ต่างประเทศอินโดจีน : ประวัติศาสตร์กับผู้จารึก

ผู้เขียนประวัติศาสตร์กับตัวประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง อารมณ์ ความรู้สึก ภยาคติ ฉันทาคติ โมหาคติ โทสาคติ สามารถแทรกซึมเป็นส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์อยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ในทางวิชาการจึงเกิดกระบวนการ “ชำระ” ประวัติศาสตร์ขึ้น นำเอาหลักฐาน ข้อเท็จจริงเท่าที่สามารถสรรหามาประมวลเข้าด้วยกัน เพื่อลดอคติทั้ง 4 ลงให้หลงเหลือน้อยที่สุด

ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย คือประวัติศาสตร์ใหม่หมาดที่เต็มไปด้วยอคติทั้งปวงมากที่สุด

ซึ่งไม่แน่นักว่าจะเป็นจริงตามนั้น แต่ก็บ่อยครั้งที่ประวัติศาสตร์หมาดๆ ก่อให้เกิดการถกเถียงกันขนานใหญ่ขึ้น

เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงปี 1970-1975 ที่กลายเป็นประเด็นเถียงกันขนานใหญ่ในเวลานี้ว่า ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ใครกันแน่คือผู้ก่อเหตุอันเป็นที่มาให้เกิดสถานการณ์นองเลือด ฆ่าหมู่ประชาชน 1.7 ล้านคนอย่างเลือดเย็นใน “ทุ่งสังหาร” อันลือลั่น

วิวาทะดังกล่าวเริ่มต้นบนหน้าเฟซบุ๊กของสถานทูตอเมริกาในกัมพูชาเมื่อ 30 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อมีโพสต์ที่มีเนื้อหาทวนความประวัติศาสตร์ยุคดังกล่าว

ตอนหนึ่งระบุเอาไว้ถึงการเติบใหญ่ของเขมรแดง แล้วบอกสาเหตุเอาไว้ว่า เหตุที่ไม่มีใครใส่ใจเขมรแดงนั้น “ขึ้นอยู่กับมหาอำนาจชาติหนึ่ง”

ไม่ต้องระบุชื่อให้ชัดเจนออกมา ใครอ่านก็ต้องรู้นัยว่า หมายถึงจีน

 

เพื่อความเข้าใจ ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษดังกล่าวนั้น คือ เกิดการปฏิวัติล้มล้างการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของกษัตริย์นโรดม สีหนุ เมื่อเดือนมีนาคม 1970 ระหว่างเสด็จฯ เยือนมอสโก

สีหนุ เสด็จฯ ลี้ภัยไปประทับ ณ กรุงปักกิ่งอยู่จนถึงปี 1975 เมื่อเขมรแดงกรีธาทัพเข้าพนมเปญ ยึดอำนาจการปกครองได้เบ็ดเสร็จในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น

ทรงรับภาระเป็นประมุข (ในนาม) ของระบอบเขมรแดงอยู่ปีเศษ จนถึงปี 1976 จึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง กลายเป็นเสมือนหนึ่ง “นักโทษ” ในการควบคุมของเขมรแดงเรื่อยมาจนสิ้นยุคอำมหิตในปี 1979 เมื่อถูกโค่นล้มด้วยกำลังทหารที่ได้รับการหนุนหลังจากเวียดนามเหนือ

จากความที่ส่อนัยว่า จีน “เลี้ยงดู” เขมรแดงจนเติบใหญ่ดังกล่าว เฟซบุ๊กของสถานทูตอเมริกายังโพสต์ข้อความต่อเนื่อง ยืนยันอีกว่า สหรัฐอเมริกาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการรัฐประหารในปี 1970

ตรงกันข้ามกับที่มี “หลักฐานมากมาย” ที่แสดงให้เห็นว่า จีนให้การสนับสนุนระบอบเขมรแดงเรื่อยมาทั้งขณะครองอำนาจและหลังจากนั้น

โพสต์หลังนี้เอง ที่ทำให้สถานทูตจีนในกัมพูชา อดรนทนไม่ไหว โพสต์ตอบโต้เอาไว้ในทำนองถากถาง ประชดประเทียดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ มีใจความว่า

“การรัฐประหาร (เมื่อปี 1970) ไม่มีอันใดเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา เพียงเกี่ยวข้องกับซีไอเอ…เท่านั้น”

นายพลลอน นอล ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา เสียชีวิตลงที่นั่น ลอน ฤทธิ์ ผู้เป็นทายาทยืนยันว่า การยึดอำนาจของผู้เป็นพ่อมีความเห็นชอบ “ร่วม” ของทุกฝ่ายที่ไม่อยากให้ “เวียดกง” มีอำนาจเหนือกัมพูชา

หลังจากได้อำนาจ บิดาเคยเชิญเสด็จฯ นิวัตพนมเปญ เพื่อร่วมกันกำจัดอิทธิพลเวียดนามเหนือ แต่ถูกปฏิเสธ

 

เอลิซาเบธ เบ็กเกอร์ นักข่าวสงครามที่ขลุกอยู่ในกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว ระบุว่า ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญนี้ “ซีเรียส” เกินกว่าที่จะหยิบมาเป็นประเด็นโฆษณาชวนเชื่อกัน

เธอสรุปทัศนะส่วนตัวเอาไว้ว่า “ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ต่างก็มือเปื้อนเลือดด้วยกันทั้งนั้น”

เชียง วรรณฤทธิ์ ประธานสถาบันเอเชียวิชั่น (เอวีไอ) องค์กรวิชาการอิสระในพนมเปญ ชี้ว่า สงครามน้ำลายบนหน้าเฟซบุ๊กหนนี้ สะท้อนชัดถึงการแข่งกันแย่งกันมีอิทธิพลในกัมพูชาที่นับวันยิ่งจะเข้มข้นมากขึ้น

“คนชนะ คือผู้เขียนประวัติศาสตร์” เชียง วรรณฤทธิ์ เชื่ออย่างนั้น