เกษียร เตชะพีระ | เผด็จการคอร์รัปชั่นหนักกว่าประชาธิปไตยเว้ยเฮ้ย!

เกษียร เตชะพีระ

เมื่อวันรัฐธรรมนูญ 5 ปีก่อน (10 ธันวาคม พ.ศ.2556) คณาจารย์กลุ่มหนึ่งจากหลายมหาวิทยาลัยรวมทั้งผมได้จัดประชุมแสดงจุดยืนคัดค้านข้อเรียกร้องที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งของ กปปส. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่ประชุมมีมติก่อตั้ง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ขึ้นเป็นองค์กรเฉพาะกิจเพื่อดำเนินกิจกรรมสืบเนื่องต่อไป

ช่วงหนึ่ง คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวชื่อดังได้ตั้งคำถามต่อเวทีอภิปรายว่า “ทางผู้ชุมนุมฝ่ายของคุณสุเทพได้ถามว่าทางนี้ทำไมไม่พูดถึงเรื่อง abuse of power เรื่องคอร์รัปชั่นเลย จะตอบยังไงครับ?”

ผมได้ตอบไปว่า : “ปัญหานี้มีอยู่จริง แล้วผมคิดว่ามีคนไทยจำนวนมากรวมทั้งผู้ที่ไปร่วมชุมนุมคิดว่านี่เป็นปัญหาหลักของเขา และการที่เขาออกมาเดินขบวนแทบจะยึดกรุงเทพฯ ทั้งหมด แล้วไม่คิดว่าการเลือกตั้งเป็นคำตอบของเขานี่ เพราะเขารู้สึกว่าเขาไปเลือกตั้งทีไรเขาแพ้ทุกทีเพราะเขาเป็นเสียงข้างน้อย การเลือกตั้งทุกครั้งเท่ากับไปพิสูจน์ว่าเขาไม่มีอำนาจ ว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยในสิ่งที่เป็นปัญหา

“ผมรู้สึกอย่างนี้นะครับ ปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริง ทั้งกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ พรรคการเมืองและกระบวนการใช้อำนาจ ปัญหาหลักใหญ่ที่สุดของพรรคการเมืองไทยคืออำนาจทุนอยู่เหนืออำนาจมวลชนและอำนาจสมาชิกพรรค และไม่เคยมีกลไกกระบวนการที่จะจำกัดอำนาจทุนที่ครอบงำพรรคการเมืองอยู่ ไม่เคยมีใคร address เรื่องนี้

“เรื่องนี้เป็นปัญหาของประชาธิปไตยที่อื่นด้วย และในที่สุดเราต้องติดตั้งกลไกกระบวนการต่างๆ ที่จะจำกัดอำนาจนายเงินนายทุนลง ไม่ให้เข้าไปซื้อพรรคหรือคุมพรรคทั้งหมด กระบวนการนี้ไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน และที่สำคัญกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้และมั่นคงได้ต้องช่วยกันทำในกรอบประชาธิปไตย ไม่ใช่หวังว่าจะมีเทวดาจากไหนลงมา ติดปืน ยึดอำนาจแล้วสร้างให้คุณ มันไม่มี”

“ผมเข้าใจว่าอยากให้ปัญหาอันตรายเลวร้ายเหล่านี้หมดไปในเร็ววัน ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีปัญหาคอร์รัปชั่น ต่อให้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดก็ตาม แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใช้ประชาธิปไตยจำกัดคอร์รัปชั่นลง ไม่ใช่โดยการทำลายประชาธิปไตยเพื่อจะหยุดคอร์รัปชั่นบางอย่าง แล้วปล่อยให้คอร์รัปชั่นบางอย่างเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่มีเครื่องมือตรวจสอบ

“คุณสุเทพต้องการหยุดคอร์รัปชั่นของทักษิณกับพรรคพวกถ้ามี คุณสุเทพต้องการหยุดคอร์รัปชั่นของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลถ้ามี คำถามคือ โดยผ่านการมอบอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ให้คุณสุเทพน่ะหรือ? แล้วถ้าคุณสุเทพคอร์รัปชั่นล่ะ? แล้วถ้าคุณสุเทพกับพรรคประชาธิปัตย์คอร์รัปชั่นล่ะ? แล้วถ้าคุณสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์กับกองทัพคอร์รัปชั่นล่ะ ประชาชนไทยจะมีเครื่องมืออะไรไปตรวจสอบคุณสุเทพเพราะคุณสุเทพรวบอำนาจไว้หมดแล้ว?

