ฉันมีความสุขในเดือนกุมภาพันธ์