“แล้วอย่าคิดว่าคนไทยนอกกรุงเทพฯ ออกไป นอกเมืองออกไป เขาไม่ได้แบ่งแยกระหว่างนักการเมืองดีเลว เขาไม่ได้แบ่งแยกระหว่างคอร์รัปชั่นไม่คอร์รัปชั่น เขาแบ่งแยกครับ ผมมีนักศึกษาเพิ่งจะไปทำวิทยานิพนธ์สัมภาษณ์ชาวบ้านในเขตภาคอีสานมา เขารู้ว่านักการเมืองคนไหนเลวหรือดี เขารู้ว่านักการเมืองคนไหนคอร์รัปชั่นไม่คอร์รัปชั่น เพียงแต่เขานิยามไม่เหมือนเรา และถ้าเขาคิดว่านักการเมืองคนนี้เลวและคอร์รัปชั่น เขาไม่เลือก การที่เขาคิดไม่เหมือนเราไม่ได้แปลว่าเขามีความเป็นคนและความเป็นคนไทยน้อยกว่าเรา ถ้าอันนี้เราไม่รับ ไม่มีทางที่บ้านเมืองจะออกอย่างสันติได้

“เราต้องการไหมกลไกที่จะหยุดทรราชของเสียงข้างมาก หยุดการฉวยใช้อำนาจของเสียงข้างมาก? เราต้องการ แต่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง แล้วเชื่อผม เราทำได้

“ถ้ากฎหมายเฮงซวยแบบนี้มันออกมา ไม่ต้องไปเดินขบวน ไม่ต้องไปยึดอำนาจ ไม่ต้องไปยึดสถานที่ราชการ ลงประชามติเลยว่ากฎหมายเฮงซวยแบบนี้ กูไม่เอา บ้านเมืองไม่เสียหาย ไม่ต้องเสี่ยงกับอนาธิปไตย ไม่ต้องมีใครตายฟรีแม้แต่คนเดียว” (https://www.youtube.com/watch?v=WKuVz4__w8o)

ผมนึกถึงการถามตอบครั้งนั้นขึ้นมาเพราะใกล้เลือกตั้งแล้วและเผอิญได้ไปอ่านค้นเอกสาร Corruption Perception Index 2018 (ดรรชนีการรับรู้คอร์รัปชั่นประจำปี ค.ศ.2018) ของ Transparency International หรือองค์การโปร่งใสสากล ที่มุ่งต่อต้านคัดค้านคอร์รัปชั่นทั่วโลก แล้วพบข้อสรุปคล้องจองต้องตรงกันอย่างน่าสนใจ

กล่าวคือ องค์การโปร่งใสสากลได้ตรวจวัดเปรียบเทียบระดับคอร์รัปชั่นในการปกครองรูปแบบต่างๆ โดยจัดกลุ่มประเทศทั้งหลายในโลกตามระดับประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นเป็น 4 ประเภทได้แก่ :

– ประชาธิปไตยเต็มใบ (full democracies)

– ประชาธิปไตยบกพร่อง (flawed democracies)

– ระบอบพันทาง (hybrid regimes แสดงเชื้อมูลแนวโน้มอัตตาธิปไตย)

– รัฐอำนาจนิยม (authoritarian states เช่นประเทศไทยใต้ระบอบประยุทธ์@คสช.)

แล้วแสดงผลเป็นแผนภูมิข้างบนด้านซ้าย (อ้างจาก https://www.transparency.org/news/feature/tackling_crisis_of_democracy_promoting_rule_of_law_and_fighting_corruption?fbclid=IwAR1EGQEPRO2cWalK_MuvaxIoIeglcSVFDLrV2smhMkwJk0QIAeBDCC8z0a4) แกนตั้งของแผนภูมิแสดงระดับคอร์รัปชั่นที่สาธารณชนรับรู้ตาม CPI Index 2018 เลข 0 แสดงว่า “คอร์รัปชั่นสูง” และเลข 100 แสดงว่า “สะอาดยิ่ง”

จุดทุกจุดในแผนภูมิแทนตนคะแนนของประเทศหนึ่งๆ ใน CPI Index ส่วนตัวเลขในวงกลมแทนตนคะแนนเฉลี่ยของระบอบการเมืองนั้นๆ ใน CPI Index 2018

เห็นได้ชัดว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเฉลี่ยแล้วคอร์รัปชั่นหนักข้อที่สุด (30) กว่าระบอบอื่น เทียบไม่ได้เลยกับระบอบประชาธิปไตยเต็มใบซึ่งสะอาดมากกว่า (75)

ความข้อนี้ยังสะท้อนออกในคะแนนการรับรู้คอร์รัปชั่น (36/100) และอันดับของประเทศไทย (99/180 ประเทศ) ใน CPI Index 2018 ซึ่งนับว่าตกต่ำลง (ลูกศรหัวทิ่ม) ดูแผนภูมิขวาบน (www.transparency.org/cpi2018)

องค์การโปร่งใสสากลยังชี้ว่าวิกฤตของประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมทั้งไทยเรานั้น ส่งผลบีบคั้นกดดันความพยายามต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ชะงักลง โดย :

1) ในแง่สถาบันประชาธิปไตย : ทำให้สถาบันประชาธิปไตยทั้งหลายอ่อนแอลง บั่นทอนความพยายามอย่างยั่งยืนใดๆ ที่จะต่อสู้คอร์รัปชั่น

2) ในแง่สิทธิทางการเมือง : สิทธิทางการเมืองเสื่อมถอยลงทั่วไป ส่งผลสมทบให้ระดับการคอร์รัปชั่นสูงขึ้น

3) ในแง่การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่น : ไม่น่าแปลกใจที่การต่อต้านคอร์รัปชั่นไม่ก้าวหน้าไปเพราะขาดทั้งกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นและกลไกบังคับใช้กฎหมาย (https://www.transparency.org/news/feature/asia_pacific_makes_little_to_no_progress_on_anti_corruption?fbclid=IwAR2YkCiiFcLT866S8LjFd4TowxndqvnNEAektMVdDzuamO_4dRRyRYjLU0I)

กล่าวโดยทั่วไปองค์การโปร่งใสสากลเสนอแนะมาตรการหลัก 4 อย่างเพื่อยุติการคอร์รัปชั่น ได้แก่ :

1) สร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันและรักษาระบบตรวจสอบถ่วงดุลไว้

2) ปิดช่องว่างในการดำเนินงานระหว่างการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่น การปฏิบัติ และการบังคับใช้

3) เพิ่มอำนาจให้ประชาชนกล้าพูดออกมาและทำให้รัฐบาลพร้อมรับผิด (ถึงตรงนี้อดคิดถึงกรณีจ่านิวกับอุทยานราชภักดิ์ คุณเอกชัย หงส์กังวานกับนาฬิกายืมเพื่อนไม่ได้ เฮ้อ…)

4) ปกป้องเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวต้องกลัวประสบภัยถึงชีวิตเมื่อตนรายงานข่าวคอร์รัปชั่น (https://www.transparency.org/?/fea?/cpi_2018_global_analysis)

จะเห็นได้ว่า 3 ข้อด้านบนคืออาการของระบอบการเมืองไทยภายใต้ คสช. ส่วน 4 ข้อด้านล่าง คือสิ่งที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ทำล้มเหลวและทำตรงข้ามกันเรื่อยมา

กว่า 5 ปีผ่านไป สังคมไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้อะไรเป็นบทเรียนบ้างหรือไม่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา?